xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เซ็นซื้อ “ยาแพกซ์โลวิด” 5 หมื่นคอร์สรักษาโควิด ถึงไทยต้น เม.ย.พร้อมเผยข้อบ่งใช้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ลงนามไฟเซอร์ จัดซื้อยา แพกซ์โลวิด” 5 หมื่นคอร์สรักษา กำหนดข้อบ่งชี้ใช้ในกลุ่มสูงอายุ มีโรคประจำตัว ยังรับวัคซีนไม่ครบ อาการเล็กน้อยถึงปานกลาง มีความเสี่ยงอาการรุนแรง คาดส่งมาถึงต้น เม.ย.นี้ กระจายยาให้ครอบคลุมก่อนสงกรานต์ รองรับการติดเชื้อสูงระลอกใหม่ ย้ำไม่จำเป็นต้องรับยาทุกคน กลุ่มอาการดีไม่มีความเสี่ยงพิจารณาให้ยาตามอาการ ฟ้าทะลายโจร หรือ ฟาวิพิราเวยร์

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ น.ส.เด็บบราห์ ไซเฟิร์ท กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามแบบดิจิทัลในสัญญาการจัดซื้อยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย จำนวน 5 หมื่นคอร์สการรักษา

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า โรคโควิด-19 แพร่ระบาดทั่วโลกทำให้ติดเชื้อเป็นวงกว้าง มีผู้ป่วยส่วนหนึ่งเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก การพัฒนาวิธีการรักษารวมถึงการจัดหายารักษาโควิด-19 จึงมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายจัดหายารักษาโควิด-19 ที่สำคัญ คือ การเข้าถึงยาที่มีประสิทธิผลในการรักษา โดยมีข้อมูลทางวิชาการหรือผลการศึกษาวิจัยที่มีคุณภาพเพียงพอในการสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อพิจารณาเลือกและจัดหายาที่เหมาะสมในการนำมาใช้ในกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ยาต้านไวรัสรักษาผู้ป่วยโควิด ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาเรมเดซิเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาใหม่ที่อยู่ระหว่างจัดหาและลงนามวันนี้ ซึ่งถือเป็นการลงนามระดับรัฐบาล คือ ยาแพกซ์โลวิด 50,000 คอร์สการรักษา ซึ่งมีผลศึกษาวิจัย 1,379 คน พบลดความเสี่ยงการนอน รพ.หรือเสียชีวิต 88% เมื่อได้รับยาภายใน 5 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ โดยกลุ่มที่ได้ยาแพกซ์โลวิดนอน รพ. 0.77% ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มยาหลอกนอน รพ.หรือเสียชีวิต 6.31%

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า แม้จะติดโควิดไม่ได้แปลว่าทุกคนจะอาการรุนแรง คือ ผู้ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องรับยานี้ทุกคน จึงจำกัดการรับยาแพกซ์โลวิดโดยกำหนดข้อบ่งชี้ในผู้ติดเชื้อโควิดที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางและเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง คือ ผู้สูงอายุ 60 ปี มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น อ้วน เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ไตเรื้อรัง ภูมิต้านทานร่างกายต่ำ เป็นต้น เริ่มมีอาการถึงปานกลาง โดยยาแพกซ์โลวิดประกอบด้วยยา Nirmatrelvir 150 มก. และ ยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) 100 มก. โดยกินวันละ 6 เม็ด คือ Nirmatrelvir 2 เม็ด และริโทนาเวียร์ 1 เม็ด ต่อครั้ง วันละ 2 ครั้งเช้าเย็น เป็นเวลา 5 วัน รวมทั้งหมด 30 เม็ด โดยหารือกับทางไฟเซอร์ว่า อยากจะให้มีการกระจายยาไปทั่วประเทศก่อนถึงสงกรานต์ เพื่อให้มียาไปรองรับที่ปลายทาง เนื่องจากอาจเป็นช่วงที่มีการระบาดอีกรอบ และผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจติดเชื้อมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้สูง

“คนเริ่มมีอาการถึงปานกลาง ไม่ว่าจะรักษาตัวที่ไหน ทั้ง HI CI หรือนอน รพ.แล้ว เพื่อช่วยให้ไม่ป่วยรุนแรงและไม่เสียชีวิต ส่วนจะจัดซื้อเพิ่มหรือไม่ยังต้องติดตามผลการใช้จริงในประเทศ ซึ่งเราขอข้อมูลไฟเซอร์ว่าการใช้จริงในยุโรปผลเป็นอย่างไร ซึ่งรองนายกฯ ก็ให้หารือกับไฟเซอร์เป็นระยะ ถ้าใช้ได้ผลดีอาจจะสั่งยาเพิ่มก็เป็นได้ โดยยาที่จัดซื้อนี้จะส่งมามาภายในต้น เม.ย.นี้ และขอให้กระจายยาก่อนสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงมีวิกฤตได้ ถ้าติดเชื้อในสูงอายุมาก เราอยากเซฟกลุ่มนี้มากที่สุด” นพ.สมศักดิ์กล่าว

เมื่อถามถึงแนวทางการรับยาแพกซ์โลวิด นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า โอมิครอนครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องกินยา ส่วนอีกครึ่งหนึ่งมีอาการก็ต้องดูว่าอยุเท่าไร มีโรคร่วมหรือไม่ ฉีดวัคซีนหรือยัง ซึ่งถ้าเป็นผู้สูงอายุ มีโรคร่วมแต่ควบคุมได้ค่อนข้างดี รับวัคซีนครบ อาจพิจารณาเป็นรายๆ ทั้งยารักษาตามอาการ ฟ้าทะลายโจร หรือฟาวิพิราเวียร์ ส่วนยาแพกซ์โลวิดข้อบ่งใช้คล้ายยาโมลนูพิราเวียร์ คือ อายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคร่วม ฉีดวัคซีนยังไม่ครบ คือ ยังไม่ได้ฉีดเลยหรือเข็มเดียว และเรื่มมีอาการถึงอาการปานกลาง โดยยาแพกซ์โลวิดออกฤทธิ์ในการยับยั้งโปรตีนเอส ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ออกฤทธิ์เหมือนฟาวิพิราเวียร์ยับยั้งการสร้างเซลล์ไวรัส ซึ่งแพกซ์โลวิดสามารถใช้คู่ฟาวิพิราเวียร์หรือโมลนูพิราเวียร์ได้ แต่ยังไม่มีการศึกษาการใช้ร่วม จึงกำหนดให้ใช้ตัวใดตัวหนึ่งก่อน โดยจะเลือกใช้ยาแพกซ์โลวิดหรือโมลนูพิราเวียร์ให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ ทั้งนี้ ยายังมีปริมาณจำกัด จึงอยากใช้ในกลุ่มที่มีดอกาสรุนแรงจนถึงเสียชีวิตก่อน

นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ข้อบ่งชี้การใช้ยาโมลนูพิราเวียร์มีการส่งไปแล้ว ส่วนตัวแนวทางหรือไกด์ไลน์การรักษาโควิด มีการปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็มีการระบุถึงแนวทางการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิด สำหรับการกระจายยาแพกซ์โลวิด เนื่องจากยามีจำนวนจำกัดจะไปที่โรงพยาบาลศูนย์ที่มีผู้เชี่ยวชาญตามมติอีโอซี สธ. โดยในเขตสุขภาพให้ผู้ตรวจราชการพิจารณาปรับการกระจาย ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์เริ่มมีการใช้ตามข้อบ่งชี้ อาจมีคำถามจากหน้างานจึงจะมีการสื่อสารกับแพทย์ผู้ใช้วันที่ 25 มี.ค. 2565

ถามถึงผลข้างเคียงจากยาโมลนูพิราเวียร์ และ ยาแพกซ์โลวิด จะมีแบบยาฟาวิพิราเวียร์ หรือไม่ เช่น ทำให้ตาฟ้า นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ดูจากรายงานการศึกษาวิจัยยังไม่พบ ส่วนใหญ่จะมีอาการเล็กน้อยเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยา คลื่นไส้ อาเจียน ทางเดินอาหาร เป้นยาที่ผลข้างเคียงยังไม่เจออาการรุนแรง ไม่มีสารเรืองแสงแบบฟาวิพิราเวียร์




กำลังโหลดความคิดเห็น