xs
xsm
sm
md
lg

ฉีดวัคซีนเข็ม 3 น้อยแค่ 34% หวั่นหลัง “สงกรานต์” ป่วยหนัก-ดับสูงอีก ห่วง “ร้านเกม” แหล่งแพร่ “โควิด” เด็กช่วงปิดเทอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เผย ฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นได้แค่ 34.6% หวั่นหลังสงกรานต์ ยอดติดเชื้อ ป่วยหนัก ดับ ทะยานขึ้นแน่นอน แจงคนมาบูสต์วัคซีนน้อย เหตุผ่อนคลายมาก คิดว่าปลอดภัย รับครบ 2 เข็มแล้ว ไม่ต้องรับอีก ย้ำเวลาผ่านไปนานภูมิลดลง การระบาดโอมิครอนต้องรับเข็ม 3 เข็ม 4 เพิ่ม ช่วยลดป่วยหนักดับ ส่วนเด็ก 5-11 ปี รับวัคซีนเข็มแรกไม่ถึง 50% เข็มสองต่ำกว่า 2% ภูมิไม่เพียงพอ วอนพ่อแม่พามาฉีด เลี่ยงรวมตัวร้านเกมเสี่ยงติดเชื้อ

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ว่า ผลการดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย สะสม 130.19 ล้านโดส เป็นเข็มแรก 80.1% ของประชากร เข็มสอง 72.5% ของประชากร และเข็มสามขึ้นไป 34.6% ของประชากร ซึ่งก่อนสงกรานต์จะมีความสำคัญมาก สธ.จึงรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยงมารับเข็มกระตุ้นให้มากขึ้น ซึ่งหากดูการรับวัคซีนของกลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่า ผู้ที่รับเข็มสามในผู้สูงอายุอยู่ที่ 37.2% ถือว่ายังต้องขอความร่วมมือให้ผู้สูงอายุในพื้นที่หรือจังหวัดต่างๆ และมีโรคประจำตัวมารับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากขึ้น โดยจังหวัดที่ฉีดเข็มกระตุ้นให้กลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปีขึ้นไปและมีโรคประจำตัวได้ตามเป้าหมายมากกว่า 70% มี 7 จังหวัด ได้แก่ น่าน นนทบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต มหาสารคาม ลำพูน และชัยนาท อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ 7 จังหวัดนี้ที่พยายามฉีดเข็มกระตุ้นให้เพิ่มขึ้น ยังมีอีกหลายจังหวัดที่พื้นที่พยายามเร่งรัดฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นจนได้มากกว่า 60% เช่น เชียงราย แพร่ พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และยโสธร

ส่วนการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี ซึ่งมีกว่า 5 ล้านคน ฉีดเข็มแรกแล้ว 45.7% และเข็มสอง 1.3% ถือว่ายังมีจำนวนน้อย ในขณะนี้มีการระบาดของโอมิครอน มีรายงานเด็กติดเชื้ออย่างต่อเนื่องและมีตลอด ฉะนั้น ช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอม ขอพ่อแม่ผู้ปกครองพาเด็กเล็กอายุ 5-11 ปี ไปรับวัคซีนให้ได้มากขึ้น ซึ่งมีวัคซีนได้รับอนุมัติความปลอดภัยใช้ในเด็กเล็ก 2 ตัว คือ วัคซีนเชื้อตาย ทั้งซิโนแวค และซิโนฟาร์ม และวัคซีน mRNA คือ ไฟเซอร์ฝาสีส้ม โดยอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันมีมติว่า เด็กอายุ 5-11 ปี มีวัคซีนให้ฉีด 3 สูตร คือ ไฟเซอร์-ไฟเซอร์ ห่างกัน 8 สัปดาห์, สูตรไขว้ เชื้อตายตามด้วยไฟเซอร์ฝาสีส้ม ระยะห่าง 4 สัปดาห์ และวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ซิโนแวค-ซิโนแวค ระยะห่าง 4 สัปดาห์ และควรตามด้วยเข็มสามด้วยไฟเซอร์ห่าง 4 สัปดาห์ สรุปทั้ง 3 สูตร สูตรที่ทำให้เด็กรับวัคซีนและเพิ่มภูมิได้ไว คือ 2 สูตรหลัง สูตรไขว้ และซิโนแวค-ซิโนแวค ซึ่งใช้เวลาห่างกัน 1 เดือน แต่หากไฟเซอร์-ไฟเซอร์ให้เวลาห่างกัน 2 เดือน พ่อแม่สามารถสอบถามสถานพยาบาลว่ามีวัคซีนตัวไหนที่ฉีดให้ได้ ให้รีบไปรับจะลดการป่วยหนักและเสียชีวิต

พญ.สุมนี กล่าวว่า จากวิเคราะห์ผู้เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 31 มี.ค. พบว่า 78% เป็นผู้สูงอายุจำนวน 2,701 ราย โดยพบว่า 59% ไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย 8% รับหนึ่งเข็ม 29% รับครบสองเข็ม และ 4% ฉีดครบ 3 เข็ม แต่หากเทียบอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มนี้ วัคซีนป้องกันผู้สูงอายุเสียชีวิตจากโควิดได้ดีมาก โดยผู้สูงอายุ 12.7 ล้านคน พบว่า 2.07 ล้านคน ยังไม่ฉีดวัคซีนเลย อัตราเสียชีวิตอยู่ที่ 767 ต่อล้านคน ซึ่งกรณีการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม พบว่า อัตราเสียชีวิตลดลง 5 เท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มไม่ได้รับวัคซีนเลย และหากรับ 3 เข็ม อัตราการเสียชีวิตลดลง 31 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มไม่ได้รับ

“ก่อนหน้านี้ ที่กรมควบคุมโรครายงานตัดข้อมูลถึงวันที่ 28 ก.พ. จะเห็นว่าการรับวัคซีน 3 เข็มในสูงอายุ ลดอัตราการเสียชีวิตลงได้ 41 เท่า ซึ่งมากกว่าตอนนี้ แต่ข้อมูลตอนนี้ถึง 31 มี.ค. ที่ลดลงเหลือ 31 เท่า จาก 41 เท่า เนื่องจากภูมิคุ้มกันเมื่อระยะเวลาผ่านไปจะลดลง จึงจำเป็นที่ผู้ฉีดครบ 3 เข็มไปแล้วเลย 4 เดือน ต้องมารับเข็มที่ 4 ได้เลย ซึ่งผู้รับ 4 เข็ม ไม่มีใครผู้เสียชีวิตเลย ดังนั้น หากรับ 3 เข็มครบ 4 เดือนให้มาฉีดได้ทันที” พญ.สุมนี กล่าว

พญ.สุมนี กล่าวว่า ช่วงสงกรานต์ขอให้ทำมาตรการ Self Clean Up เตรียมพร้อม 1 สัปดาห์ก่อนเดินทางกลับบ้านช่วงหยุดยาวสงกรานต์ คือ สำรวจตัวเองก่อนกลับไปพบญาติพี่น้องว่า มีอาการทางเดินหายใจหรือไม่ เช่น ไอ เจ็บคอ น้ำมูก ปวดเมื่อยตัว เป็นต้น หรือไปสถานที่เสี่ยงมีคนติดเชื้อหรือไม่ก่อนกลับบ้าน ถ้ามีอาการเหล่านี้ ให้ตรวจ ATK ว่าติดหรือไม่ ถ้าติดเชื้อให้ระงับการเดินทางไปก่อน เพื่อลดความเสี่ยงไปแพร่เชื้อ ถ้าผลเป็นลบก็เตรียมตัวเดินทางกลับช่วงสงกรานต์ได้ แต่ระหว่างเดินทางยังต้องเข้มมาตรการป้องกัน ไม่ว่าจะเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ ทั้งทางอากาศ ทางบก หรือทางน้ำ ใช้แอลกอฮอล์เจล ไม่อยู่ในที่หนาแน่นแออัด และเมื่อถึงบ้านแล้วยังต้องคงมาตรการด้วย ในการทำกิจกรรมทั้งหลายยังต้องระมัดระวังอยู่เสมอว่าเราอาจติดจากโควิดสถานที่เสี่ยง เช่น ตลาด ห้างสรรพสินค้า หรือสถานประกอบพิธีกรรม

เมื่อถามถึงขณะนี้ผู้มาฉีดวัคซีนโควิดลดลงต่ำกว่าแสนโดสต่อวัน ล่าสุด เหลือไม่ถึง 6 หมื่นโดส สวนทางการรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยงมาฉีดวัคซีน พญ.สุมนีกล่าวว่า ขณะนี้ยอดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นน้อย เนื่องจากมีการผ่อนคลายหลายมาตรการ ประชาชนอาจรู้สึกว่าฉีดครบแล้วจึงไม่จำเป็นต้องมารับเข็มกระตุ้น แต่ทุกวันนี้การแพร่ระบาดหรือจำนวนผู้ติดเชื้อยังมีสูงต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญทำให้เชื้อพัฒนาตัวเอง ขณะที่วัคซีนซึ่งผลิตมาตั้งแต่มีการติดเชื้อแรกๆ จึงต้องเก็บข้อมูลการศึกษาถึงประสิทธิภาพประสิทธิผล โดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันศึกษาแล้วพบว่า การระบาดของโอมิครอน การฉีดเข็มสามจะช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ เป็นข้อมูลประกอบกันทั้งฝ่ายวิชาการและกรมควบคุมโรคว่าเข็มกระตุ้นลดอัตราตายลงชัดเจน จึงต้องทำความเข้าใจประชาชนว่าจะต้องฉีดเข็มกระตุ้นให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ยอดการฉีดน้อย ต้องทำความเข้าใจว่าภูมิคุ้มกันจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น ดังนั้น การฉีดเข็มกระตุ้นจะช่วยได้

ถามต่อว่า การฉีดเข็มกระตุ้นได้ 34.6% หากยอดไม่เพิ่มขึ้น หลังสงกรานต์จะติดเชื้อหรือป่วยหนักเสียชีวิตมากขึ้นกว่านี้ พญ.สุมนี กล่าวว่า ขณะนี้ยังเป็นไปตามคาดการณ์ หากการฉีดเข็มกระตุ้นยังน้อยอยู่ โอกาสผู้เสียชีวิตจะเยอะขึ้นแน่นอน แต่อาการหนักและรุนแรงเมื่อเทียบกับระลอกที่แล้ว เม.ย. 2564 ไม่ได้เยอะมาก แต่เพื่อความไม่ประมาท ความเป้นไปได้ของจำนวนผู้ติดเชื้อ อาการหนัก และเสียชีวิตตอนนี้ก็ยังเพิ่มขึ้น ก็ยังต้องคาดการณ์ไว้เลยว่ามากขึ้นแน่นอน ทั้งจำนวนติดเชื้อและเสียชีวิต ดังนั้น ช่วงไม่ถึง 2 สัปดาห์ที่จะถึงสงกรานต์ สธ.ประกาศนโยบายไปแล้วว่าให้ร่วมกับมหาดไทยและพื้นที่ ผู้นำชุมชนให้ช่วยลงไปสำรวจผู้สูงอายุหรือกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้รับวัคซีนให้มารับมากขึ้นและจัดหน่วยบริการเชิงรุกลงไปฉีดถึงบ้านกรณีไม่สามารถเดินทางมารับวัคซีนได้

ถามถึงการติดเชื้อในเด็กเพิ่มขึ้นและมีการเสียชีวิต พญ.สุมนีกล่าวว่า ต้องแบ่งเป็น 2 ช่วงอายุ หากเป็นกลุ่มอายุ 5-11 ปี ซึ่งเข้าโรงเรียนแล้ว มีโอกาสไปเจอเพื่อนที่โรงเรียน ทำกิจกรรมกับเพื่อน ซึ่งมีรายงานติดเชื้อเป็นระยะ โดยผลของการฉีดวัคซีนยังไม่ถึง 50% ในเข็มแรก และไม่ถึง 2% ในเข็มสอง ภูมิคุ้มกันในกลุ่มนี้ยังน้อย ขณะที่เชื้อพัฒนาตนเองตลอดเวลา จึงเสี่ยงติดเชื้อเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ซึ่งเด็ก 5-11 ปีเสียชีวิตเกิน 60% มีโรคประจำตัว ดังนั้น กลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่ควรรับวัคซีน ยิ่งช่วงนี้ปิดเทอม พ่อแม่ผู้ปกครองควรให้เด็กอายุ 5-11 ปีรับวัคซีนมากขึ้น ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีการติดเชื้อและเสียชีวิต ซึ่งยังไม่เข้าข่ายรับวัคซีน มาตรการป้องกันส่วนบุคคลเป็นสิ่งเดียวที่ป้องกันเด็กเล็กได้ เพราะวัคซีนยังไม่อนุมัติใหเใช้กลุ่มนี้ ซึ่ง 90% เด็กเล็กกลุ่มนี้ติดจากคนในบ้านหรือคนรู้จัก เด็กกลุ่มนี้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโควิดจึงมีความเสี่ยงมากกว่าทุกกลุ่มอายุที่รับวัคซีนได้

“ช่วงนี้ปิดเทอม เด็กจะมีการไปเที่ยว แต่หากเด็กในเมืองอาจจะรวมกลุ่มไปร้านเกม ซึ่งเป็นสถานที่อากาศปิด ถือว่ามีความเสี่ยง เพราะอากาศไหลเวียนน้อย มีความแออัดของเด็กไปเล่นเกมที่หนาแน่นมาก ทำให้การแพร่เชื้อง่าย จึงต้องขอความร่วมมือผู้ปกครองไม่ควรให้ออกไปเล่นร้านเกม และเจ้าของกิจการร้านเกมต้องคำนึงความปลอดภัย หากมี 30 เครื่อง อาจลดจำนวนเครื่องลง แม้รายได้ลดลง แต่มีความปลอดภัยมากขึ้น จำกัดเวลาเด็กไม่ให้อยู่ในร้านนาน เพื่อลดความเสี่ยงและให้เด็กไปทำกิจกรรมอื่น มากกว่าไปเล่นเกม” พญ.สุมนีกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น