xs
xsm
sm
md
lg

โรงพยาบาลเด็กชี้การติดเชื้อโอมิครอนในเด็กเหมือนการเป็นไข้หวัด วอนผู้ปกครองอย่ากังวล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โรงพยาบาลเด็กชี้ผู้ปกครองอย่ากังวล หากเด็กติดโอมิครอนจะมีลักษณะอาการคล้ายไข้หวัด และส่วนมากติดจากผู้ปกครอง และหากมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพเด็กให้สอบถามโรงพยาบาลเด็ก สายตรง 1415

จากกรณีสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่มียอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น

วันนี้ (22 ก.พ.) เพจเฟซบุ๊ก "มูลนิธิโรงพยาบาลเด็ก กองทุนอาคารเฉลิมพระเกียรติฯ" ได้โพสต์ข้อความระบุว่า "ผู้ปกครองเข้าใจจะช่วยลดความกังวลไปได้ นายแพทย์ อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ #โรงพยาบาลเด็ก เปิดเผยถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กว่า "ปัจจุบันมีเด็กติดเชื้อโควิด-19 สูงขึ้นจากเดิมเมื่อเดือนมกราคม 2565 มีเด็กติดเชื้ออยู่ประมาณ 200 ราย แต่ในเดือนกุมภาพันธ์มีเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 150 ราย ในภาพรวมของทั้งประเทศ มีเด็กติดเชื้ออยู่ที่ร้อยละ 15-17 ของการติดเชื้อในผู้ใหญ่ โดยมีแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนอยู่ที่ร้อยละ 17

จากเดิมการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาอยู่ที่ร้อยละ 13-15 โดยมาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ เด็กอายุ 5-11 ขวบ เพิ่งได้รับการฉีดวัคซีน และเริ่มมีการเปิดเรียนออนไซต์ ตัวเลขเด็กที่ติดเชื้อมีอาการรุนแรงไม่ถึงร้อยละ 3 กว่าร้อยละ 50 ไม่มีอาการ และร้อยละ 30 มีอาการเล็กน้อย เป็นผู้ป่วยสีเขียว ดังนั้น การแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอน แม้จะมีการติดเชื้อที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ความรุนแรงยังน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา

โดยปกติอาการของเด็กที่ติดเชื้อจะมีไข้อยู่ที่ประมาณ 5 วัน แต่จะต้องสังเกตอาการถึง 10 วัน และติดตามอาการต่อถึง 14 วัน โดยขณะนี้การรักษาในเด็กก็เหมือนการรักษาผู้ใหญ่ หากเด็กรับประทานยาเม็ดไม่ได้ จะมียาน้ำสำหรับเด็ก โดยให้ยาตามน้ำหนักตัวของเด็ก ดังนั้น ต้องย้ำพ่อแม่ให้เข้าใจว่าจากการคุยกับผู้เชี่ยวชาญเด็กหลายราย เชื้อโอมิครอนในเด็กเหมือนการเป็นไข้หวัด ซึ่งเมื่อผู้ปกครองเข้าใจจะช่วยลดความกังวลไปได้

สำหรับเด็กที่ได้รับการดูแลในรูปแบบโฮมไอโซเลชัน (HI) หรือรักษาที่บ้าน จะต้องผ่านการคัดกรองไข้ไม่สูง ไม่มีโรคประจำตัวรุนแรง เด็กไม่ซึม รับประทานอาหารได้ มีพ่อแม่ดูแล และมีห้องแยกป้องกันการกระจายของเชื้อ เมื่อผ่านการคัดกรองดังกล่าว เด็กในระบบจะแทบไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย

สำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ขวบ ขอให้แพทย์เข้ามาทำการคัดกรองด้วยตนเอง ผ่านโรงพยาบาลใกล้เคียงที่สะดวก เมื่อเด็กผ่านการคัดกรองแล้ว จะมีทีมพยาบาลติดตามอาการอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง โดยจะส่งเครื่องมือวัดไข้ ยา ถุงขยะติดเชื้อ อาหาร รวมทั้งของเล่นให้เด็กด้วย โดยในบางรายจะให้พ่อแม่ส่งคลิปวิดีโอเพื่อติดตามอาการ รวมทั้งมีระบบไลน์ที่ติดต่อ หรือโทร.ได้โดยตรง จากการเข้าสู่ระบบ HI ที่ทำมาแล้วเกือบ 1,000 ราย โอกาสอาการรุนแรงมีเพียงร้อยละ 1 ที่ต้องเข้ามาทำการรักษาในโรงพยาบาลต่อ ช่วงอายุของเด็กที่ติดโควิด-19 ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 4 อายุน้อยกว่า 2 ขวบ สำหรับกลุ่มที่มีอาการรุนแรงร้อยละ 3 จะมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ สมอง มะเร็ง หรือกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง ซึ่งจำเป็นต้องเร่งทำการฉีดวัคซีนในเด็ก

สำหรับการดูแลบุตรหลานเบื้องต้น ระหว่างที่รอการประสานงานเข้าสู่ระบบ หากไข้ไม่สูงให้เช็ดตัว รับประทานยาลดไข้ สำหรับเด็กที่มีอาการรุนแรง หรือมีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป ภายใน 24 ชั่วโมง ซึม ไม่รับประทานอาหาร หายใจเร็ว ให้รีบไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งเด็กเล็กส่วนใหญ่ติดจากผู้ปกครอง ช่วยกันดูแลสุขภาพตัวเองขั้นสูงสุด กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย อยู่กับบ้าน งดพบปะร่วมสังสรรค์ในสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด มีปัญหาสุขภาพเด็กสอบถามสายตรงสุขภาพเด็ก โรงพยาบาลเด็ก สายตรง 1415

คลิกโพสต์ต้นฉบับ




กำลังโหลดความคิดเห็น