xs
xsm
sm
md
lg

จี้ออกกติกา “โควิด” เหลืองแดง ลด รพ.สับสน UCEP Plus ที่จะเริ่ม 16 มี.ค.นี้ เร่งถกเอกชนนอกบัตรทองดูแล “เขียว” ฉุกเฉิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จี้ สพฉ.ออกกติกาโควิด” สีเหลืองสีแดงให้ชัด ป้องกันสับสนใช้สิทธิ UCEP Plus ที่เริ่ม 16 มี.ค.นี้ สปสช.เร่งหารือเอกชนนอกระบบช่วยดู “สีเขียว” ฉุกเฉิน แต่ยังไม่ถึงสีเหลือง เช่น ไข้สูง เริ่มหอบ จัดสายด่วน 1330 กด 18 รับเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเข้า รพ. ย้ำหน่วยบริการจัดเจอ แจก จบ ดูแลเบื้องต้น หาก HI เต็มรับเพิ่มไม่ได้ ลดคิวสะสมผู้ป่วย

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการดูแลรักษาโรคโควิด 19 จาก UCEP COVID มาเป็น UCEP Plus โดยกลุ่มอาการสีเขียวรักษาฟรีตามสิทธิสุขภาพ ส่วนสีเหลือง สีแดง เข้าข่ายฉุกเฉินรักษาฟรีทุกที่ เริ่มวันที่ 16 มี.ค. นี้ ว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จะต้องออกกติกาว่า ผู้ป่วยโควิดสีเหลืองและแดงมีลักษณะอาการอย่างไร ซึ่งสีแดงเคยมีกติกาเดิมอยู่แล้ว แต่สีเหลืองยังไม่ชัดเจน เพื่อให้หน่วยบริการเอกชนนอกระบบไม่สับสนในการรับเข้า UCEP Plus ซึ่งเท่าที่เห็นจากเอกสารเบื้องต้น สีเหลืองจะไม่วิกฤตเท่าสีแดง หลักง่ายๆ เช่น เชื้อลงปอด มีอาการปอดอักเสบ หรือกลุ่ม 608 กลุ่มที่มีโรคร่วม

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.กลุ่มสีเขียวหากไม่มีอาการหรืออาการน้อย เข้าเอกชนนอกระบบแล้วต้องการให้รักษาเหมือนที่ผ่านมา คงไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะไม่ใช่ฉุกเฉิน แบบนี้จะต้องจ่ายเงินเอง แต่ สปสช.กำลังหารือกับเอกชนนอกระบบ เพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในกลุ่มเขียวที่ไม่ได้อยู่ใน UCEP Plus เช่น ไข้สูง 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไอมาก เริ่มเหนื่อยหอบ แต่อาการที่ไม่ถึงสีเหลือง ให้ใช้บริการในหน่วยบริการนอกระบบบัตรทองได้ ซึ่งกำลังไปตกลงกันอยู่

นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับผู้ติดเชื้อโควิดกลุ่มสีเขียว สิทธิบัตรทองสามารถไปรักษาในหน่วยบริการในระบบบัตรทองได้ทุกแห่ง แต่ยังพบปัญหาคนกรุงเทพฯ กว่า 50% ไม่ทราบว่าตัวเองมีสิทธิบัตรทองตั้งแต่แรก ดังนั้น หากติดเชื้อแต่ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิบัตรทอง หรือสิทธิใด สามารถติดต่อมาที่สายด่วน 1330 หรือเว็บไซต์ของ สปสช.ได้ แต่หากไม่ทราบข้อมูลอะไรเลย แนะนำว่าให้เดินทางไปยังสถานพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน ซึ่งอยู่ในระบบบัตรทองอยู่แล้ว เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลในสังกัดต่างๆ ของรัฐ จนถึงคลินิกชุมชนอบอุ่น ที่จะมีป้ายติดหน้าร้าน

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการโทรเข้ามาสายด่วน 1330 เบอร์เดียว ไม่สามารถแยกได้ว่าใครคือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องนำเข้าสู่การรักษาใน รพ.บ้าง เช่น กลุ่มเสี่ยง 608 เด็ก หรือผู้ที่มีโรคร่วม ดังนั้นจึงเปิดสายด่วนในกลุ่มนี้ คือ 1330 ต่อ 18 จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลทันที และขอว่าผู้ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงให้โทรเข้าเบอร์ 1330 ตามปกติ ไม่ต้องเข้าต่อ 18 สำหรับปัญหาของการทำ HI คือ หน่วยบริการยังไม่กดรับผู้ป่วยจาก 1330 ที่รับสายมาแล้ว ทำให้คิวผู้ป่วยสะสมรอการติดต่อกลับ สปสช.จึงจัดระบบให้คอลเซ็นเตอร์ติดต่อกลับใน 24 ชั่วโมง สอบถามความต้องการเพื่อส่งกล่องยาทางไปรษณีย์ให้ก่อน ซึ่งพบว่า 30% ยินยอม อีก 50% ติดต่อหาที่รักษาได้แล้ว

“หน่วยบริการต้องเร็ว เพื่อไม่ให้คนไข้รอคิว เพราะเราไม่รู้ว่าในส่วนที่ได้รักษาแล้ว ประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือไม่ ทั้งนี้ หากหน่วยบริการเอาคนไข้เข้า HI ไม่ทัน ก็จัดเจอแจกจบได้ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการเบื้องต้น ไม่ให้คิวผู้ป่วยสะสมมากเกินไป ส่วนการระบาดรอบนี้ ผู้ติดเชื้อที่รอการติดต่อกลับ อาการไม่รุนแรง ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นสีเหลือง” นพ.จเด็จ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น