“อนุทิน” จ่อฉีดวัคซีนโควิดเข็ม 4 แบบครึ่งโดส ย้ำคนกลับบ้านช่วงสงกรานต์ให้รีบเคลียร์ความเสี่ยง เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. ป้องกันนำเชื้อกลับไปฝากคนที่บ้าน เบรกสาดน้ำสงกรานต์ข้าวสาร ยังเป็นความเสี่ยง ย้ำจัดงานได้บนมาตรการ ขอให้อดทนอีกปี ร่วมกันลดติดเชื้อจำนวนมากหลังสงกรานต์ เดินหน้าเข้าสู่โรคประจำถิ่น
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงมาตรการรองรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ ว่า ยังเน้นย้ำมาตรการส่วนบุคคล โดยผู้ที่จะเดินทางช่วงสงกรานต์ให้ทำ Self Clean up ให้ตัวเองห่างจากความเสี่ยง แนะนำให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เพื่อที่การเดินทางกลับบ้านจะได้ไม่นำของฝากกลับไปด้วย ทั้งนี้ ตนก็ต้องทำเช่นนี้ เพื่อลดความเสี่ยงก่อนเดินทางพบผู้สูงอายุ ที่สำคัญคือ วัคซีนเข็มกระตุ้น หากใครรับเข็ม 3 นานมากกว่า 3 เดือนให้ไปรับเข็ม 4 ได้เลย อย่างวันนี้ตนจะรับเข็ม 4 แบบครึ่งโดส เป็นชนิด mRNA เพราะเราต้องดูแลตัวเอง เนื่องจากรับเข็ม 3 มาตั้งแต่ พ.ย. 2564 ก็นานเกิน 3 เดือนแล้ว การฉีดวัคซีนป้องกันตัวเอง ก็ป้องกันคนอื่นด้วย
ถามถึงคาดการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อหลังสงกรานต์ อาจติดเชื้อหลักแสนรายหากไม่มีมาตรการอะไร จะกระทบต่อแผนปรับเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า การจะทำโควิดเป็นโรคประจำถิ่น มีหลายปัจจัย ไม่ใช่เพียงการติดเชื้ออย่างเดียว ต้องมีความพร้อมด้านสาธารณสุข จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนการครองเตียง และผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ถ้าติดเชื้อหลักแสนราย แน่นอนว่าควบคุมได้ยาก แต่ต้องควบคุมไม่ให้เกิดอาการหนัก รักษาหายในเวลาอันสั้น มีระบบสาธารณสุขรองรับ
“ขณะนี้ความเป็นปกติเพิ่มมากขึ้น สำหรับมาตรการที่ผ่อนคลายได้ กรมควบคุมโรคก็ผ่อนอยู่แล้ว และต้องจัดหาบุคลากรเพื่อควบคุมสถานการณ์หลังผ่อนคลาย ดังนั้น หากตรงไหนที่พอทำได้ เราก็คลายน็อต แต่ถ้ามีความเสี่ยงสูงเราก็ต้องขันนอต” นายอนุทิน กล่าว
ถามถึงกรณีการเสนอให้มีการเล่นสาดน้ำในถนนข้าวสาร นายอนุทิน กล่าวว่า ตนคิดว่าเรายังมีความจำเป็นในการลดความเสี่ยงหลายด้าน โควิดไปกับคน ติดได้จากการสัมผัส ใช้ภาระร่วมกัน ดังนั้น การสาดน้ำที่ต้องมีการสนุกสนาน ก็เป็นความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม มาตรการสงกรานต์ปีนี้เราไม่ได้ปิด ยังสามารถพบปะกันได้ ขอให้อดทนสักปี เรากำลังเดินเข้าสู่โรคประจำถิ่น ที่ไม่ใช่การประกาศไปอย่างเดียว แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนด้วย เราตั้งใจจะเข้าสู่โรคประจำถิ่นก็พยายามอย่าไปเพิ่มความเสี่ยงในปัจจัยอื่นๆ แล้วเมื่อเป็นโรคประจำถิ่นแล้วทุกอย่างก็จะคลี่คลายไปได้เยอะ