ศูนย์จีโนมฯ ตรวจพบ“โควิด” ลูกผสม XE ในคนไทย 1 ราย กำลังตรวจสอบข้อมูล ชี้เอาหนาม BA.2 มาทั้งยวง ตัดแปะกับ BA.1 พบแพร่เร็วกว่า BA.2 10% แต่ความรุนแรง หลบวัคซีนไม่ต่างจากเดิม ส่วน “เดลตาครอน” ไม่สมบูรณ์ ใกล้สูญพันธุ์แล้ว
เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี เผยแพร่ข้อมูลผ่านเพจ “Center for Medical Genomics” ระบุว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2565 องค์การอนามัยโลก ออกคำเตือนเกี่ยวกับโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม “XE” ระหว่างสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน BA.1 กับ BA.2 โดยแพร่เชื้อติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วกว่าไวรัสโคโรนา 2019 ทุกสายพันธุ์ที่เคยประสบมา ตามรายงานของสำนักงานบริการสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร ระบุว่า สายพันธุ์ลูกผสม XE แพร่ง่ายกว่าสายพันธุ์ BA.2 ประมาณ 10% และแพร่เร็วกว่าโอมิครอนดั้งเดิม (B.1.1.529) ถึง 43% ล่าสุด ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี ตรวจพบสายพันธุ์ลูกผสม XE จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างสวอปจากผู้ติดเชื้อ ชาวไทย 1 ราย และพบลูกผสมเดลตาครอน 1 ราย
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมฯ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังตรวจสอบไปยังสถานพยาบาล ว่า ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ลูกผสม XE ในคนไทย 1 ราย รายละเอียดเป็นอย่างไร มีการเดินทางไปต่างประเทศมาหรือไม่ หรือมีการสัมผัสโรคอย่างไร อยู่ระหว่างรอข้อมูล อย่างไรก็ตาม การถอดรหัสพันธุกรรม เวลาได้รับตัวอย่างมามักจะเป็นเวลาย้อนหลังไปเป็นสัปดาห์ ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อก็จะหายแล้ว จึงต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง
สำหรับสายพันธุ์ลูกผสม XE ในต่างประเทศ พบที่อังกฤษเมื่อ ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นการผสมกันระหว่างโอมิครอน BA.1 กับ BA.2 ส่วนใหญ่เป็นการเอาจุดเด่นของ BA.2 มามากกว่า โดยเฉพาะส่วนของโปรตีนหนามแหลมเป็นของ BA.2 ทั้งหมด ดังนั้น ในอังกฤษจึงพบว่าสายพันธุ์ลูกผสม XE แพร่ได้เร็วกว่า BA.2 ราวๆ 10% และเร็วกว่าโอมิครอนดั้งเดิม 43% แต่ไม่พบว่ามีความรุนแรงกว่า BA.2 และไม่พบว่ามีการหลบภูมิต่อวัคซีนแตกต่างจาก BA.2 หมายความวัคซีนที่ฉีดในปัจจุบันหากสูตรไหนมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลต่อสายพันธุ์ BA.2 ก็มีผลต่อสายพันธุ์ลูกผสม XE เช่นกัน
“XE เอาสัดส่วนของ BA.2 มาเยอะหน่อย โดยเอาส่วนที่สร้างหนามของ BA.2 มาทั้งยวงเลย ก็พอตอบได้ว่า อาการหรือว่าการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน หรือการตอบสนองต่อวัคซีน ไม่น่าจะแตกต่างจาก BA.2 เพราะไม่ได้เห็นการกลายพันธุ์อะไรที่เด่นชัด เหมือนไปดึงเอา BA.2 มาเป็นส่วนใหญ่ แล้วมาปะติดกับ BA.1 ที่ถามว่าส่วนหนามหลบภูมิคุ้มกันหรือไม่ แอนติบอดีตรวจจับไม่เจอหรือไม่ ก็ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะลูกผสมนี้ไม่ได้ผสมกันตรงหนาม” หัวหน้าศูนย์จีโนมฯ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ลูกผสม XE ไม่ได้ก่อโรครุนแรง และไม่หลบวัคซีนต่างไปจาก BA.2 แต่องค์การอนามัยโลกอยากให้ช่วยเฝ้าระวัง เพราะว่ามีลักษณะเพิ่มจำนวนได้มากกว่าสายพันธุ์ที่มีอยู่ เหมือนกับก่อนหน้านี้ที่องค์การอนามัยโลก ประกาศว่า มีลูกผสมเดลตาครอน (เดลตาผสมกับโอมิครอน) หลายคนกังวลใจ เพราะโอมิครอนแพร่เร็ว เดลตาเกิดความรุนแรงมาก แต่สุดท้ายเดลตาครอนเป็นสายพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ การเพิ่มจำนวนได้ไม่ดี เหมือนกับว่าจะค่อยๆ ลดจำนวนลง ใกล้สูญพันธุ์ไป ดังนั้น การเตือนขององค์การอนามัยโลกจึงขอให้จับตาไว้ก่อน ส่วนจะรุนแรงขึ้นหรือลดระดับลงจนสูญพันธุ์ก็ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์