xs
xsm
sm
md
lg

จับตาลูกผสม “โอมิครอน” BA.1+BA.2 อาจแพร่เร็ว 126% อาจเสี่ยงระลอก 6 ย้ำไทยยังไม่มี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์จีโนม รพ.รามาฯ เผยเดลตาครอน” ในต่างประเทศ พบกระจายไม่เร็ว คนติดอาการไม่รุนแรง ไม่น่ากังวล ส่วนลูกผสม “โอมิครอน” BA.1+BA.2 น่าจับตาคำนวณคร่าวๆ อาจแพร่เร็วกว่า BA.2 ถึง 126% ยังต้องรอดูข้อมูลจริงก่อน และดูเรื่องความรุนแรง รวมถึงทำให้เกิดระลอก 6 หรือไม่ ย้ำยังไม่พบในไทย

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงการพบสายพันธุ์ลูกผสม “เดลตาครอน” ระหว่างเดลตาและโอมิครอน กับลูกผสมโอมิครอนด้วยกันระหว่าง BA.1 และ BA.2 ว่า ขณะนี้ส่วนใหญ่พบเดลตาครอนในฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ส่วนอังกฤษมีบ้าง จากข้อมูลยังไม่พบการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว คนที่ติดไม่มีอาการรุนแรง ไม่ต่างจากโอมิครอนทั่วไป ในฐานข้อมูลกลางโลก (GISAID) พบสายพันธ์ุเดลตาครอนมากบ้างน้อยบ้างในแต่ละพื้นที่ จำนวนไม่ได้เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ แสดงว่าเดลตาครอนเปรียบเหมือนเด็กที่เกิดมาเป็นเด็กไม่แข็งแรงสมบูรณ์หรือพิการ เพราะฉะนั้นก็จะแพร่ระบาดสืบทอดลูกหลานได้ไม่ดี ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ไม่ได้จัดให้อยู่ในสายพันธ์ุที่น่ากังวล (VOC) เพียงแต่ออกมาเตือนล่วงหน้าว่ามีสายพันธ์ุลูกผสมเกิดขึ้น เพื่อให้ระมัดระวัง

สำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่เป็น “โอมิครอน” อาจจะเกิดเดลตาครอนได้ยาก หากจะมีเกิดขึ้นน่าจะเป็นการนำเข้าจากประเทศอื่นมากกว่า แต่ไม่่ว่าจะเกิดประเทศใดก็ตาม หากมีการระบาดก็สามารถแพร่กระจายได้ทั่วโลก แม้แต่จีนที่มีการล็อกดาวน์เชื้อก็ยังหลุดเข้าไปได้ผ่านสิ่งของวัสดุ เพราะเชื้อไวรัสอยู่บนพื้นผิวได้ 7-8 วันเป็นธรรมชาติ แม้จะควบคุมอย่างไรก็สามารถหลุดเข้าไปได้ เพราะไวรัสเป็นนักฆ่าเพื่อความสมดุล

ส่วนลูกผสมโอมิครอนระหว่าง BA.1+BA.2 น่าจับตามากกว่า ข้อมูลเบื้องต้นที่มีการคำนวณผ่านระบบคอมพิวเตอร์คร่าวๆ จากรหัสพันธุกรรมที่ถอดได้กับระยะเวลาที่พบเชื้อ พบอัตราการติดเชื้อที่แพร่ได้มากขึ้นจาก BA.2 ในสัดส่วน 126% แต่การคาดการณ์ดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ในธรรมชาติหรือหน้างานต้องใช้เวลาศึกษาอีกสักพัก อย่างไรก็ตาม นอกจากพบในอิสราเอลตามที่ปรากฏข่าว ใน GISAID มีรายงานการพบที่อังกฤษและไอร์แลนด์ 267 ราย เท่าที่ดูข้อมูลรหัสพันธุกรรมยังไม่มีการนำส่วนสำคัญที่สร้างโปรตีนหนามมาแลกเปลี่ยนกันเป็นลูกผสม ความรุนแรงก็อาจจะยังไม่ต่างจากสายพันธ์ุย่อยโอมิครอน อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตามองว่าท้ายที่สุดจะกลายเป็นคลื่นลูกใหม่ที่ส่งผลให้เกิดการระบาดระลอกที่ 6 หรือไม่ โดยพิจารณาหากผสมกันแล้วมีอัตราการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นเหนือกว่าตัวอื่นอย่างมากจนชนะ ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่สามารถระบุเป็นฆาตกรหรือคนดี จนกว่าจะเห็นพฤติกรรมความรุนแรง

ทั้งนี้ WHO ได้ออกมาเตือนถึงการมองโอมิครอนจะเป็นสายพันธ์ุสุดท้าย ทำให้คนการ์ดตก หรือมองว่ากำลังจะเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่ง WHO มองว่า น่าจะมีสายพันธ์ุที่กลายพันธ์ุได้มากกว่าโอมิครอนที่อาจจะเป็นการระบาดระลอกที่ 6 ซึ่งโอมิครอนกลายพันธ์ุไปจากอู่ฮั่นประมาณ 100 ตำแหน่ง ตัวที่ 6 จะต้องกลายพันธ์ุมากกว่าโอมิครอนหลายตำแหน่ง แต่จะร้ายกาจรุนแรงหรือไม่ยังไม่รู้ ลูกผสม BA.1+BA.2 เป็นแคนดิเดตหนึ่งที่ต้องจับตา สำหรับประเทศไทยที่ศูนย์จีโนมฯ ยังไม่พบลูกผสม BA.1+BA.2 แต่หากพบก็ไม่น่าประหลาด เพราะไวรัสสามารแพร่มาได้ทุกทางหากการ์ดตก จึงต้องพยายามฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วโลก






กำลังโหลดความคิดเห็น