ศูนย์จีโนม เผย โอมิครอน BA.2.12.1 หลบภูมิคุ้มกันมากขึ้น อัตราแพร่ระบาดถึง 96% พบแพร่เร็วในสหรัฐฯ ส่วนไทยยังไม่พบรายงาน แต่มีตัวแม่ BA.2.12 หวังค่อยๆ ลดลง จนไม่เกิดตัวลูก ระบุข้อมูลต่างประเทศ พบภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อโอมิครอน ป้องกันได้เฉพาะโอมิครอน ป้องกันตัวอื่นได้ไม่ดี ย้ำฉีดเข็มกระตุ้นยังสำคัญ
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล กล่าวว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในไทยขณะนี้ สายพันธุ์ย่อย BA.1 ลดลงจนอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว ส่วน BA.2 ที่ระบาดหนักเริ่มพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง โดยมีการกลายพันธุ์ตัวลูก BA.2.12 ซึ่งก็เป็นตัวที่แพร่ระบาดทั่วโลกขณะนี้ แต่เราไม่ได้ให้ความสนใจมาก เนื่องจากความได้เปรียบในการเติบโต-แพร่ระบาดไม่ต่างจากตัวแม่ BA.2 อย่างไรก็ตาม ยังมีตัวลูกย่อยออกมาอีก คือ BA.2.12.1 มีการกลายพันธุ์บางตำแหน่งนิดเดียว แต่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและจะแพร่ระบาดได้มากขึ้น ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา พบว่า มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว พบสัดส่วน 1 ใน 5 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศ พบมากที่สุดในนิวยอร์ก อัตราการแพร่ระบาดเพิ่มจากตัวแม่เป็นเท่าตัว กลายพันธุ์ต่างจากไวรัสอู่ฮั่นเดิมมากกว่า 90 ตำแหน่ง และมีอัตราการแพร่ระบาดถึง 96% เหนือกว่า BA.2
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่พบ BA.2.12.1 แต่ต้องเฝ้าระวัง เพราะเรามีตัวแม่ BA.2.12 ซึ่งในฐานข้อมูลกลางโควิดโลก GISAID วันที่ 19 เม.ย. พบ BA.2.12 ในไทยจากการสุ่มถอดรหัสพันธุกรรมไม่น้อยกว่า 186 ตัวอย่าง แต่หน้างานจริงอาจจะมีมากกว่านั้น ทั้งนี้ โดยธรรมชาติการกลายพันธุ์ของไวรัสจะอยู่ในช่วง 2-3 เดือน เมื่อมีตัวใหม่โผล่ขึ้นแล้วก็จะค่อยๆ ลดลงจนหายไป แต่หากมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นก็อาจจะกลายพันธุ์เป็นตัวอื่นได้ คาดหวังว่า BA.2.12 ที่กำลังพบในไทยจะเพิ่มขึ้นและลดลงหายไปไม่กลายพันธุ์ออกลูกเป็น BA.2.12.1 ส่วนลูกผสมตระกูล X ทั่วโลกขณะนี้พบมีกว่า 20 ตระกูล X แต่มีจำนวนน้อยมากเพียงหลักสิบหลักหน่วยเท่านั้น ไม่ได้พบว่ามีการแพร่ระบาดมากขึ้น ก่อนหน้าที่ศูนย์จีโนมฯ พบ XE 1 รายก็ยังไม่ได้พบมากขึ้น
“ข้อมูลล่าสุดจากนักวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศได้ทดสอบนำแอนติบอดีของผู้ติดเชื้อโอมิครอนมาทดสอบภูมิคุ้มกัน พบว่าป้องกันได้แต่เฉพาะโอมิครอน แต่สายพันธุ์อื่นในอดีตหรืออนาคตอาจจะป้องกันได้ไม่ดีนัก ต่างกับคนที่ฉีดวัคซีน ดังนั้น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูง จึงเป็นเรื่องสำคัญ จากเดิมเชื่อกันว่าภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติน่าจะดี แต่ข้อมูลนี้ยังมีเพียงชิ้นเดียว ต้องรอข้อมูลที่มีการวิจัยยืนยันมากกว่านี้ ดังนั้น การดูแลป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อดีที่สุด เพราะหากติดแล้วยังมีผลทำให้เกิดภาวะลองโควิดได้” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า ศูนย์จีโนมฯ ได้เผยแพร่ข้อมูลต่างๆ เป็นการนำข้อมูลจาก GISAID,WHO, U.S. CDC หรือข้อมูลวิจัยจากประเทศต่างๆ เพื่อให้ทุกคนได้ศึกษาเรียนรู้ รวมทั้งวิเคราะห์ศึกษาสถานการณ์ในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการตระหนัก เท่าทันความรู้นำไปสู่การเรียนรู้หาแนวทางป้องกัน ไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดความตระหนก หวาดกลัว หรือเป็นการหิวแสง