xs
xsm
sm
md
lg

แจงจัดงานสงกรานต์ “ข้าวสาร-ข้าวเหนียว” ได้ ต้องขอ จว.ห่วงเข้มไม่พอ อาจติดโควิดพุ่งแสนราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วธ.แจงจัดงานสงกรานต์ถนนข้าวสาร-ข้าวเหนียว ต้องขอ คกก.โรคติดต่อจังหวัด อนุมัติ วธ.แค่กำกับให้จัดงานตามประเพณี ด้าน สธ.ย้ำจัดงานระดับชุมชนให้ขอตำบลหรือเขต ส่วนงานใหญ่ต้องขอจังหวัด ห้ามสาดน้ำ ประแป้ง ปาร์ตี้โฟม ขายดื่มเหล้า เข้มมาตรการป้องกันโรค หวั่นย่อหย่อน อาจติดเชื้อพุ่งหลักแสนราย หากคุมได้จะอยู่ระดับ 2-5 หมื่นรายต่อวัน

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวสงกรานต์วิถีใหม่ ป้องกันโควิด ว่า อีก 3 สัปดาห์จะเข้าสู่ช่วงสงกรานต์ ด้วยสถานการณ์โควิดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 2 หมื่นรายต่อวัน หลายคนจึงวิตกกังวล ซึ่งผลสำรวจ Anamai Event Poll วันที่ 13-24 มี.ค. 2565 พบ 77% กังวล เนื่องจากอาจติดเชื้อจากการรวมกลุ่มในสถานที่ต่างๆ จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศยังสูง และอาจติดเชื้อจากการรวมกลุ่มสังสรรค์ในครอบครัว/บ้าน ส่วน 23% ไม่กังวล เพราะมั่นใจป้องกันตนเองได้ดี ไม่ได้ไปสถานที่เสี่ยง และอยากใช้ชีวิตตามปกติ ส่วนสถานที่ที่กังวลว่ามีความเสี่ยงสูงที่สุดคือ ร้านอาหาร 61% สถานที่ท่องเที่ยว 55% ห้างสรรพสินค้า 54% สถานที่จัดกิจกรรมอีเวนต์งานสงกรานต์ 53% ขนส่งสาธารณะ 53% ห้องน้ำสาธารณะ 52% ส่วนแผนกิจกรรมที่จะทำช่วงสงกรานต์ ส่วนใหญ่ 50% อยู่บ้าน 34% ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระที่วัด 31 % รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และ 22% สังสรรค์กินข้าวกับครอบครัว/เพื่อน

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า หากพิจารณาสถานการณ์โควิดขณะนี้ คาดว่า ยังมีการระบาดต่อเนื่อง และจะอยู่ในระดับสูงคงตัวช่วงเทศกาล เนื่องจากมีการเคลื่อนของผู้คนจำนวนมาก มีกิจกรรมทั้งในครอบครัวและนอกบ้าน และมีกิจกรรมเสี่ยงจะพบผู้ติดเชื้อทั้งรายบุคคลและเป็นกลุ่มก้อน หากดำเนินมาตรการ COVID Free Setting และมาตรการป้องกันตนเองสูงสุดได้ดี ไม่ย่อหย่อน ผู้ติดเชื้อรายใหม่จะอยู่ระหว่างเส้นสีเขียวถึงเส้นสีเหลืองของฉากทัศน์ที่คาดการณ์ คือ 2-5 หมื่นรายต่อวัน แต่หากไม่ดำเนินมาตรการต่างๆ ผ่อนคลายการป้องกันโรค จะพุ่งเป็นเส้นสีแดงถึงแสนรายได้ แต่หากยังเคร่งครัดมาตรการจะรับมือได้ ทั้งนี้ ยังเน้นฉีดวัคซีนให้ครบกำหนด เลี่ยงสถานที่เสี่ยงหรือกิจกรรมเสี่ยง และตรวจ ATK เมื่อสงสัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ลูกหลานกลับมาเยี่ยม และกลุ่มมีโรคเรื้อรัง ขอให้รับวัคซีนให้ครบ

นายสมชาย ตู้แก้ว ผอ.กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจัยที่เอื้อต่อการจัดงานสงกรานต์ในปีนี้ คือ ประชาชนรับวัคซีนครอบคลุมมากขึ้น เชื้อลดระดับความรุนแรง มีการผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเตรียมพร้อมปรับเข้าสู่โรคประจำถิ่น กิจกรรมรวมกลุ่มที่จัดได้ในครอบครัว คือ สรงน้ำพระ รดน้ำขอพร รับประทานอาหารร่วมกัน แต่ให้จัดในพื้นที่โล่งระบายอากาศดี สวมหน้ากาก งดกิจกรรมสัมผัสใกล้ชิด งดใช้สิ่งของร่วม ใช้เวลาจัดกิกรรมให้น้อยสุด ส่วนกิจกรรมที่จัดได้ในชุมชนต้องแจ้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคตำบล (ศปก.ต.) หรือศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอำเภอ (ศปก.อ.) รับทราบเพื่อกำกับติดตามอย่างเหมาะสม กิจกรรมที่ทำได้ เช่น สรงน้ำพระ ขอให้นำอุปกรณ์ส่วนตัวไปเอง งดนำน้ำที่สรงแล้วไปใช้ต่อ ทำบุญตักบาตร รดน้ำดำหัว

สำหรับกิจกรรมรวมกลุ่มขนาดใหญ่จะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เช่น ประเพณีหรือการละเล่นท้องถิ่น ขบวนแห่ เล่นน้ำ แสดงดนตรี การแสดงทางวัฒนธรรม กิจกรรมที่ห้ามทำ คือ ปาร์ตี้โฟม ประแป้ง ดื่มหรือจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กิจกรรมต่างๆ ให้ยึดหลัก COVID Free Setting และมาตรการ DMHTA หลังกลับจากเทศกาลให้สังเกตอาการตนเอง 7-10 วัน หากพบมีอาการมีความเสี่ยงให้ตรวจ ATK ผลเป็นลบให้ตรวจซ้ำเมื่อครบ 7 วัน หรือมีอาการ เลี่ยงพบปะผู้คนโดยไม่จำเป็น และทำงานที่บ้าน

นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การจัดกิจกรรมที่ถนนข้าวสาร ถนนข้าวเหนียว จัดได้หรือไม่ ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือ กทม. กระทรวงวัฒธรรม ไม่ได้เป็นผู้อนุมัติ เพียงกำกับรณรงค์การจัดกิจกรรมภายใต้วิถีประเพณีวัฒนธรรมไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น