สธ.รับมอบยา “แพกซ์โลวิด” 4.5 หมื่นคอร์ส จากไฟเซอร์ เตรียมตรวจรับ และให้ อภ.กระจายยาทั่วประเทศในสงกรานต์นี้ เน้นใช้ในกลุ่มอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง มีโรคประจำตัวเสี่ยงอาการรุนแรง และไม่ได้ฉีดวัคซีน เริ่มให้เร็วใน 5 วัน ช่วยลดนอน รพ.และเสียชีวิต และจะส่งให้ครบ 5 หมื่นคอร์สใน เม.ย.นี้
เมื่อวันที่ 11 เม.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานพิธีรับมอบยา “แพกซ์โลวิด” จำนวน 4.5 หมื่นคอร์ส จากบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่า ขณะนี้การระบาดของโควิด-19 เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ระบาดง่าย แต่รุนแรงน้อย คนรับวัคซีนแล้ว หากติดเชื้ออาการไม่รุนแรง แต่ปัญหาที่พบ คือ ผู้สูงอายุและโรคประจำตัวจำนวนหนึ่งเสียชีวิตทุกวัน รัฐบาลให้ความสำคัญ พยายามลดการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต หากคณะกรรมการวิชาการทางการแพทย์พิจารณา เห็นว่า ยาไหนที่มีประสิทธิภาพประสิทธิผลลดการเสียชีวิตได้ สธ.ไม่รอช้าที่จะนำจัดหายา และขอมติ ครม.จัดซื้อโดยเร็ว ซึ่งตั้งแต่การระบาดที่ผ่านมาเรามียาและวัคซีน เพื่อให้เกิดความมั่นคงมั่นใจในการป้องกันรักษาโรคโควิด-19 ดูแลครอบคลุมถึงผู้ป่วยทุกสภาพได้ ตั้งแต่ยาฟาวิพิราเวียร์ เรมดิซีเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ และล่าสุดแพกซ์โลวิด ซึ่งจดทะเบียนกับ อย. ว่าเป็นยาเพื่อรักษาโควิด ไม่ใช่ยาต้านไวรัสทั่วไป
“กรมการแพทย์ได้รับมอบยาแพกซ์โลวิดตามข้อตกลงจัดซื้อที่ลงสัญญากับไฟเซอร์เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ใช้เวลาไม่นานก็จัดส่ง ขอบคุณไฟเซอร์ที่รักษาสัญญา ซึ่งขณะนี้ยาอยู่ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) แล้ว จะเป็นผู้จัดเก็บและขนส่งกระจายยาไปทั่วประเทศ ยืนยันว่า บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนทุ่มเทดูแลประชาชนให้ปลอดภัยจากการคุกคามของโควิด และจะทำให้โรคนี้ไปสู่โรคประจำถิ่น” นายอนุทิน กล่าว
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกติดเชื้อโควิดกว่า 400 ล้านคน เสียชีวิต 6 ล้านกว่าคน ประเทศไทยติดเชื้อสะสมมากกว่า 3 ล้านคน เสียชีวิตมากกว่า 2.5 หมื่นคน ยังคงมีการระบาดและเสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประเทศไทยใช้ยาต้านไวรัสหลายชนิดในการรักษาโควิด-19 ล่าสุด จัดซื้อยาแพกซ์โลวิด ซึ่งจากการศึกษาวิจัยในผู้ป่วย 1,379 คน พบว่า ช่วยลดความเสี่ยงการนอน รพ.หรือเสียชีวิตลงได้ 88% เมื่อได้รับยาภายใน 5 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ โดยกลุ่มที่ให้ยาแพกซ์โลวิด มีการนอน รพ. 0.77% และไม่มีผู้เสียชีวิต ส่วนกลุ่มที่ได้ยาหลอก มีผู้ป่วยนอน รพ. 6.31% มีผู้เสียชีวิต 13 คน ยาแพกซ์โลวิดที่ส่งมอบครั้งนี้ จะนำไปใช้รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง เช่น คนอายุมากกว่า 60 ปี มีภาวะอ้วน เป็นเบาหวาน เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคไตเรื้อรัง ภูมิต้านทานร่างกายต่ำ เป็นต้น ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับวัคซีนไม่ครบ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือการรักษาตัวใน รพ. และหวังว่าจะนำพาประเทศไทยให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นตามแผน
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า กรมการแพทย์เริ่มเจรจาจัดซื้อยาแพกซ์โลวิดกับไฟเซอร์ ตั้งแต่ ก.ค. 2564 ตั้งแต่การศึกษาวิจัยยังไม่ออก แต่ต้องรอให้วิจัยจบและขึ้นทะเบียนก่อน ซึ่งไฟเซอร์สรุปผลวิจัยขึ้นทะเบียนใช้ในภาวะฉุกเฉินกับ อย.สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2564 และขึ้นทะเบียน อย.ไทยวันที่ 28 ม.ค. 2565 ซึ่งระหว่างนั้นเจรจามาตลอด มีการร่างสัญญา ลงนามไม่เปิดเผยความลับ สัญญาจอง สัญญาซื้อ หารืออัยการสูงสุด ระเบียบจัดซื้อกรมบัญชีกลาง นำเข้า ครม. อนุมัติให้จัดซื้อได้จำนวน 5 หมื่นคอร์ส 1.5 ล้านเม็ด ทั้งนี้ ยาแพกซ์โลวิดเป็นชนิดเม็ด ยับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส ทำให้เชื้อโควิดไม่สามารถสร้างโปรตีนที่จำเป็นในการเพิ่มจำนวนได้ ยานี้ประกอบด้วย ยา Nirmatrelvir (150 มก.) 2 เม็ด และยา Ritonavir (100 มก.) 1 เม็ด รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน สรุปใช้ Nirmatrelvir 20 เม็ด และ Ritonavir 10 เม็ด รวม 30 เม็ดต่อคน กลุ่มที่ต้องระมัดระวัง คือ สตรีมีครรภ์ ให้นมบุตร ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม ผู้ที่การทำงานของตับหรือไตบกพร่อง รวมถึงผู้ที่ใช้ยาบางชนิดที่อาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน การพิจารณาให้ยาจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา สำหรับวันนี้รับมอบ 4.5 หมื่นคอร์ส โดยที่เหลือจะเข้ามาครบทั้งหมดภายใน เม.ย.นี้
ถามว่า จะกระจายยาแพกซ์โลวิดอย่างไร นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หลังรับมอบเสร็จจะไปตรวจรับ โดย อภ.จะเป็นผู้กระจาย หลักการจะคล้ายกับโมลนูพิราเวียร์ คือส่งไปตาม รพ.ใหญ่ โดยให้ผู้ตรวจราชการ สธ.เป็นผู้พิจารณากระจายในเขตสุขภาพเอง เราไมได้ให้ยาทุกคน โดยจะเน้นมีปัจจัยเสี่ยง มีโรคร่วม และเริ่มมีอาการ แพกซ์โลวิดใช้ได้เมื่อเริ่มมีอาการถึงอาการปานกลาง ถ้ารุนแรงแล้วก็ไม่ได้ เพราะเป็นการศึกษาในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน และไม่ได้ศึกษาในกลุ่มที่มีอาการรุนแรง
ด้าน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า วันนี้เพิ่งรับมอบยาแพกซ์โลวิด ซึ่งก็จะมีการตรวจรับและกระจายยา ซึ่งเมื่อมีความพร้อมก็กระจายทันที โดยจะกระจายยาภายในช่วงสงกรานต์นี้ โดยกระจายตามคำสั่งของกรมการแพทย์ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยส่งไปยังโหนดใหญ่ รพ.ศูนย์ หรือโรงเรียนแพทย์