สธ.เผยพื้นที่ กทม.“โควิด” ยังระบาดต่อเนื่อง เหตุสัมผัสผู้ป่วย สังสรรค์ เสียชีวิต 8-12 รายต่อวัน ส่วนใหญ่สูงอายุ มีโรค ไม่ได้ฉีดวัคซีน เร่งฉีดกลุ่มต่างด้าว เปิด 6 ศูนย์นอก รพ.สำหรับคนทั่วไป และฉีดเชิงรุกถึงบ้าน พรุ่งนี้เคาะมาตรการสงกรานต์ คาดงดสาดน้ำ ประแป้ง อาจเปิดดื่มเหล้าในร้าน SHA + พ่วงคุมเวลา
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. นพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด-19 และหน่วยฉีดวัคซีนเพื่อกลุ่ม 608 ใน กทม. ว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 พื้นที่ กทม. เมื่อวันที่ 27 มี.ค. รายงานผู้ติดเชื้อ 2,792 ราย กระจายทุกกลุ่มอายุและเกือบทุกเขตของ กทม. ส่วนผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก ผู้เสียชีวิตรายงาน 8 ราย สำหรับข้อมูลผู้เสียชีวิตในพื้นที่ กทม. ระลอกโอมิครอน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 27 มี.ค. 2565 รวมจำนวน 445 ราย กระจายในทุกเขต ส่วนใหญ่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว และไม่ได้รับวัคซีน โดยเกือบ 3 ใน 4 เป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนและรับวัคซีนยังไม่ครบถ้วน
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. พบว่า การฉีดเข็มแรกและเข็มสอง ครอบคลุมเกิน 100% คือ เข็มแรก 116.15% และเข็มสอง 105.7% แต่เข็มกระตุ้นหรือเข็มสาม ยังอยู่ที่ 61.98% โดยเฉพาะกลุ่มติดบ้านติดเตียงและกลุ่มเสี่ยง 608 จึงอยากเน้นย้ำกลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวและสูงอายุควรรับวัคซีนเข็มกระตุ้นหากรับวัคซีนครบตามเวลา โดยสถานที่รับวัคซีน กรมควบคุมโรคร่วมกับ กทม.และหน่วยงานต่างๆ จัดหน่วยบริการฉีดวัคซีน 3 กิจกรรมหลัก คือ
1. กรมควบคุมโรค ร่วมกับ กทม. องค์การอนามัยโลก ภาคเอกชนและจิตอาสา ล่ามภาษาต่างด้าว จัดหน่วยเชิงรุกฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นและเข็ม 1-2 ให้แก่แรงงานต่างด้าวที่อยู่ใน กทม. โดยหากเห็นรถสนับสนุนการฉีดวัคซีนในจุดใด ขอเข้ารับบริการได้ทันที โดยเราเตรียมวัคซีนเกินกว่าจำนวนที่มีการประสานไว้ในการลงพื้นที่ต่างๆ ไว้
2. สถานพยาบาลของ กทม.ทุกแห่ง มีจุดบริการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ ยังมี 6 ศูนย์ใหญ่ที่ กทม.ดำเนินการฉีดวัคซีนให้ คือ ธัญญาพาร์ค, เซ็นทรัลพระราม 3, เซ็นทรัลปิ่นเกล้า, เซ็นทรัลอีสต์วิลล์, โรบินสันลาดกระบัง และศูนย์ฉีดวัคซีน ณ อาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ทุกคนสามารถเข้ารับบริการฉีดเข็ม 1 2 และเข็มกระตุ้น โดยลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน QueQ หรือวอล์กอินได้เลย หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ขอให้ไปฉีดที่ศูนย์ฉีดวัคซีนอาคารกีฬาเวสน์ที่มีวัคซีนสำหรับเด็กโดยเฉพาะ
3. กรมควบคุมโรคร่วมกับ กทม.จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วบริการฉีดวัคซีน สำหรับผู้สูงอายุ หรือกลุ่มโรคประจำตัวติดบ้านติดเตียง ซึ่งศูนย์บริการสาธารณสุขแต่ละพื้นที่จะติดต่อประสานแต่ละชุมชนเพื่อลงให้บริการ หากได้รับการประสาน ขออย่าลังเลที่จะฉีดเข็มกระตุ้น
“สรุปสถานการณ์การติดเชื้อของ กทม.ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังพบการระบาดอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเสี่ยงยังเป็นลักษณะเดิม จะเกิดการระบาดมากในการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยัน การเดินทางหรือปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยง แหล่งชุมชน ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะการรับประทานอาหารร่วมกันหรือสังสรรค์ แต่ผู้เสียชีวิตจำนวนมากขึ้น แต่ไม่เหมือนระลอกก่อนๆ ซึ่งขณะนี้ต่อวันอยู่ที่ 8-12 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว สำคัญคือไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หากมีความเสี่ยงให้รับบริการฉีดวัคซีน เน้นย้มาตรการป้องกันตนเอง เพื่อให้ปลอดภัยจากการติดโรค” นพ.สุทัศน์ กล่าว
เมื่อถามถึงมาตรการสงกรานต์ในพื้นที่ กทม. นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า วันนี้มีการประชุม ศปก.ศบค. ซึ่งมีการวางแนวทางภาพใหญ่ออกมา โดยพรุ่งนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. เพื่อนำแนวทางนั้นมาปรับใช้ออกมาเป็นมาตรการ เบื้องต้นการจัดกิจกรรมสงกรานต์สามารถทำได้ แต่การสาดน้ำ ประแป้งจะงดอยู่
“มาตรการยังไม่สะเด็ดน้ำ แต่แนวโน้มก็จะผ่อนคลายมากขึ้น แต่ยังห้ามเล่นน้ำอยู่ ขณะที่การดื่มแอลกอฮอล์ยังไม่ได้หารือกัน แต่แนวโน้มน่าจะผ่อนคลายมากขึ้น ทั้งนี้ การอยู่รวมกลุ่ม ดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นความเสี่ยง ขณะนี้มีหลายความคิดเห็น ทั้งที่อยากให้ดื่ม ไม่อยากให้ดื่ม แต่คาดว่า สุดท้ายออกมาจะให้บริโภคได้ในสถานบริการที่ได้รับรองจาก SHA+ รวมถึงมีการกำหนดเวลา แต่การรวมกลุ่มตั้งวง อาจจะไม่แนะนำ” นพ.สุทัศน์ กล่าว
สำหรับผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ใน กทม. ไม่มีอาการจัดอยู่ในกลุ่มสีเขียว ส่วนกลุ่มสีเหลืองและแดงมีน้อยมากๆ อัตราการครองเตียงปัจจุบัน 30-40% เป็นสีเขียว ซึ่งต้องเน้นย้ำว่าผู้ติดเชื้ออาการน้อยรักษาตามอาการได้ พักอยู่ที่บ้านหรือชุมชนได้ บางรายไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ ก็หายได้เอง ซึ่งต้องย้ำในเรื่องข้อระวังการใช้ยาในผู้ที่อาการน้อย อาจจะเกิดภาวะดื้อยาได้