xs
xsm
sm
md
lg

เคลียร์ชัดๆ กับ "หมอเปี่ยมลาภ" 1 ในทีมผู้เชี่ยวชาญออกไกด์ไลน์รักษาโควิด ถึงยาน้องใหม่ "แพกซ์โลวิด" เหมาะกับใคร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ยารักษาโควิด 19 ตัวใหม่ "แพกซ์โลวิด" เข้ามาถึงประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 4.5 หมื่นคอร์ส จากทั้งหมดที่สั่งซื้อจากบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ไปจำนวน 5 หมื่นคอร์ส โดยจำนวนที่เหลือจะส่งเข้ามาภายในก่อน เม.ย.นี้ ส่วนยาแพกซ์โลวิดที่เข้ามาแล้วนั้น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้กระจายไปยังโรงพยาบาลศูนย์และโรงเรียนแพทย์ทั่วประเทศ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่อาจมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นช่วงหลังสงกรานต์

สำหรับยาแพกซ์โลวิดเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ประกอบด้วย ยา Nirmatrelvir (150 มก.) 2 เม็ด และยา Ritonavir (100 มก.) 1 เม็ด ซึ่งจะรับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน โดยการรักษา 1 คอร์สจะใช้ Nirmatrelvir 20 เม็ด และ Ritonavir 10 เม็ด รวม 30 เม็ดต่อคน

ทั้งนี้ แนวทางในการใช้ยาแพกซ์โลวิดเป็นอย่างไร ทีมข่าวคุณภาพชีวิตได้สัมภาษณ์ พญ.เปี่ยมลาภ แสงสายัณห์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์ปอด สถาบันโรคทรวงอก หนึ่งในทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมกำหนดแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโควิด 19 สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขเพื่อเคลียร์กันชัดๆ ถึงแนวทางและข้อบ่งใช้ยาแพกซ์โลวิด เพราะยานี้ไม่จำเป็นที่ต้องให้แก่ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ทุกคนเหมือนกับยาต้านไวรัสตัวอื่นๆ ทั้งฟาวิพิราเวียร์ เรมดิซิเวียร์ หรือโลนูพิราเวียร์


พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวว่า ตามแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโควิด 19 สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ฉบับที่ 21 ออกเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 มีการกำหนดถึงข้อบ่งใช้ของยาแพกซ์โลวิดว่า จะให้แก่ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่มีโรคประจำตัวร่วมที่เสี่ยงอาการรุนแรง และมีประวัติการรับวัคซีนโควิดไม่ครบ 3 เข็ม

สาเหตุที่เน้นในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ พญ.เปี่ยมลาภอธิบายว่า เมื่อได้รับวัคซีนแล้ว วัคซีนจะไปกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโควิด ทำให้เชื้อไวรัสเข้าไปจับกับเซลล์ของเราน้อยลง ทำให้การติดเชื้อต่ำลง ส่วนที่ว่าเมื่อฉีดวัคซีนทำไมยังติดเชื้อได้ ก็เพราะแม้เซลล์จะจับกับไวรัสน้อยลง แต่บางส่วนยังจับอยู่ ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ แต่อาการรุนแรงจะลดลง เนื่องจากเมื่อติดเชื้อแล้วร่างกายจะสร้างสารการอักเสบออกมาโต้ตอบ ซึ่งสารอักเสบนี้เป็นตัวทำร้ายปอด ทำให้เกิดปอดอักเสบ แต่เมื่อฉีดวัคซีน โดยเฉพาะ 3 เข็ม จะทำให้การกระตุ้นให้เกิดการอักเสบลดลง และน้อยกว่ากลุ่มไม่ได้ฉีดวัคซีน

"จึงเป็นสาเหตุว่า หากไม่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม เนื่องจากมีความเสี่ยงโดยเฉพาะผู้สุงอายุและมีโรคร่วม ที่มีอัตราการเสียชีวิตเยอะ และควรได้รับยาตัวนี้ตามข้อบ่งชี้ ซึ่งยาต้านไวรัสเราต้องรีบให้ยาเร็วภายใน 5 วันหลังมีอาการ เพราะยาแพกซ์โลวิดจะให้ในกลุ่มที่มีอาการรุนแรงไม่ได้" พญ.เปี่ยมลาภกล่าว


พญ.เปี่ยมลาภกล่าวว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะว่า ตัวไวรัสจะเพิ่มจำนวนมากที่สุดในช่วงเริ่มมีอาการต้นๆ และไวรัสหายไปใน 7-10 วัน ส่วนอาการรุนแรงหรือปอดอักเสบนั้น เกิดจากการที่ร่างกายสร้างสารอักเสบขึ้นมาโต้ตอบกับการที่มีไวรัสเข้ามา ซึ่งภาวะปอดอักเสบจะเกิดหลังจากไวรัสเข้าไปแล้ว 5-10 วันขึ้นไป โดยสารอักเสบเป็นตัวปัญหาให้เกิดการทำลายปอด ดังนั้น ยาฆ่าเชื้อไวรัสจึงต้องเน้นเร็ว อย่างยาฟาวิพิราเวียร์มีประโยชน์ลดอาการไข้สูง เจ็บคอ ซึ่งการให้เร็วจะลดอาการทันที ซึ่งฟาวิพิราเวียร์ต้องให้เร็วภายใน 4 วันหลังมีอาการ

"แต่หากมีปอดอักเสบแล้ว การกินยาต้านไวรัสจึงไม่ได้มีประโยชน์ เพราะเทียบช่วงเวลานั้นไวรัสก็เริ่มลดไปแล้ว ส่วนปอดอักเสบเกิดจากร่างกายเราโต้ตอบกับสารอักเสบ ทำให้เกิดการอักเสบ และปอดอักเสบเพิ่มขึ้นๆ จนรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งเมื่อปอดอักเสบแล้ว ในเรื่องการรักษาจะมีการให้ยาลดการอักเสบตามมาตรฐานการรักษา เป็นไปข้อบ่งชี้การรักษา" พญ.เปี่ยมลาภกล่าว


ส่วนข้อแตกต่างระหว่างยาโมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิดจะเลือกใช้อย่างไรนั้น พญ.เปี่ยมลาภ กล่าวว่า ข้อบ่งชี้เหมือนกัน เป็นแอนตี้ไวรัสต้องให้เร็วภายใน 5 วัน โดยกำหนดเหมือนกันว่า ต้องเป็นกลุ่มเสี่ยง อย่างไม่ได้รับวัคซีน หรือรับไม่ครบโดส โดยเฉพาะกลุ่มอายุมาก โรคประจำตัว และหลายๆปัจจัย แต่บางเคสเป็นผู้ป่วยที่รับประทานยาบางชนิดที่กินร่วมกับยาแพกซ์โลวิดไม่ได้ เนื่องจากเป็นยาซ้ำกันหรือยาที่ออกกระบวนการกลไกคล้ายกัน ทำให้ตับอักเสบได้ก็ต้องระวังเช่นกัน ซึ่งแพทย์จะทราบในเรื่องนี้ ก็ต้องไปทานยาโมลนูพิราเวียร์ แต่หากไม่มีปัญหาการใช้ยาก็อาจเลือกแพกซ์โลวิด ทั้งนี้ ข้อบ่งชี้ในงานวิจัยที่เหมือนกันคือ ทั้งคู่ใช้ในรายที่มีอาการไม่รุนแรง ปอดอักเสบไม่เยอะ คือ ออกซิเจนปลายนิ้วมากกว่า 94

ทั้งนี้ พญ.เปี่ยมลาภระบุว่า จะมีการปรับแนวทางเวชปฏิบัติใหม่เป็นฉบับปรับปรุงที่ 22 ซึ่งจะออกมาในเร็วๆนี้ ซึ่งเรามีการอัปเดตสถานการณ์ องค์ความรู้วิชาการตลอดเวลา เพื่อปรับแนวทางการรักษาให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น