กรมวิทย์เผยพบ“โควิด” สายพันธุ์ลูกผสมใกล้เคียง XJ 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 34 ปี อาชีพไรเดอร์ส่งของ ตั้งแต่ช่วง ก.พ. ยังต้องรอคอนเฟิร์มในระบบเฝ้าระวังอีกครั้ง เผยทั่วโลกยอมรับลูกผสมแค่ 3 ตัว คือ XA XB และ XC ที่เหลือยังต้องรอวิเคราะห์ ย้ำติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ มีโอกาสเกิดลูกผสมไฮบริดสูง ย้ำช่วงนี้การติดเชื้อสูง ยังต้องป้องกันลดการติดเชื้อ ฉีดวัคซีนบูสเตอร์เพิ่มภูมิคุ้มกัน
เมื่อวันที่ 4 เม.ย. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ระหว่างวันที่ 26 มี.ค.- 1 เม.ย. 2565 จำนวน 1,933 ราย พบว่า เหลือเดลตา 3 ราย ในเขตสุขภาพที่ 8 คิดเป็น 0.16% ที่เหลือเป็น “โอมิครอน” ทั้งหมด 1,930 ราย คิดเป็น 99.84% จำนวนนี้พบว่า สายพันธุ์ย่อยโอมิครอนเป็น BA.2 มากขึ้นเรื่อยๆ คือ 92.2% เบียด BA.1 ไปเรื่อยๆ โดยเขตสุขภาพที่ 3 และ 9 พบ BA.2 เป็น 100% อนาคตอันใกล้ BA.1 อาจจะหายไป ส่วนการเฝ้าระวังสายพันธุ์ในกลุ่มที่อาการรุนแรงหรือเสียชีวิต พบเป็น BA.2 ประมาณ 82% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ดังนั้น จึงไม่ได้แสดงว่า BA.2 มีความรุนแรงมากกว่าโอมิครอนธรรมดา
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ส่วนการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสนั้น เป็นธรรมชาติของไวรัสที่มีการเพิ่มจำนวนก็มีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ได้ ถ้าหน้าตาเปลี่ยนจากเดิมโดยสิ้นเชิงหรือแตกต่างมากก็จะเป็นตัวใหม่ แต่หากยังไม่ชัดอาจจะเป็นสายพันธุ์ย่อย โดยการติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ขึ้นไปในคนๆ เดียว (Mixed Infection) หากเกิดขึ้นบ่อยๆ จะเกิดการผสมพันธุ์เป็นตัวใหม่ ที่มีสารพันธุกรรมมาจากทั้ง 2 สายพันธุ์เรียกว่า “ไฮบริด” ซึ่งระบบการเรียกจะใช้ “X” นำหน้ามาจากคำว่า “Cross” ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 17 ตัว ตั้งแต่ XA ถึง XS แต่ที่ยอมรับในระบบรายงานเฝ้าระวังของโลก GISAID มี 3 ตัว คือ XA พบตั้งแต่ ธ.ค. 2563 มาจากอัลฟา + B.1.177 , XB พบตั้งแต่ ก.ค.2563 มาจาก B.1.634 + B.1.631 และ XC มาจากเดลตา+อัลฟา เกิดในญี่ปุ่นประมาณกลางปี 2564 อย่างไรก็ตาม ลูกผสมไฮบริด ถ้าไม่ได้แพร่เร็ว หลบวัคซีน หรือรุนแรงอะไร ก็ไม่ได้มีความหมาย เพราะเป็นธรรมชาติของไวรัสที่มีการเพิ่มจำนวนก็อาจเกิดการกลายพันธุ์ได้
“ส่วนสายพันธุ์ลูกผสมที่เหลือตั้งแต่ XD ไปเรื่อยๆ ยังอยู่ในชั้นที่ต้องวิเคราะห์ข้อมูลมากกว่านี้จนกว่าจะสิ้นสงสัยว่าเป็นตัวใหม่จริงๆ สำหรับที่ศูนย์จีโนม รพ.รามาธิบดี ออกมาระบุว่าพบ XE ในไทย ซึ่งเกิดจากโอมิครอน 2 สายพันธุ์ย่อยคือ BA.1 + BA.2 เป็นพันธุ์ใหม่ หากสังเกตนั้นจะพบว่า มีสายพันธุ์ลูกผสมหลายตัวที่มาจาก BA.1 + BA.2 เช่นกัน เช่น XG XH XJ XK XL XN เป็นต้น โดยเจอในประเทศที่แตกต่างกัน แต่ที่ต้องกำหนดให้แตกต่างกันไป เนื่องจากรหัสพันธุกรรมแตกต่างกัน และตำแหน่งที่ผสมนั้นแตกต่างกันหรือไม่ตรงกัน” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า โดยสรุปประเทศไทยมีการถอดรหัสพันธุกรรมแล้วมีโอกาสเข้าได้กับ “XE” 1 ราย ที่ รพ.รามาธิบดี ส่วนรายละเอียดว่าเข้ากันได้แค่ไหนต้องถามทาง รพ.รามาธิบดี ส่วนของกรมวิทย์ที่ตรวจสัปดาห์ละ 500-600 ราย พบว่า มี 1 ราย ใกล้เคียงกับ “XJ” ที่เจอครั้งแรกในฟินแลนด์ มากกว่า XE ที่เจอในอังกฤษ โดย XJ เป็น BA.1 + BA.2 เช่นกัน คนไข้ที่เจอเป็นชายไทยอายุ 34 ปี อาชีพพนักงานขนส่งดิลิเวอรี ซึ่งอาชีพนี้มีโอกาสเจอคนจำนวนมาก ทำให้มีโอกาสติดเชื้อแบบ Mixed Infection หรือ 2 สายพันธุ์ขึ้นไปในคนเดียวได้ง่าย และมีโอกาสผสมพันธุ์เป็นตัวใหม่ ถือว่าเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปที่จะเกิดการกลายพันธุ์ลักษณะไฮบริด โดยตรวจเชื้อตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. ส่งตัวอย่างจาก รพ.แห่งหนึ่งใน กทม. ประวัติพบฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 เข็ม
“รายนี้มีโอกาสเป็นสายพันธุ์ลูกผสมใกล้เคียงกับ XJ ซึ่งเรามีการส่งข้อมูลไปยัง GISAID แล้ว อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์ลูกผสมเหล่านี้ยังต้องรอวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อยอมรับว่าเป็นไฮบริดจริง ซึ่งหากยอมรับแล้วอาจจะไม่ได้ใช้ชื่อ XJ ก็ได้ อาจจะเป็นตัวอื่นก็ได้ ทั้งนี้ กรณีองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาพูดถึง XE เนื่องจากมีการวิเคราะห์ข้อมูลในอังกฤษ เทียบกับ BA.2 แล้วพบว่า ตัวอย่าง XE เพิ่มมากขึ้นเร็วในช่วงหลัง หรือเร็วขึ้น 10% WHO จึงจับตาดูว่าแพร่เร็วขึ้นไหม อาจจับตาดูความรุนแรงและการหลบภูมิด้วย แต่ทั้งหมดยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติม จึงอย่าเพิ่งวิตกกังวลจนเกินเหตุ เพราะข้อมูลยังมีจำกัด” นพ.ศุภกิจกล่าวและว่า ยืนยันว่าการตรวจรหัสพันธุกรรมสัปดาห์ละ 500-600 ราย มีความไวมากพอในการตรวจจับว่าหากเกิดลูกผสมหรือตัวใหม่ในประเทศไทยจะเห็นได้ไม่ช้ากว่าใครในโลกนี้
เมื่อถามว่ากรณีที่พบใกล้เคียง XJ ผู้ป่วยมีลักษณะอย่างไรแตกต่างหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เรื่องการแพร่เร็วหรือรุนแรง ยังไม่มีข้อมูล เพราะระยะเบื้องต้นเราจะพบการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมก่อน แล้วมาคาดว่าตำแหน่งทีเปลี่ยนโอกาสหลบภูมิ รุนแรง หรือแพร่เร็วมากขึ้นหรือไม่ ส่วนผู้ป่วยรายนี้ก็หายดีแล้ว ซึ่งอาการแทบแยกไม่ออกเลย เพราะไม่ว่าเดลตา โอมิครอนแทบแยกไม่ได้ ส่วนใหญ่เป็นอาการทางเดินหายใจใกล้เคียงกัน เพียงแต่เมื่อจำนวนรวมกันเยอะๆ อาจมีไข้น้อยกว่านิดหน่อย หรือเจ็บคอมากกว่านิดหน่อย แต่คงไม่สามารถนำมาใช้แยกอาการกับสายพันธุ์ได้ นอกจากนี้ ยังมีอีก 1 ราย แต่ข้อมูลยังไม่พอ เพราะตัวอย่างเพิ่งส่งมาวันที่ 3 เม.ย. แต่เบื้องต้นมีโอกาสเป็น recombinant หรือลูกผสม 60% จึงยังสรุปไม่ได้ ต้องรอสรุปต่อไป
เมื่อถามว่า ควรต้องกังวลต่อสายพันธุ์ลูกผสมเหล่านี้หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า วันหนึ่งการติดเชื้อทั่วโลกเป็นล้าน โอกาสคลอดตัวใหม่ๆ มีได้เสมอ จึงย้ำว่า อย่าเชื่อว่าปล่อยให้ติดกันหมดถือว่าไม่ได้ เพราะการแพร่เชื้อเยอะๆ อาจจะเกิดพันธุ์ใหม่ขึ้นมา และไม่รู้ว่าการกลายพันธุ์มันแย่ลงหรือรุนแรงขึ้น แต่แต่โดยธรรมชาติวันนี้ ความรุนแรงลดลง เพียงแต่ยังแพร่เร็ว จึงขอให้พึงสังวรณ์ว่า เมื่อเชื้อแพร่เร็ว โอกาสติดเชื้อก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว อะไรที่เลี่ยงได้หรือป้องกันได้ขอให้ทำ หลายท่านอยากถอดหน้ากากอนามัย ขออย่าเพิ่งทำ อย่าไปรับประทานอาหารร่วมกันมากๆ
เมื่อถามว่า การติดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยตัวหนึ่งแล้ว จะติดอีกตัวได้หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ได้ วันนี้ต้องยอมรับว่า BA.2 สามารถหลบภูมิธรรมชาติหรือวัคซีนได้จำนวนหนึ่ง ดังนั้น คนเคยติดเดลตาก็ติดโอมิครอนได้ หรือติด BA.1 ก็อาจติดซ้ำ BA.2 ได้ เพราะภูมิจาก BA.1 อาจกัน BA.2 ไม่ได้ทั้งหมด แต่ไม่ใช่ทุกรายต้องติดซ้ำ เพราะสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้จำนวนหนึ่ง ดังนั้น ภูมิคุ้มกันที่ฉีด 2 เข็มจึงไม่พอ จำเป็นต้องบูสต์ด้วยเข็ม 3 เพื่อให้ภูมิสูงขึ้น หรือคนฉีดเข็ม 3 นานมากแล้วก็แนะนำมาฉีดเข็ม 4 แต่อย่างที่บอกว่า ภูมิคุ้มกันในเลือดอย่างเดียวก็มีองค์ประกอบเยอะ อย่างฉีดวัคซีนเชื้อตายในอดีต ก็อาจทำให้เซลล์ต่างๆ มาช่วยกำจัดเชื้อโรคได้ในกรณีเจอเชื้อใหม่เข้ามา
เมื่อถามว่า คนติดโควิดมาแล้วไม่ว่าสายพันธุ์ใดยังต้องฉีดวัคซีนตามกำหนดหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า หากติดโอมิครอนวันนี้ ซึ่งการตรวจเลือดดูภูมิคุ้มกัน พบว่า มีภูมิคุ้มกันค่อนข้างสูงต่อ BA.2 หากติด BA.2 ภูมิคุ้มกันต่อ BA.2 เยอะแน่ และจะไม่เป็นซ้ำในเวลาสั้นๆ แต่หากติด BA.1 ภูมิคุ้มกันต่อ BA.2 ก็อาจไม่มากพอ