xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ เร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็ก เพื่อลดการติดเชื้อ พร้อมสนับสนุนการเรียนการสอน On Site

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ เร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในเด็กที่ผู้ปกครองแสดงความประสงค์ เพื่อลดการติดเชื้อในเด็ก สนับสนุนการเรียนการสอนที่โรงเรียน ให้มีประสิทธิภาพ พร้อมเน้นย้ำการให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองหากบุตรหลานติดเชื้อ

วันนี้ (3 มี.ค.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ต่อกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็ก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในเด็กที่ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง เนื่องจากมีความห่วงกังวลแนวโน้มการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นในสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งแม้จะมีความรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ที่ผ่านมาแต่สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายและขยายวงกว้างขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียนที่มีการเปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียน (On Site) ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่เล็งเห็นถึงประสิทธิภาพและความสำคัญสูงสุดของรูปแบบการเรียนในแต่ละองค์ความรู้ผ่านประสบการณ์ การพัฒนาร่างกาย และจิตใจ ซึ่งเมื่อเปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียน (On Site) นั้น ทำให้อาจมีความใกล้ชิดร่วมกับบุคคลรอบข้าง คุณครู เพื่อนร่วมชั้นเรียน และบุคคลอื่นๆ ซึ่งผลการให้บริการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็นเด็กช่วงอายุ 5-11 ปี (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มีนาคม 2565) ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้วกว่า 754,990 ราย และฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แล้ว 16,369 ราย ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานสถานการณ์ปัจจุบันว่ามีเด็กติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น พบในช่วงอายุ 3-11 ปี ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากเด็กช่วงอายุ 5-11 ปี เพิ่งได้รับวัคซีนป้องกันรวมไปถึงมีการเปิดเรียนในโรงเรียนบางแห่ง โดยอาการปกติของเด็กที่ติดเชื้อจะมีไข้ประมาณ 5 วัน ซึ่งแพทย์จะสังเกตอาการถึง 10 วัน และติดตามอาการจนครบ 14 วัน ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคในเด็กพบว่า เชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในเด็กนั้นไม่มีอาการหรือมีเล็กน้อยเหมือนเป็นไข้หวัด แต่กลุ่มที่มีอาการรุนแรงมักจะเป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคสมอง หัวใจ มะเร็ง หรือกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง ทั้งนี้ จากการสำรวจเตียงในเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UhosNet) กรมการแพทย์ พบว่ามีมากกว่า 500 เตียง

นายธนกร กล่าวว่า ในส่วนของการเข้ารับการรักษาในเด็ก เบื้องต้นจะมีการคัดกรองประเมินระดับความรุนแรงตามอาการของผู้ป่วย หากเด็กมีอาการไข้ไม่สูง ไม่มีโรคประจำตัวรุนแรง ไม่มีอาการซึม สามารถรับประทานอาหารได้ มีผู้ดูแล และภายในที่พักอาศัยมีห้องน้ำแยก จะสามารถเข้ารับการดูแลในรูปแบบของ Home Isolation (HI) หรือรักษาที่บ้านได้โดยมีทีมพยาบาลติดตามอาการอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง มีการส่งเครื่องมือวัดไข้ เครื่องมือวัดออกซิเจน ยา ถุงขยะติดเชื้อ อาหาร รวมทั้งของเล่นให้เด็กด้วย โดยสำหรับเด็กที่มีอาการเปลี่ยนแปลง เช่น ไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป ภายใน 24 ชั่วโมง ซึม ไม่รับประทานอาหาร หายใจเร็ว มีระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้วน้อยกว่า 96% ให้รีบไปพบแพทย์โรงพยาบาลใกล้บ้าน ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่อเยาวชน โดยเฉพาะสนับสนุนพัฒนาการด้านการศึกษา และสุขภาพควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพและศักยภาพในการขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ทั้งนี้ ขอให้เน้นย้ำการดูแลผู้ป่วยเด็กให้ปลอดภัย ทำความเข้าใจกับผู้ปกครองเพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยต้องขอชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ทุ่มเทต่อการดำเนินงานเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มาโดยตลอด


กำลังโหลดความคิดเห็น