xs
xsm
sm
md
lg

โควิดแพร่เด็กเล็กมากขึ้น พบ 0-4 ขวบดับแล้ว 27 ราย เหตุมีโรคประจำตัว รักษาช้า เตือนพ่อแม่เช็กอาการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค ห่วงโควิดแพร่เด็กเล็กมากขึ้น พบอายุ 0-4 ปี ดับจากโควิดในระลอกโอมิครอนแล้ว 27 ราย สูงกว่าระลอกก่อน ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว มารักษาช้า ทำให้เสียชีวิต มีคนในบ้านเสี่ยงสูงหรือติดเชื้อ หากลูกมีอาการให้พามาพบแพทย์ทันที ส่วนเด็กอายุ 5-12 ปี ฉีดวัคซีนแล้วอัตราตายต่ำกว่า 0.01% ย้ำแนวทางสกัดโควิด 4 ช่วงสงกรานต์

เมื่อวันที่ 4 เม.ย. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 และคำแนะนำช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ต่ำกว่า 1 แสนโดส คือ 85,734 โดส แสดงว่า อาจจะมีผู้ประสงค์อยากฉีดยังไม่เข้ามาฉีดอีกพอสมควร สำหรับการฉีดเข็มกระตุ้นหรือเข็ม 3 ขณะนี้อยู่ที่ 34.6% ซึ่งเราตั้งเป้าอยากให้ถึง 60-70% ยังอยู่แค่ครึ่งเดียว จึงขอให้ผู้ที่ฉีดเข็มสองเกิน 3 เดือนแล้วมารับวัคซีน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งฉีดเข็มสามเพียง 4.7 ล้านคน ครอบคลุม 37.1% ซึ่งเบื้องต้นคาดการณ์ว่าสงกรานต์ปีนี้ถ้าจะให้ยอดผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตไม่สูงมากนัก ผู้สูงอายุต้องฉีดเข็มสามอย่างน้อย 60% เรมีเวลาอีก 2 สัปดาห์จึงยังทัน ขอให้พาผู้สูงอายุไปรับการฉีดวัคซีนใกล้บ้าน ส่วนเด็กอายุ 5-11 ปี ฉีดเข็มแรกแล้ว 45.5% เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ในส่วนของผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ ถือว่ายังเพิ่มขึ้น แต่หากเทียบกับปี 2564 ถือว่าน้อยกว่ามาก โดยผู้ป่วยปอดอักเสบคิดเป็น 1 ใน 3 ของยอดสูงสุดช่วง ส.ค. 2564 ที่พบเกือบ 6 พันราย และใส่ท่อช่วยหายใจพบประมาณครึ่งหนึ่งของยอดสูงสุดปี 2564 ที่พบ 1.5-1.6 พันราย ทั้งนี้ แม้ผู้ติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและจำนวนมากในหลายจังหวัด แต่ผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจยังไม่มาก แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะการติดเชื้อไม่ลดลงจะทำให้ยอดป่วยปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น ส่วนผู้เสียชีวิตวันนี้รายงาน 97 ราย ส่วนใหญ่มีปอดอักเสบรุนแรงและใส่ท่อช่วยหายใจ เริ่มมีอาการหนักขึ้นและเสียชีวิต เป็นการติดเชื้อจากคนรู้จัก คนในครอบครัว และเพื่อนร่วมงาน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 ถึง 97% ภาพรวมพบอายุน้อยสุด 4 เดือน มากสุด 106 ปี โดยวันนี้มีเด็กเสียชีวิต 2 ราย คือ อายุ 4 เดือน 1 ราย และ 10 กว่าขวบอีก 1 ราย

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สถานการณ์ติดเชื้อโควิดเริ่มแพร่เข้าไปในกลุ่มเด็ก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กที่พบเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อัตราป่วยต่อประชากรแสนคนที่พบสูงที่สุด คือ อายุ 30-39 ปี รองลงมาคือ 20-29 ปี ส่วนกลุ่มอายุ 10-19 ปี เริ่มพบลดลงเนื่องจากปิดเทอม ส่วนกลุ่ม 40 ปีขึ้นไป และเด็กเล็กสถานการณ์ยังคงตัว ส่วนอัตราการเสียชีวิตต้องประชากรแสนคน ยังคล้ายกับ 2-3 เดือนที่แล้ว สูงสุดคือกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป ตามด้วย 60-69 ปี และวัยอื่นก็ลดลงตามกลุ่มอายุ สำหรับเด็กอายุ 0-4 ปี ระลอกโอมิครอนเสียชีวิตแล้ว 27 ราย มากกว่าระลอกที่แล้วที่พบ 23 ราย ซึ่งโอมิครอนมีการแพร่เชื้อเร็วมาก การติดเชื้อในครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่มีการสังเกตอาการเด็กเล็กไม่ค่อยดี จะทำให้กว่าจะตรวจพบว่ามีอาการป่วยทำให้ช้าเกินไป

สำหรับผู้เสียชีวิตในเด็กกลุ่มอายุ 5-9 ปี ระลอกนี้มี 2 ราย อายุ 10-14 ปีมี 3 ราย ถือว่ายังน้อยกว่าระลอกที่แล้วที่พบ 9 ราย และ 13 รายตามลำดับ ส่วนอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนในกลุ่มเด็กอายุ 0-14 ปี ระลอกที่แล้วยังสูงกว่า ขณะที่อัตราตายต่อประชากรแสนคน เนื่องจากระลอกนี้การแพร่เยอะและเร็ว ไปถึงกลุ่มเด็กเล้กที่มีโรคประจำตัว ทำให้อัตราตายและอัตราป่วยตายของเด็กอายุ 0-4 ปีมีจำนวนมากขึ้น โดยผู้เสียชีวิตของเด็กอายุ 0-14 ปี ทั้งระลอก เม.ย. 2564 และระลอก ม.ค. 2565 รวม 104 ราย พบว่า กลุ่มที่มีโรคประจำตัวมีความเสี่ยงกว่ากลุ่มที่ไม่มีโรคประจำตัว จึงขอให้ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวังและสังเกตอาการเด็กที่มีโรคประจำตัวอย่างใกล้ชิด หากมีอาการป่วยผิดปกติแม้เล็กน้อยหรือคนในบ้านเป็นผู้ป่วยหรือสัมผัสเสี่ยงสูงแล้ว ต้องรีบพาเด็กที่เริ่มมีอาการป่วยไปพบแพทย์โดยเร็ว โดยเฉพาะเด็กอายุ 0-4 ปี

“เด็กที่เสียชีวิต 104 ราย พบว่า ระลอกที่แล้วมีเด็กเสียชีวิตที่มีประวัติฉีดวัคซีนแล้ว 2 ราย ส่วนระลอกนี้มีเด็กเสียชีวิตรับฉีดวัคซีน 2 เข็ม 2 ราย และ 1 เข็ม 1 ราย รวม 3 ราย หากรวมกับระลอกที่แล้วก็เป็น 5 ราย แต่ส่วนใหญ่ยังมีประวัติไม่ได้ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะวัยเรียน 5-9 ปี และ 10-14 ปี อาจเกิดขึ้นก่อนเรารณรงค์การฉีดวัคซีนในเด็ก ปัจจุบันก็มีเด็กที่เสียชีวิตที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนด้วยในหลายเคส” นพ.จักรรัฐ กล่าว

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 อายุ 0-18 ปีในประเทศไทย ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากยังไม่ได้รับวัคซีน เพราะกำหนดฉีดอายุ 5 ปีขึ้นไป จนกว่าจะมีวัคซีนที่เหมาะกับกลุ่มเด็กเล็ก พบว่า การป่วยและความรุนแรงของโรคกลุ่มเด็กเล็ก 0-6 เดือน เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ที่ป่วยแล้วจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มวัยอื่นที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วนอายุ 5-12 ปี การเสียชีวิตค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะระลอกนี้ มีเพียง 3 ราย น้อยกว่า 0.01% เพระาฉะนั้น กลุ่มวัยเรียนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปการรับวัคซีนจะช่วยป้องกันการป่วยหนักได้อย่างดี

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สรุปปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่มีผลต่อการระบาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น ในส่วนของกลุ่มเสี่ยงป่วยหนัก มี 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้สูงวัย หลายคนบอกว่าไม่ได้ออกไปไหน ไม่มีใครมาพบ หรือนอนติดเตียง ส่วนใหญ่กลุ่มนี้ที่เสียชีวิตจะรับเชื้อจากผู้ดูแล ญาติในบ้าน ผู้ที่มาเยี่ยมและนำเชื้อมาให้ 2.กลุ่ม 608 ที่ยังทำงานได้ หากไมได้ฉีดวัคซีนจะเสี่ยงสูง เพราะมีการพบปะผู้คนต่างๆ ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการไปสังสรรค์กับเพื่อน อาจจะแอโรบิกหรือกิจกรรมร่วมกันของกลุ่มสูง หรือติดเชื้อจากคนรู้จักหรือญาติ หรืออาจไปสถานที่แออัด คนจำนวนมาก เช่น ตลาด ร้านอาหาร เป็นต้น และ 3.เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี จากข้อมูลเสียชีวิตพบว่า 60% มีปัจจัยเสี่ยงจากการสัมผัสใกล้ชิดคนในครอบครัวและญาติ อาจจะมาหอมแก้มดูแลเด็ก ส่วน 40% อาจจะระบุไม่ได้ อาจจะมีการพาออกไปข้างนอกแล้วติดเชื้อ ลูกหลานแรงงานต่างด้าวหลายรายติดเชื้อป่วยและรับการรักษาไม่ทัน สำหรับเด็กวัยเรียนมีการติดเชื้อสูงแต่ลดลงจากปิดเทอม และวัยทำงานที่ติดเชื้อสูง 2 กลุ่มนี้สำคัญที่ติดเชื้อแล้วอาจแพร่ต่อ 3 กลุ่มเสี่ยงได้

สำหรับสถานที่เสี่ยงและกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดวงกว้าง คือ 1. ดื่มเหล้า รับประทานอาหารร่วมกัน เนื่องจากไม่ได้สวมหน้ากาก ในสถานที่ปิดที่การระบายอากาศไม่ดี รวมถึงการรับประทานร่วมกันในบ้าน ดังนั้น แม้คนในบ้านจะไม่ค่อยออกนอกบ้านก็ต้องฉีดวัคซีน 2. การร่วมงานหรือกิจกรรมที่มีผู้คนแออัด ไม่มีมาตรการควบคุมโรคไม่ดีหรือรัดกุมไม่เพียงพอ และ 3.ขนส่งสาธารณะ รถโดยสารที่แออัด อาจทำให้ติดเชื้อได้ แม้วัยทำงานและวัยเรียนที่ฉีดวัคซีนแล้วไม่มีอาการ แต่อาจนำเชื้อกลับไปแพร่คนอื่นต่อได้ การปฏิบัติตัวสำคัญ คือ มาตรการทำความสะอาดในขนส่งสาธารณะ การไปพบผู้สูงอายุ โรคเรื้อรัง สวมหน้ากากอนามัย ตรวจ ATK ว่าลบจะได้มั่นใจมากขึ้น การโดยสารขนส่งสาธารณะในช่วงที่ไม่สวมหน้ากากค่อนข้างนาน เช่น ดื่มน้ำนานไป ก้มีความเสี่ยงสูงขึ้น เพระาฉะนั้น การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคขณะโดยสารเป็นสิ่งสำคัญ

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ในช่วงสงกรานต์จึงมี 4 ช่วงหลัก คือ 1. เตรียมตัวก่อนร่วมงานก่อนเดินทาง ขอให้ฉีดวัคซีน เพราะหากป่วยจะไม่ป่วยหนัก ให้ผลตรวจ ATK เป็นลบก่อนไปรวมงานกิจกรรมที่มีคนมาก จะได้ไม่เอาเชื้อไปแพร่ให้คนอื่น หากบวกก็จะต้องหยุดอยู่กับบ้านเพื่อกักตัว สวมหน้ากากอนามัยและสังเกตว่าสถานที่ที่ไปหรือไปร่วมมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคดี เช่น เว้นระยะห่าง ลงทะเบียนล่วงหน้า หรือตรวจ ATK ก่อนเข้าร่วมงาน มีการทำความสะอาดที่ดี 2. ระหว่างเข้าร่วมงานสงกรานต์ สถานที่จัดงานส่วนใหญ่มักมีมาตรการควบคุมโรค ที่ห้ามตอนนี้ คือ ประแป้ง ปาร์ตี้โฟม ที่ทำให้ใกล้ชิดกันเกินไป รวมถึงการดื่มเหล้าทานข้าวร่วมกันจำนวนมากมีความเสี่ยงสูง 3. กิจกรรมในครอบครัว เช่น รดน้ำดำหัว การรับประทานอาหารร่วมกัน ให้สวมหน้ากากมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ระหว่างทานข้าวก็เว้นระยะห่างมากขึ้น รวมถึงใช้เวลาให้สั้นลง เพื่อลดความเสี่ยงแพร่ต่อบุคคลอื่น และ 4.หลังกลับจากสงกรานต์ ให้สังเกตอาการตนเองช่วง 5-7 วันแรกก่อนกลับไปทำงานว่าไม่ป่วย งดพบปะผู้คนจำนวนมาก และตรวจ ATK ผลเป็นลบ สำหรับสถานประกอบการที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก อยากให้พิจารณาพนักงาน Work From Home เป็นชุดๆ หรือบางส่วน 5-7 วันก่อนกลับเข้าไปทำงานเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดในสถานที่ทำงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น