สธ.มอบรางวัลผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ เผยช่วยลดเด็กจมน้ำดับ 56% จาก 1,500 คน เหลือ 658 คนในปี 2564 ตั้งเป้าลดให้เหลือ 2.5 คนต่อเด็กแสนคนในปี 2570 มอบ 3 กรมเร่งสื่อสารสร้างตระหนักเอาตัวรอด ช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังมอบรางวัลการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำภายใต้ยุทธศาสตร์ผู้ก่อการดี ประจำปี 2564 ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเด็ก 3 เรื่องหลัก คือ ว่ายน้ำเป็น ลอยตัวในน้ำหรือรอให้คนมาช่วยได้, การออกกำลังกาย และการเรียนสองภาษา โดยเรื่องป้องกันการจมน้ำ สธ.ดำเนินงานตามมติสหประชาชาติ ร่วมมือกับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ ดำเนินงานป้องกันการจมน้ำและสร้างทีม “ผู้ก่อการดี ป้องกันการจมน้ำ” (MERIT MAKER) ซึ่งช่วยลดการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กได้ร้อยละ 56 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากเดิมเด็กจมน้ำเสียชีวิตปีละ 1,500 คน เหลือ 658 คนในปี 2564
นายอนุทินกล่าวว่า เรามีเครือข่ายฝึกฝนดูแลอบรมเด็กเล็กทั้งในโรงเรียนหรือตามสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งรูปแบบการช่วยเหลือมี แต่ต้องให้ประชาชนใส่ใจกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เพราะถึงเวลาเราคงอ่านศึกษาไม่ทัน จากการครองสติต่างๆ จึงต้องมีการศึกษาการช่วยเหลือหรือเอาตัวรอดจากเหตุฉุกเฉินก่อน ซึ่งจะให้กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต ทำการสื่อสารสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชน ว่าการจะไปเที่ยวที่ไหนหรือไปไหนก็ตาม ให้มองเรื่องความปลอดภัย สอดส่องว่าหากมีเหตุฉุกเฉินจะทำอย่างไร ประตูทางออกฉุกเฉิน อุปกรณ์ช่วยชีวิตอยู่ที่ไหน เช่น ชูชีพในเรือ ค้อนทุบกระจกในรถ หลักเดียวกับการออกจากบ้านที่เราพกยาดมยาหม่อง เจลแอลกอฮอล์ หรือเรื่องของภูมิปัญญาการช่วยการจมน้ำ เช่น หากไม่มีชูชีพก็สามารถหาขวดมาเย็บรวมกัน เพื่อทำตัวช่วยลอยน้ำก่อนได้ เป็นต้น
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 737 คน หรือวันละเกือบ 2 คน จึงตั้งเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้เหลือ 2.5 คนต่อประชากรเด็กแสนคนภายในปี 2570 ซึ่งปี 2564 อยู่ที่ 6 คนต่อประชากรเด็กแสนคน หรือ 658 ราย ทั้งนี้ 6 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558 - 2564) เกิดทีมผู้ก่อการดี 4,931 ทีม ครอบคลุม 746 อำเภอใน 76 จังหวัด ส่งผลให้แหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน 25,885 แห่ง ได้รับการจัดการให้เกิดความปลอดภัย เกิดแหล่งเรียนรู้การเรียนการสอนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 746 อำเภอ และเกิดครูสอนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด 38,816 คน นอกจากนี้ ประชาชนในพื้นที่ยังได้รับประโยชน์โดยตรง ได้แก่ เด็ก 998,587 คน ได้เรียนว่ายน้ำซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในการเอาชีวิตรอดเมื่อตกลงไปในน้ำ ประชาชนและเด็ก 74,886 คน ได้รับการฝึกทักษะการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) ซึ่งมีประโยชน์ต่อการช่วยคนที่หัวใจหยุดเต้นทั้งจากการจมน้ำและจากสาเหตุอื่นๆ