xs
xsm
sm
md
lg

"โควิด" รอบนี้พบไอ เจ็บคอ ไข้ ถ่ายเหลว แนะตรวจ ATK ทันทีเมื่อมีอาการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการแพทย์เผย "โควิด" 50% ไม่มีอาการ ส่วนที่มีอาการ 50% เป็นไอเจ็บ 30-40% มีไข้ อ่อนเพลีย และ 10% ถ่ายเหลว หากมีอาการเหล่านี้ตรวจ ATK ได้ทันที แต่หากผลป็นบ อาการไม่ดีใน 48 ชม.ให้ไป รพ.เพื่อวินิจฉัย ห่วงอาจเจอโรคอื่นอย่างไข้เลือดออก แจงทุก รพ.พร้อมรองรับ UCEP Plus แต่ห่วงสีเขียวหากอาการเปลี่ยน แต่ละสิทธิต้องจัดระบบรองรับที่ดี

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงอาการของผู้ป่วยโควิด 19 ในปัจจุบันที่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ว่า ขณะนี้ผู้ติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่ 50% ไม่มีอาการ ส่วนที่มีอาการจำแนกเป็น ไอและเจ็บคอ 50% อ่อนเพลีย เป็นไข้ 30-40% และถ่ายเหลว 10% ทั้งนี้ อาการโควิดใกล้เคียงกับโรคไข้หวัดแล้ว แต่ช่วงนี้ที่ต้องระวังเพิ่มขึ้นอาจจะเจอโรคไข้เลือดออกได้ ซึ่งจะมีอาการไข้ อ่อนเพลียเหมือนกัน ดังนั้น หากสงสัยว่าตัวเองมีอาการคล้ายไข้หวัดหรือแม้แต่ถ่ายเหลว เบื้องต้นให้ตรวจ ATK ได้ทันที หากเป็นผลลบให้สังเกตอาการตัวเองใน 48 ชั่วโมง ถ้ายังไม่ดีขึ้นให้ไป รพ.เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการโรคอื่นๆ เช่น ไข้เลือดออก อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการป้องกันติดเชื้อสูงสุด ติดเชื้อแล้วก็ต้องกักตัวเอง เพราะแม้จะไม่มีอาการรุนแรง แต่หากไปพบคนอื่นที่ภูมิต้านทานน้อย มีโรคร่วมก็จะมีความเสี่ยง

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนการดูแลผู้ติดโควิดแบบผู้ป่วยนอก (OPD) พื้นที่ กทม. รพ.สังกัดกรมการแพทย์ใน กทม. เช่น รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน รพ.นพรัตนราชธานี รองรับผู้ติดเชื้อได้วันละ 1,000 ราย ทั้งจาก 1.คลินิกโรคไข้หวัด (ARI Clinic) ซึ่งผู้ติดเชื้อ 70% เลือกรักษาแบบ OPD และอีก 20-30% เลือกรักษาแบบ HI และ 2.การออก QR Code เพื่อให้ผู้ป่วยเก่าส่งต่อให้ผู้อื่นเพื่อเข้าระบบบริการ สัดส่วนเลือกรักษาแบบ OPD 60% และรักษา HI อีก 30-40% อย่างไรก็ตาม เรากำลังทำ QR Code ส่วนกลางขึ้นมาแบ่งเบาภาระสายด่วน 1330 ให้ได้วันละ 1-2 พันราย

"เรากำลังเข้าสู่การเปลี่ยนเป็นโรคประจำถิ่น จึงต้องปรับเปลี่ยนการดูแล เน้นรักษาที่บ้าน (HI) และแบบ OPD ซึ่งเดิม HI เราบริการอาหาร 3 มื้อ เพื่อลดการออกไปซื้ออาหารนอกบ้าน ส่วน OPD มีการติดตามใน 48 ชั่วโมง และไม่มีบริการอาหาร 3 มื้อ เนื่องจากเราประเมินความพร้อมของผู้ป่วยด้วย เช่น มีญาติส่งอาหาร หรือผู้ป่วยสั่งอาหารเองได้ ก็ให้อยู่ในบ้านดูแลตัวเอง เป็นตามปรับตามสถานการณ์” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามถึงความพร้อมของ รพ. เพื่อรองรับ UCEP Plus กลุ่มอาการสีเหลือง-แดง นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ทุก รพ.รองรับได้อยู่แล้ว ทั้ง รพ.รัฐ และเอกชน แต่ที่กังวลคือ กลุ่มสีเขียวที่อาการเปลี่ยนแปลง อาจจะต้องจัดระบบที่ดีจากสิทธิสุขภาพนั้นๆ เช่น บัตรทอง ประกันสังคม ต้องประกาศเกณฑ์ให้ชัดเจนว่า หากติดเชื้อแล้วมีอาการเปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยสามารถเข้า รพ.ในเครือข่ายได้ทุกแห่งหรือไม่อย่างไร ซึ่งต้องรอการประกาศเกณฑ์ตรงนี้ ส่วนอาการที่บ่งบอกว่าเป็นสีเหลือง สีแดงที่เข้า UCEP Plus นั้น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะเป็นผู้ประกาศ UCEP Plus ให้มีผลบังคับใช้ โดยตกลงกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โดยกรมการแพทย์ให้ข้อมูลทางวิชาการไปแล้ว เพื่อจัดระบบบริการฉุกเฉินต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น