xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เตรียมคลอดแผนลด “โควิด” เป็นโรคประจำถิ่นสัปดาห์หน้า ลุยค้น 608 ฉีดวัคซีนลดรุนแรงดับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัด สธ.เผย เตรียมคลอดแผนลดระดับ โควิด” จากระบาดใหญ่เป็นโรคประจำถิ่น เบื้องต้นวางแผนระยะ 4 เดือน คาดสัปดาห์หน้ามีรายละเอียดขั้นตอน ย้ำ โอมิครอน 90% ไม่มีอาการ อาการน้อย ต้องปรับแนวทางรักษาและบริหารค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมสถานการณ์ พร้อมร่วม มท.ค้นกลุ่ม 608 ตามทะเบียนราษฎร ลุยฉีดวัคซีนเข็มสาม หวังลดป่วยตาย

เมื่อวันที่ 24 ก.พ. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า วันนี้มีการติดตามผลการดำเนินงานและการขับเคลื่อนงานประจำของ สธ. ซึ่งมีทั้งเรื่องของโควิด งบลงทุน โครงการต่างๆ พื้นที่ไบรท์สปอต ที่มีจุดเด่นในการดำเนินงาน เช่น พังงา ที่ทำเรื่องศูนย์ฉุกเฉินทางน้ำ (ฮับ) หรือการเป็นแซนด์บ็อกซ์ที่ดำเนินการได้ดี เป็นต้น ส่วนกรณี ครม.ให้ สธ.ทบทวนเรื่องรักษาโควิดฟรีตามสิทธิ และ UCEP Plus เรื่องนี้ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) นำไปทบทวน แต่โดยหลักการประชาชนทุกคนได้รับการรักษาตามสิทธิอยู่แล้ว แต่เราเพิ่มสิทธิให้ คือ UCEP COVID จริงๆ ก็ไม่มีใครเสียสิทธิ

ส่วนเรื่องของงบประมาณดูแลรักษาโควิด มีการใช้จ่ายในส่วนของคนไทยไปแล้ว 1 แสนกว่าล้านบาท โดย 7 หมื่นกว่าล้านบาทหรือ 74% อยู่ที่ภาครัฐ และอีก 2.7 หมื่นกว่าล้านบาท หรือ 26% อยู่ที่ภาคเอกชน ซึ่งใน 2.7 หมื่นกว่าล้านบาท ส่วนใหญ่ 88% เป็นกลุ่มอาการสีเขียว ซึ่งขณะนี้เรามีความเข้าใจอาการสีเขียวมากขึ้น โดยการระบาดของโอมิครอนประมาณกว่า 90 กว่า% ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย โดยเฉพาะวัยหนุ่มสาว ที่จะปอดอักเสบหรืออาการหนักน้อยมาก ในทางการแพทย์จึงไม่ได้แนะนำว่าต้องถ่ายเอกซเรย์แล้ว ก้มีการปรับเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์

“ตอนนี้เราใช้ความรู้ในการบริหารมากขึ้น จากประสบการณ์ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมยั่งยืนต่อไป โดยกลุ่มสีเขียวพยายามให้อยู่ระบบ HI/CI ซึ่งขณะนี้อยู่ใน HI/CI มากกว่าใน รพ.แล้ว คือ ประมาณ 60% แต่อยากให้ได้ถึง 90% เพื่อให้ รพ.มีพื้นที่ดูแลคนไข้โรคอื่นได้ ไม่ใช่โควิดอย่างเดียว ซึ่งปัจจุบันโควิดไม่มีอาการ แต่เราพบไปตรวจโรคเรื้อรังมาแอดมิต และตรวจพบโควิด จึงต้องรับไว้ดูแลใน รพ. ซึ่งแม้จะอาการไม่รุนแรงแต่มีโรคร่วม ซึ่งพบประมาณ 10% ก็มีความจำเป็นต้องอยู่ รพ. เพราะแต่ก่อนมีโรคร่วมจะทำอันตรายสูงได้” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า การที่ให้กลุ่มอาการสีเขียวอยู่ HI/CI ช่วยให้ไม่ต้องใช้งบประมาณมากขึ้น 2.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณ แต่เป็นเรื่องแนวคิดและทัศนคติเพื่อให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น เหมือนโรคหวัดบางทีอาการน้อย ก็กินยาลดไข้ นอนพักผ่อน 2-3 วันก็ฟื้นดีขึ้น แต่หากมีไข้สูง ไอมาก ก็อาจไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา ซึ่งเมื่อวันที่ 23 ก.พ.มีการประชุมแผนออกจาก “Pandemic” เพื่อเข้าสู่ “Endemic” โดยวางแผนไว้ 4 เดือน ซึ่งรายละเอียดจะออกมาในสัปดาห์หน้า ว่าจะออกจาก Pandemic มีขั้นตอนอะไรบ้าง ซึ่งจะไม่ใช่การระบาดใหญ่แล้ว

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ตนสอบถามผู้เชี่ยวชาญ ว่า โรคโควิดจะลดความรุนแรงลงใช่หรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่า การรุนแรงของโรคลดลง เพียงแต่การระบาดอาจจะมากขึ้น ซึ่งจะเริ่มคล้ายกับโรคติดต่อทั่วไปที่ไม่รุนแรง เพียงแต่การที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก อาจทำให้พบผู้ป่วยปอดอักเสบมากขึ้น แต่สัดส่วนผู้เสียชีวิตลดลง ทั้งนี้ เราพบว่าผู้ป่วยปอดอักเสบในช่วงโอมิครอน พบปอดอักเสบจริงแต่ไม่ต้องการออกซิเจน เราไปถ่ายเอกซเรย์ปอดอักเสบ หากสมัยก่อนพบก็ต้องแอดมิด ทำให้จำนวนปอกดอักเสบเยอะ แต่ไม่อันตรายอะไร

ส่วนผู้เสียชีวิตส่วนผู้เสียชีวิต พบว่า วันนี้ 100% อยู่ในกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง กลุ่มนี้น่าเป็นห่วง สมัยตอนเดลตา อัลฟาระบาด กลุ่มเสียชีวิตเป็น 608 ประมาณ 50-60% ดังนั้น บ่ายวันนี้จะมีการประชุมเทเลคอนเฟอเรนซ์กับทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ให้ไปค้นกลุ่ม 608 ตามทะเบียนบ้าน เพื่อให้เข้าถึงการรับบริการวัคซีน ซึ่งภาพรวมกลุ่ม 608 ได้รับวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 ถึง 80% ส่วนเข็ม 3 ประมาณ 30% ก็พยายามให้สูงที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อให้ลดการเสียชีวิต

ด้าน นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษก สธ. กล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิดในผู้สูงอายุ หากฉีดเข็ม 3 ในกลุ่มเสี่ยงได้ถึง 60-70% จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากตอนนี้ลงไปอีก 50%


กำลังโหลดความคิดเห็น