xs
xsm
sm
md
lg

เปิดชัดๆ เกณฑ์อาการ “โควิด” เขียว-เหลือง-แดง ก่อนเริ่ม UCEP Plus 16 มี.ค.นี้ จ่อปรับลดวันรักษาเหลือ 7 บวก 3

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดชัดๆ เกณฑ์อาการโควิด” เขียว-เหลือง-แดง ปลัด สธ.ยัน UCEP Plus เริ่ม 16 มี.ค.นี้ ไม่กระทบประชาชน กลุ่มสีเขียว รักษา รพ.ตามสิทธิฟรี ส่วน สีเหลือง-สีแดง ถือเป็นฉุกเฉิน รักษาฟรีทุก รพ. สบส.ทำความเข้าใจ รพ.เอกชนแล้ว เล็งปรับจำนวนวันรักษาใน รพ.จาก 10 วัน เป็น 7+3 ส่วน “ยาโมลนูพิราเวียร์” เข้าไทยแล้ว เล็งใช้ทั้งกลุ่ม 608 และคนทั่วไป เพื่อเทียบกับฟาวิพิราเวียร์

เมื่อวันที่ 15 มี.ค. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึง UCEP Plus ผู้ติดเชื้อโควิด 19 อาการสีเหลือง สีแดง เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถรักษาโรงพยาบาลได้ทุกแห่ง เริ่มวันที่ 16 มี.ค. นี้ ว่า เรื่อง UCEP Plus เป็นวิธีการเบิกจ่ายเงินเท่านั้น ไม่มีผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากผู้ติดเชื้อโควิดกลุ่มสีเขียว ที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ก็จะเหมือนกับการป่วยโรคอื่นทั่วไปที่สามารถไปรับบริการที่สถานพยาบาลตามสิทธิสุขภาพของตนเองได้ฟรี ซึ่งยังใช้ระบบรักษาที่บ้าน/ชุมชน (HI/CI) และฮอสปิเทลได้เช่นเดิม เพียงแต่ไม่สามารถเข้าไปยังทุกโรงพยาบาลได้ตามเดิม เนื่องจากไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินแล้ว ซึ่งเราลดภาวะฉุกเฉินอาการสีเขียวลง ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการสีเหลืองสีแดงยังถือว่าฉุกเฉิน สามารถไปได้ทุก รพ. ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ก็กำหนดลักษณะอาการของผู้ติดเชื้อโควิดกลุ่มสีเหลืองและแดงแล้ว ก็จะมีการประชาสัมพันธ์ให้เข้าใจมากขึ้น

“ขณะนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้เชิญ รพ.เอกชนต่างๆ เข้ามาประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ ชี้แจงเรื่อง UCEP Plus แล้ว ซึ่ง รพ.เอกชนก็สามารถให้บริการผู้ป่วยนอกแบบ (OPD) เจอ แจก จบ ได้เช่นกัน ซึ่งทางกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ทำอัตราเบิกจ่ายสำหรับเจอ แจก จบ แล้ว รายละ 1 พันบาท และค่าบริการหลังติดตาม 48 ชั่วโมง อีกรายละ 300 บาท ซึ่งดูแลแบบผู้ป่วยนอกถือว่าทำได้ง่าย และปิดเคสได้เร็ว” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว


นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับการรักษาโควิดใน รพ.นั้น ต่างประเทศมีการกำหนดระยะเวลารักษาทั้ง 3 วัน 5 วัน ส่วนประเทศไทยใช้เวลา 10 วัน ซึ่งจะมีการหารือปรับลดเป็น 7 บวก 3 ซึ่งการปรับลดลงลงมา ยืนยันว่าจะต้องมีความปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันเรามีข้อมูลทางวิชาการมากขึ้นก็อาจจะทำให้จำหน่ายผู้ป่วยได้เร็วขึ้น จะได้มีคุณภาพชีวิตที่ขึ้น และไม่จำเป็นต้องไปนอน รพ. เพื่อการบริหารเตียงและการปรับตามสถานการณ์ของโรค เนื่องจากโรคเริ่มเบาแล้ว แนวโน้มการติดเชื้อก็เป็นไปตามฉากทัศน์ที่คาดการณ์ฉากไว้ สำหรับยารักษาผู้ป่วยโควิด 19 ขณะนี้ยาโมลนูพิราเวียร์เข้ามาแล้ว จะช่วงแรกกรมการแพทย์จะใช้ในกลุ่ม 608 เป็นหลัก แต่ได้เสนอให้นำมาใช้ในกลุ่มคนทั่วไปด้วย เพื่อเปรียบเทียบกับการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ใช้อยู่ เนื่องจากประเทศไทยมีแหล่งจัดหายาโมลนูพิราเวียร์จากจีนและอินเดียในราคาที่พอเหมาะกับการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ ส่วนยาแพกซ์โลวิดก็กำลังจะเข้ามา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จัดทำลักษณะอาการของผู้ป่วยโควิด 19 แต่ละกลุ่มอาการ ดังนี้ 1.ผู้ป่วยสีเขียว อาการ ได้แก่ ไม่มีอาการ มีไข้อุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่รับกลิ่น ไอมีน้ำมูก เจ็บคอ ตาแดง มีผื่น ถ่ายเหลว กลุ่มนี้รักษาฟรีใน รพ.ตามสิทธิ ทั้งบัตรทอง ข้าราชการ และประกันสังคม กรณีทำงานต่างพื้นที่สามารถเข้า รพ.เครือข่ายสิทธิสุขภาพได้ การรักษาในกักตัวที่บ้าน HI ในชุมชน CI และโครงการเจอ แจก จบที่หน่วยบริการใกล้บ้าน

2. ผู้ป่วยสีเหลือง อาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย ปอดอักเสบ ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน เด็กมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ไม่ดื่มนม หรือทานอาหารน้อยลง กลุ่ม 608 ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ อ้วน น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม การรักษา คือ รักษาฟรีใน รพ.ตามสิทธิหรือ UCEP Plus ฟรีทุก รพ.ทั้งภาครัฐและเอกชน

และ 3. ผู้ป่วยสีแดง อาการ หอบเหนื่อย พูดไม่เป็นประโยคขณะสนทนา แน่นหน้าอก หายใจเจ็บหน้าอก ปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะช็อก มีภาวะโคมา ซึมลง มีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียสนานกว่า 24 ชั่วโมง และค่าออกซิจนน้อยกว่า 94% รักษาฟรีใน รพ.ตามสิทธิ หรือใช้สิทธิ UCEP Plus รักษาฟรีทุก รพ.ทั้งภาครัฐและเอกชน


กำลังโหลดความคิดเห็น