นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ โรงพยาบาลเด็ก เปิดเผยถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็ก ว่า ปัจจุบันมีเด็กติดเชื้อโควิด-19 สูงขึ้นจากเดิมเมื่อเดือนมกราคม 2565 มีเด็กติดเชื้ออยู่ประมาณ 200 ราย แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ มีเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 150 ราย ในภาพรวมของทั้งประเทศ มีเด็กติดเชื้ออยู่ที่ร้อยละ 15-17 ของการติดเชื้อในผู้ใหญ่ โดยมีแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนอยู่ที่ร้อยละ 17 จากเดิมของการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่อยู่ที่ร้อยละ 13-15 โดยมาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ เด็ก 5-11 ปี เพิ่งได้รับการฉีดวัคซีน และเริ่มมีการเปิดเรียนออนไซต์
อย่างไรก็ตาม จากตัวเลขเด็กที่ติดเชื้อ มีอาการรุนแรงไม่ถึงร้อยละ 3 กว่าร้อยละ 50 ไม่มีอาการ และร้อยละ 30 มีอาการเล็กน้อย เป็นผู้ป่วยสีเขียว ดังนั้น การแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอน แม้จะมีการติดเชื้อที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ความรุนแรงยังน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา
นายแพทย์อดิศัย กล่าวว่า โดยปกติอาการของเด็กที่ติดเชื้อจะมีไข้อยู่ที่ประมาณ 5 วัน แต่จะต้องสังเกตอาการถึง 10 วัน และติดตามอาการต่อถึง 14 วัน โดยขณะนี้การรักษาในเด็กก็เหมือนการรักษาผู้ใหญ่ หากเด็กรับประทานยาเม็ดไม่ได้ จะมียาน้ำสำหรับเด็ก โดยให้ยาตามน้ำหนักตัวของเด็ก ดังนั้น ต้องย้ำพ่อแม่ให้เข้าใจว่าจากการคุยกับผู้เชี่ยวชาญเด็กหลายราย เชื้อโอมิครอนในเด็กเหมือนการเป็นไข้หวัด ซึ่งเมื่อผู้ปกครองเข้าใจจะช่วยลดความกังวลไปได้
นายแพทย์อดิศัย กล่าวว่า เด็กที่ได้รับการดูแลในรูปแบบโฮมไอโซเลชั่น (HI) หรือรักษาที่บ้าน จะต้องผ่านการคัดกรองไข้ไม่สูง ไม่มีโรคประจำตัวรุนแรง เด็กไม่ซึม รับประทานอาหารได้ มีพ่อแม่ดูแล และมีห้องแยกป้องกันการกระจายของเชื้อ เมื่อผ่านการคัดกรองดังกล่าว เด็กในระบบจะแทบไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย สำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี ขอให้แพทย์เข้ามาทำการคัดกรองด้วยตนเอง ผ่านโรงพยาบาลใกล้เคียงที่สะดวก เมื่อเด็กผ่านการคัดกรองแล้ว จะมีทีมพยาบาลติดตามอาการอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง โดยจะส่งเครื่องมือวัดไข้ ยา ถุงขยะติดเชื้อ อาหาร รวมทั้งของเล่นให้เด็กด้วย โดยในบางรายจะให้พ่อแม่ส่งคลิปวิดีโอเพื่อติดตามอาการ รวมทั้งมีระบบไลน์ที่ติดต่อ หรือโทรได้โดยตรง จากการเข้าสู่ระบบ HI ที่ทำมาแล้วเกือบ 1,000 ราย โอกาสอาการรุนแรงมีเพียงร้อยละ 1 ที่ต้องเข้ามาทำการรักษาในโรงพยาบาลต่อ
นายแพทย์อดิศัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงอายุของเด็กที่ติดโควิด-19 ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 4 อายุน้อยกว่า 2 ปี สำหรับกลุ่มที่มีอาการรุนแรงร้อยละ 3 จะมีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจ สมอง มะเร็ง หรือกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง ซึ่งจำเป็นต้องเร่งทำการฉีดวัคซีนในเด็กกลุ่มนี้ สำหรับภาพรวมการสำรวจเตียง 20 กว่าแห่งทั่วกรุงเทพมหานคร ในเครือข่ายสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร พบว่ามีประมาณ 500 กว่าเตียง และมีการครองเตียงแล้วกว่าร้อยละ 80 โดยเตียงเด็กจะไม่เหมือนเตียงผู้ใหญ่ จะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือ อายุน้อยกว่า 20-30 วัน หรือกลุ่มแรกเกิด (New Born) กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่อายุมากกว่า 12 ปี และกลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่อายุ 1-5 ปี สำหรับการดูแลบุตรหลานเบื้องต้น ระหว่างที่รอการประสานงานเข้าสู่ระบบ หากไข้ไม่สูงให้เช็ดตัว รับประทานยาลดไข้ สำหรับเด็กที่มีอาการรุนแรง หรือมีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป ภายใน 24 ชั่วโมง ซึม ไม่รับประทานอาหาร หายใจเร็ว ให้รีบไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน
ทั้งนี้ สถาบันสุขภาพเด็กฯ ยังมีเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน เครือข่ายสำนักการแพทย์ ในการแบ่งโซน ดูแลประชาชน ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ซึ่งพยายามทำเครือข่ายให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และสถาบันสุขภาพเด็กฯ ตอนนี้มีผู้ป่วยโควิดเด็กในการดูแล 76 ราย ซึ่งเกิดจำนวนเตียงที่มี แต่กำลังจะเพิ่มเป็น 80 เตียง โดยมีผู้ปกครองมารักษาด้วย เนื่องจากเป็นการติดเชื้อภายในครอบครัว เด็กเล็กส่วนใหญ่ติดจากผู้ปกครอง สถาบันสุขภาพเด็กฯ จึงได้ดูแลผู้ปกครองร่วมกับเด็กเล็กด้วย และมีผู้ปกครองที่เข้ารับการรักษาอยู่ 20 ราย และจะประสานไปยังโรงพยาบาลราชวิถี ให้มาช่วยดูแลแต่จะไม่แยกแม่กับลูกออกจากกัน ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการรักษาเนื่องจากกินยาง่าย และยอมรับการรักษาง่ายขึ้น ซึ่งในขณะนี้เตียงเต็มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เตียงของเด็กทารกแรกเกิดยังว่าง นอกจากนี้ ยังมีระบบ Community Isolation (CI) ของเด็กที่เกียกกาย รักษาเฉพาะเด็กอายุ 5-11 ปี มีเตียงรองรับ 52 เตียง ขณะนี้มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 12 เตียง
นายแพทย์อดิศัย ย้ำว่า ที่มีระบบ HI ขึ้นมาไม่ใช่เพราะว่าเตียงเต็ม แต่เป็นการจัดการตามนโยบายของภาครัฐ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยจะรับเฉพาะเด็กที่เป็นผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง และอายุน้อยกว่า 5 ปี และ 1 ปี เป็นหลัก มีเตียงเด็กแรกเกิด 8 เตียง ใช้งานอยู่ 1 เตียง ทั้งนี้ ในระบบ HI สัดส่วนพยาบาล 1 ราย จะดูแลเด็ก 20-30 ราย