xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 3 เงื่อนไขอาการ "เหลือง-แดง" ใช้สิทธิ UCEP COVID Plus ได้ ส่วนสีเขียวรักษาฟรีตามสิทธิ เริ่ม 16 มี.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เริ่ม UCEP COVID Plus 16 มี.ค.นี้ "เหลือง-แดง" รักษาฟรีทุกที่ หากส่งต่อแล้วไม่ไปหรือจะไปรักษาที่อื่น ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ส่วนสีเขียวรักษาฟรีตามสิทธิ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคม ใน รพ.ทุกแห่งของเครือข่าย ไม่จำเป็นต้องเป็น รพ.ประจำ เผย 3 เงื่อนไขอาการเข้าเกณฑ์ "เหลือง-แดง" ใช้สิทธิ UCEP Plus รพ.เอกชน

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลง UCEP COVID Plus และการเข้ารับบริการตามสิทธิ ว่า ตั้งแต่มีโควิด 19 เมื่อ 2 ปีก่อน เราประกาศให้โควิดไปรักษาที่ไหนก็ได้ (UCEP COVID) ส่วนใหญ่จึงไป รพ.ใหญ่ ทำให้ต้องมาดูแลโควิดเป็นหลัก กระทบต่อการรักษาโรคอื่นๆ เช่น มะเร็ง โรคตับ โรคไต แต่ปัจจุบันลักษณะโรคมีความรุนแรงลดลง จึงปรับวิธีมาเน้นการรักษาที่บ้าน (HI) เป็นหลัก และล่าสุดมีแบบผู้ป่วยนอก (OPD) รวมถึงมีแนวคิดให้ผู้ติดเชื้อโควิดกลับไปสู่การรักษาตามสิทธิ ส่วนกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตโควิดยังใช้สิทธิ UCEP COVID Plus รักษาได้ทุก รพ. ซึ่งจะมีผลวันที่ 16 มี.ค.นี้ โดย ครม.มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต กรณีผู้ป่วยโควิด 19 แล้ว

นพ.ธเรศกล่าวว่า UCEP ปกติ คือ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตระดับสีแดง ทั้งอุบัติเหตุหรือภาวะต่างๆ ที่อันตรายถึงชีวิตเข้ารักษา รพ.ใดก็ได้ทั้ง รพ.รัฐและ รพ.เอกชน โดยต้องรักษาจนพ้นวิกฤตหรือครบ 72 ชั่วโมงแล้วกลับส่ง รพ.ต้นสังกัด ไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยจะเรียกเก็บจาก สปสช. ส่วน UCEP Plus กรณีโควิด ที่จะเริ่มวันที่ 16 มี.ค.นี้ สถานพยาบาลจะเป็นผู้คัดแยกระดับอาการ กรณีเป็นสีเหลืองและสีแดง เข้ารักษา รพ.ใดก็ได้ ข้อดีคือสามารถอยู่รักษาจนหาย ไม่ต้องครบ 72 ชั่วโมงแล้วส่งกลับแบบ UCEP ตามปกติ ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกและมั่นใจในการรักษามากขึ้น โดยทั้งหมดไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะรวมค่าห้องปฏิบัติ ค่ารักษา และการส่งต่อแล้ว แต่หากมีประกันชีวิตหรือวินาศภัยก็ให้ใช้สิทธิดังกล่าวก่อน ส่วนกรณีจำเป็นสามารถส่งต่อได้ เช่น เกินศักยภาพ รพ. หรือส่งต่อให้ รพ.ในเครือข่ายที่จัดไว้สำหรับโควิดสีเหลืองสีแดง ซึ่งไม่เสียค่าใชเจ่ายเช่นกัน แต่หากผู้ป่วยหรือญาติปฏิเสธ หรือประสงค์จะไปรักษาที่ รพ.อื่น จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง

สำหรับกลุ่มอาการสีเขียว เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งการดูแลแบบ HI , Hotel Isolation ฮอสปิเทล ยังมีอยู่ ไม่ได้มีการยกเลิก ทั้งนี้ กรณีอาการรุนแรงขึ้นจนเป็นสีเหลืองหรือสีแดง สามารถส่งต่อไปยัง รพ.ที่ดูแลได้ โดยใช้สิทธิ UCEP Plus


ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า หลักเกณฑ์พิจารณา UCEP ปกติ ใช้กรณีฉุกเฉินวิกฤต เช่น หมดสติไม่ รู้สึกตัว หัวใจหยุดเต้น หายใจหอบเหนื่อย หรืออาการแขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน เป็นต้น ส่วนกรณี UCEP COVID Plus ทาง สพฉ.ได้จัดทำเกณฑ์การประเมินคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตกรณีโรคโควิด 19 เพิ่มเติม หลักๆ คือ มีการตรวจพบผลบวก ทั้ง ATK หรือ RT-PCR ร่วมกับอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ 1.ภาวะหัวใจหยุดเต้น มีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจ หายใจลำบากเฉียบพลัน มีภาวะช็อก มีภาวะโคมา ซึมลง เมื่อเทียบกับระดับความรู้สึกเดิมที่มีอยู่แล้ว หรือกำลังชักเมื่อแรกรับที่จุดคัดแยก

หรือ 2.มีอาการไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียสมากกว่า 24 ชั่วโมง หรือหายใจเร็วมากกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ หรือออกซิเจนในเลือดเมื่อตอนแรกรับน้อยกว่า 94% หรือโรคประจำตัวที่เปลี่ยนแปลงหรือจำเป็นต้องรับการติดตามใกล้ชิดตามดุลยพินิจของแพทย์ หรือในเด็กหากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือกินอาหารน้อยลง หรือมีภาวะพร่องออกซิเจน โดยลดต่ำลงกว่าภาวะปกติ 3% หรือผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงตามดุลยพินิจของแพทย์ หรือ 3. มีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย คือ มีอาการเหนื่อยหอบ หากยใจเร็ว มีปัจจัยเสี่ยงอาการรุนแรงหรือโรคร่วม เช่น อายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรังอื่นๆ ไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่คุมไม่ได้ ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน 90 กิโลกรัม หญิงตั้งครรภ์ ตับแข็ง ภูมิคุ้มกันต่ำ และเม็ดเลือดขาวน้อยกว่า 1,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร อื่นๆ หรือตามดลยพินิจของผู้คัดแยก

สำหรับขั้นตอนการใช้บริการ UCEP Plus เหมือนปกติ คือ โทรแจ้ง 1669 หากเข้า รพ.รัฐจะเข้าสู่ระบบปกติของรัฐ แต่ถ้าไป รพ.เอกชนก็จะเข้าสู่ UCEP Plus ทาง รพ.จะประเมินอาการและรักษาเบื้องต้น และ รพ.จะแจ้งมายัง สพฉ.ผ่านโปรแกรม PA และกรอกอาการเข้ามา ถ้าเข้าตามเกณฑ์ดังกล่าวถือว่าเข้าเกณฑ์ ก็จะสามารถใช้สิทธิได้เลย กรณีไม่เข้าเกณฑ์ อาจจะกรณีสีเขียวของโควิดก็จะใช้ไม่ได้ เว้นแต่เข้าไปรักษาแล้วอาการแย่ลง เป็นสีเหลืองและแดงจะเข้าเงื่อนไขด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ สพฉ.เตรียมศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไว้ หากมีข้อติดขัดข้อสงสัยการใช้สิทธิ หรือเข้าสถานพยาบาลแล้วประเมินไม่ได้รับสิทธิ แต่คิดว่าควรรับสิทธิ อาจประสานมายังศูนย์ได้ผ่าน 02-872-1669 หรือสถานพยาบาลเอกชน 300 กว่าแห่ง ก็ใช้หมายเลขนี้ประสานงาน สพฉ.เรื่องการกรอกข้อมูลโปรแกรม PA หากมีข้อติดขัด


ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คนมีสิทธิบัตรทองเมื่อป่วยไม่ว่าโรคอะไรหรือโควิดก็เข้ารับบริการได้ตามปกติ ข้อมูลที่ผ่านมาตั้งแต่มีโควิด มีการรักษาจนถึงสิ้นเดือน ก.พ. มีจำนวน 768,491 ครั้ง คิดเป็นอาการสีเขียว 88% สีเหลือง 11% และสีแดง 1% และตอนนี้สายพันธุ์เป็นโอมิครอน อาการไม่รุนแรง เดิมเรามีบริการ UCEP COVID รับบริการที่ไหนก็ได้ แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปและระบบปกติรองรับได้ จึงเปลี่ยนเป็น UCEP Plus โดยสิทธิบัตรทองกรณีติดเชื้ออาการสีเขียว ไปรับบริการ รพ.ตามสิทธิได้ ไม่จำเป็นต้องเป้น รพ.ที่ลงทะเบียนไว้ ไป รพ.ปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย กรณีสีเหลืองหรือสีแดงยังเข้ารับการรักษา รพ.ใดก็ได้ของรัฐหรือเอกชนไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน ซึ่งค่าใช้จ่ายรวมทุกรายการ ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าห้อง ค่าอาหาร อุปกรณ์ ยกเว้นรายการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ห้องพิเสษ อาหารพิเศษ

"ส่วนกรณีสีเขียวที่ไปรักษาตามสิทธิ แต่อาการเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือแดง รพ.ก็สามารถส่งต่อกรณีเกินขีดความสามารถไป รพ.เอกชนก็ได้ โดยไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย และเมื่อส่งต่อไป รพ.เอกชนแล้ว ก็จะรักษาจนหาย ทั้งหมดไม่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น หากมีค่าใช้จ่ายขึ้นมาสามารถแจ้งได้สายด่วน 1330" ทพ.อรรถพรกล่าว


ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ผู้ประกันตนที่ติดเชื้อโควิด กลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย สามารถเข้า รพ.คู่สัญญาประกันสังคมได้ทุกแห่ง ไม่จำเป็นต้องเป็น รพ.ที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนสิ้นสุดการรักษา ไม่ต้องกังวลใจว่าจะต้องจ่ายเพิ่มหรือเสียค่าใช้จ่ายใด เพราะมีการร่วมจ่ายทุกเดือน ส่วนกรณีมีอาการสีเหลืองหรือแดง สามารถเข้ารพ.ไหนก็ได้ในประเทศไทย ทั้งรัฐและเอกชน ประกันสังคมเข้าไปร่วมจ่ายทั้งหมด และสุดท้ายถ้ามีปัญหาติดเชื้อหรือข้อสงสัย สามารถโทรสายด่วน 1506 กด 1 หรือกรณีไปสถานพยาบาลหรือติดต่อสถานพยาบาลแล้วขัดข้อง ให้กด 6 หรือ กด 7

เมื่อถามว่า กรณีเข้า รพ.เอกชน ประเมินระดับอาการแล้วเป็นกลุ่มสีเขียว ใช้ UCEP Plus ไม่ได้ ต้องจ่ายค่ารักษาเองหรือต้องกลับไปรักษา รพ.ตามสิทธิหรือไม่ นพ.ธเรศกล่าวว่า เรื่องนี้จะไม่ซับซ้อน ถ้าเราไปเริ่มต้นที่ รพ.ตามสิทธิ เช่น ประกันสังคมก็ไปตามรพ.คู่สัญญาประกันสังคม จะเห็นว่าโอมิครอนตอนนี้อาการไม่มาก เราอาจไม่จำเป็นต้องไป รพ.นอกสิทธิทันที เพราะหากตรวจคัดแยกแล้วไม่ใช่เหลืองแดงก็จะส่งกลับมาอีก เราไป รพ.ตามสิทธิ ซึ่งก็จะมีข้อมูลสุขภาพเราอยู่แล้ว จะดีที่สุด หากอาการมากเขาจะส่งต่อเอง

ถามต่อว่าโทร 1669 แล้วจะช่วยคัดแยกอาการให้เราก่อนหรือไม่ว่า อาการแบบนี้เข้าสีเหลืองสีแดงที่จะไปใช้ UCEP COVID Plus ได้หรือไม่ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ กล่าวว่า ตามปกติ 1669 จะคัดแยกอาการอยู่แล้ว แต่กรณีโควิดต้องมีผล ATK หรือ RT-PCR ซึ่งทางดทรศัพท์จะยืนยันไม่ได้ เบื้องต้น 1669 จะบอกอาการว่าแบบนี้เข้าข่ายฉุกเฉินหรือไม่ ส่วนจะเข้าข่าย UCEP Plus หรือไม่ ต้องส่งไปที่สถานพยาบาลและจะมีการตรวจ ถึงแยกได้ว่า UCEP Plus หรือไม่ แต่หากเจ็บป่วยไม่สบายโทร 1669 ก่อน หากมีรถถนำส่ง รพ.ทีเหมาะสม เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาก่อนน่าจะเป็นเรื่องที่ดี

ถามถึงกรณีเข้าระบบ HI ขอใบรับรองแพทย์ได้หรือไม่ นพ.ธเรศกล่าวว่า สามารถขอได้ ไม่ว่าจะเป็นผล ATK หรือ RT-PCR ส่วนจะนำไปเบิกประกันชีวิตต่างๆ ต้องเป็นไปตามสัญญาในกรมธรรม์ เพราะบางกรมธรรม์ที่ซื้อก็ครอบคลุมเฉพาะผู้ป่วยนอก หรือบางอย่างเฉพาะผู้ป่วยใน ก็ต้องไปดูรายละเอียด แต่สถานพยาบาลผู้รับผิดชอบจะออกใบรับรองแพทย์ให้ ส่วนกรณีประกันยืนยันว่าต้องใช้ผล RT-PCR ไม่ใช้ใบรับรองแพทย์นั้น เราเคยหารือ คปภ. ซึ่งเขายืนยันว่าหากป่วย สถานพยาบาลออกใบรับรองแพทย์ และแพทย์ยืนยันว่าป่วยโควิดก็ใช้ได้ ซึ่งเป็นหลักการกว้างๆ ทาง คปภ.ต้องไปเน้นย้ำบริษัทประกันในเรื่องนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น