ครม.ตีกลับ“โควิด” รักษาตามสิทธิ วันที่ 1 มี.ค. สั่ง สธ.ทบทวน ยังให้เป็นโรคฉุกเฉินใช้สิทธิ UCEP COVID รักษาฟรีทุกที่ตามเดิม จนกว่าเคลียร์ทำความเข้าใจประชาชนชัด ทั้งกระบวนการรักษา ช่องทางเข้ารับบริการ และ UCEP Plus ก่อนให้นำมาเสนอ ครม.อีกครั้ง
เมื่อวันที่ 22 ก.พ. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงแนวทางการรักษาและเบิกจ่ายโรคโควิด-19 ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดปรับระบบบริการการรักษาโควิดเป็นการรักษาตามสิทธิเริ่มวันที่ 1 มี.ค. และจะมีการประกาศใช้ UCEP Plus สำหรับผู้ป่วยโควิดอาการสีเหลืองและสีแดง เข้ารับบริการได้ทุกที่ฟรีทุกสิทธิ์ในสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ให้ความเห็นว่า เพื่อให้เกิดการบริการที่ดี มีความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชน ประกอบกับประกาศกำหนดให้โควิดรักษาตามสิทธิ ซึ่งลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ยังไม่ได้ลงในราชกิจจานุเบกษา จึงมอบให้ สธ.ทบทวนเรื่องนี้
“สรุปขณะนี้โควิดยังเป็นโรคฉุกเฉินรักษาทุกที่ได้ ระบบการดูแลยังเป็น UCEP COVID ดูแลภาคประชาชนตามเดิม ดังนั้น รพ.เอกชนที่ปฏิเสธการรับผู้ป่วย กลไก UCEP COVID ยังมีผลอยู่ ผู้ป่วยโควิดถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน สถานพยาบาลต้องรับดูแล ไม่สามารถปฏิเสธได้ ถ้าพบผู้ป่วยแล้วไม่มีศักยภาพในการดูแลหรือเตียงจะต้องส่งต่อ ไม่สามารถเรียกเก็บเงินมัดจำได้ มิเช่นนั้น จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล” นพ.ธเรศ กล่าว
นพ.ธเรศ กล่าวว่า ส่วนการทบทวนนั้นจะเน้นทำความเข้าใจอธิบายประชาชน หากติดเชื้อจะเข้าสู่ระบบอย่างไร ช่องทางติดต่อ การเข้าตามสิทธิแต่ละสิทธิเป็นอย่างไร เรื่องอาการแต่ละระดับดูแลอย่างไร อย่างอาการปานกลางไปได้ทุกที่เกณฑ์คืออะไร เช่น มีไข้มากกว่า 39 องศาเซลเซียส ออกซิเจนในเลือดต่ำ หรืออาการหนักคืออะไร การส่งต่อ เพื่อประชาชนจะได้ไปใช้บริการถูกช่องทาง รวมถึงทำความเข้าใจเตรียมการฝั่งสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ส่วนเรื่องของ UCEP Plus ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) มีการเตรียมการรองรับการปรับระบบเป็นการรักษาตามสิทธิ ซึ่งเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์จาก UCEP ธรรมดารักษา 72 ชั่วโมง เป็นจนกว่าจะรักษาหายไม่ต้องเคลื่อนย้าย ก็มีไปเตรียมการทำระบบคัดแยกมาแล้ว แต่เมื่อต้องทบทวนเรื่องการรักษาตามสิทธิ ก็จะทบทวนเรื่องนี้ไปพร้อมกัน และเมื่อพร้อมก็จะเสนอไปพร้อมกันทีเดียว ซึ่งกรอบระยะเวลาการทบทวนไม่ได้กำหนดไว้ ไม่จำเป็นต้องรอให้การติดเชื้อลดลง เพราะหากเตรียมกระบวนการบริการ การสื่อสารครบถ้วน ก็สามารถนำเสนอ ครม.ได้เมื่อพร้อม
ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า สพฉ.พร้อมสนับสนุนตามนโยบายของรัฐบาลและ สธ. ซึ่งตอนแรกเตรียมการเรื่อง UCEP Plus แต่ ครม.มีมติให้ทบทวนกระบวนการโดยให้ใช้ UCEP COVID ตามเดิมไปก่อนนั้น ก็ยินดีให้การสนับสนุนนโยบายทั้ง 2 ด้าน ทั้ง UCEP COVID และ UCEP Plus ในอนาคต ส่วนประชาชนที่กังวลเรื่องการติดเชื้อและเข้าสู่ระบบการรักษานั้น ย้ำว่าให้ติดต่อผ่าน 1330 หรือไลน์ @nsho แต่ระหว่างการรอประสานเข้ารับการรักษา หากมีอาการแย่ลง เช่น เหนื่อย หายใจไม่สะดวก ไข้สูง หรือรู้สึกว่าเป็นอันตรายต่อชีวิต ให้โทร. 1669 ทั่วประเทศ จะประสานพิจารณาส่งทีมหรือรถไปรับผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่จะต้องไปรักษาตามคำแนะนำของ สปสช. โดยสถานพยาบาลที่ไปส่งต้องสอดคล้องกับกองทุนที่ต้องตามจ่าย ช่วงนี้จำนวนเคสยังไม่มาก ใน กทม. ศูนย์เอราวัณจัดทีมดูแล หากเกินศักยภาพ กทม. สพฉ.พร้อมระดมทรัพยากรจัดทีมเข้าไปช่วยดูแล ซึ่งได้เตรียมระดมทรัพยากรแล้ว