xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ห่วงติดโควิดสูงขึ้น 10-100% เหตุคนเริ่มผ่อนคลาย ย้ำทุก จว.ยังเข้มเตือนภัยระดับ 4 ตามเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ห่วงติดเชื้อโควิดสูงขึ้น พบ 1 สัปดาห์ หลายจังหวัดทั่วประเทศติดเชื้อเพิ่มขึ้นระดับ 10-100% บางจังหวัดมากกว่า 100% เหตุเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น เน้นย้ำทุกจังหวัดปฏิบัติตามคำแนะนำเตือนภัยโควิดระดับ 4 งดไปสถานที่เสี่ยง งดรวมตัวสังสรรค์ เน้นทำงานที่บ้าน เลี่ยงเดินทางข้ามจังหวัด หวังช่วยกดตัวเลขติดเชื้อลง ส่วนเตียงยังมีเพียงพอ

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์โควิด 19 เตือนภัยระดับ 4 ทั่วประเทศ ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น และคาดการณ์ว่าใน 1-2 สัปดาห์ยังมีแนวโน้มทรงตัวระดับสูงเช่นนี้ จึงต้องช่วยกันชะลอการติดเชื้อโควิด ซึ่งที่ผ่านมา เราประกาศแจ้งเตือนภัยโควิดระดับ 4 มาตลอด โดยมีคำแนะนำ คือ งดไปสถานที่เสี่ยง งดการรวมกลุ่มสังสรรค์ เน้นทำงานที่บ้าน และชะลอการเดินทางข้ามพื้นที่ แต่ที่ต้องมาเน้นย้ำอีกครั้งในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพราะขณะนี้การติดเชื้อกำลังเพิ่มขึ้นทั้งหมด จึงขอให้ทุกจังหวัดปฏิบัติตามคำแนะนำเตือนภัยระดับ 4 ให้เหมือนกัน ก็จะช่วยควบคุมป้องกันโรคชะลอการระบาดได้ นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดยังสามารถทำมาตรการเข้มข้นกว่านี้ได้

“ที่ต้องมาเน้นย้ำให้ปฏิบัติเพราะก่อนหน้านี้ คนอาจรู้สึกว่า โรคมีความรุนแรงน้อยลง จึงมีความสบายๆ มากขึ้น วันนี้จึงต้องมาเน้นย้ำว่า อย่าชะล่าใจ การ์ดอย่าตก เราต้องการย้ำเตือนอีกครั้ง แม้ความรุนแรงของโอมิครอนจะต่ำกว่าเดลตาเกือบ 10 เท่า แต่หากปล่อยผู้ติดเชื้อมากๆ โดยเฉพาะวัยทำงาน วัยรุ่นที่มีการไปรวมกลุ่ม งานเลี้ยงสังสรรค์ วันเกิด ดื่มสุรารวมกลุ่มกัน ก็จะนำไปสู่ครอบครัวผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวที่บ้าน ทำให้มีโอกาสติดเชื้อรุนแรงและเสียชีวิตได้” นพ.ธงชัย กล่าว

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อมากกว่า 90% มีอาการเล็กน้อย และมากกว่า 50% ไม่มีอาการอะไรเลย จึงทำให้ไม่ระวังตัวเอง ดังนั้น ถ้ามีอาการเล็กน้อยให้ตรวจ ATK หากผลบวกแล้วให้กักตนเองและประสาน 1330 เข้าสู่การดูแลที่บ้าน หรือหากมีความเสี่ยงก็ให้กักตัวเองและตรวจ ATK เป็นประจำ ต้องคิดเสมอว่าตนเองและคนรอบข้างอาจติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย สามารถรับเชื้อหรือแพร่เชื้อกันได้ จึงต้องเข้มใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่าง เว้นการไปสถานที่แออัด การรวมกลุ่มกันรับประทานอาหาร สังสรรค์ งานบุญ งานบวช งานศพ ไม่จำเป็นอย่าไป ให้โทรศัพท์แจ้งเจ้าภาพ รวมถึงร่วมกันฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้ 2 เข็มอาจไม่พอในการป้องกันการติดเชื้อ หากฉีด 2 เข็มนาน 3 เดือนขอให้ฉีดเข็มที่ 3 ซึ่งป้องกันเสียชีวิตและเจ็บป่วยรุนแรงมากกว่า 90% สถานประกอบการต่างๆ เข้ม COVID Free Setting บุคลากรของตนเองให้รับวัคซีนครบ ตรวจ ATK อย่ารอไปตรวจ RT-PCR เพราะใช้เวลา 1 วันถึงทราบผล อาจเกิดการแพร่คนอื่นได้ แต่การตรวจ ATK วินิจฉัยได้เร็วใน 30 นาที ทำให้รู้ตัวเร็วว่าจะปฏิบัติตนอย่างไร

นพ.ธงชัย กล่าวว่า จำนวนการติดเชื้อไม่มีอาการจะเยอะมาก จำนวนอาจสูงกว่าเดลตาคราวก่อน แต่อาการรุนแรง ปอดอักเสบ เสียชีวิตจะน้อยกว่า สำหรับเรื่องการบริหารจัดการเตียง ปีที่แล้วเราเอาผู้ติดเชื้อทุกคนเข้า รพ. ทำให้เตียงใน รพ.อาจไม่เพียงพอกับผู้ที่ต้องการใช้เตียงจริงๆ โดยเฉพาะกลุ่มอาการสีเหลืองสีแดง เพราะกลุ่มสีเขียวไปนอนแทน วันนี้เรามี HI/CI หากเจ็บป่วยเล็กน้อยแพทย์จะช่วยดูให้ ไม่ต้องวิ่งหาเตียง หากแพทย์แจ้งว่าดูแลที่บ้านหรือชุมชนได้ ขอให้อยู่ที่นั่น จะมียา บุคลากรทางการแพทย์คอยดูแลติดตามอาการ หากมีอาการจำเป็นต้องนอน รพ. จะได้มีเตียงว่างดูแล

“ส่วนที่บอกว่าตอนนี้ไม่มีเตียงรองรับแล้วนั้น ยืนยันว่า เรามีเตียง อย่างเตียงสีเหลืองสีแดงใช้เพียงแค่ 14-15% ยังเหลืออยู่มากพอสมควร แต่ปัญหาคือกลุ่มอาการสีเขียวแต่อยากนอน รพ. ต้องขอความร่วมมือหากแพทย์ระบุว่าไม่ต้องนอน รพ. ให้ทำ HI/CI ซึ่งจะเห็นว่าตอนนี้มีกลุ่มสีเขียวครองเตียง 2 หมื่นกว่าคน หากทำ HI ได้ ก้จะมีเตียงมากขึ้น และพร้อมปรับให้เป็นเตียงใช้ออกซิเจนได้ทันที ที่บอกเตียงเต็ม เพราะอาการสีเขียวแต่อยากนอน รพ. ถ้าทำตามมาตรการ ทุกคนจะเซฟและปลอดภัยหมด ไม่ต้องไปจองเตียงไว้ก่อน” นพ.ธงชัย กล่าว

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้สายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดทั่วโลกมี 2 ตัว คือ สายพันธุ์ BA.1 และ BA.2 ซึ่ง BA.2 มีความรุนแรงเคียงกับ BA.1 แต่มีข้อมูลเพิ่มว่าจะติดเชื้อและแพร่เร็วกว่า BA.1 ประมาณ 1.4 เท่า และประเทศไทยเริ่มมี BA.2 เพิ่มขึ้นประมาณกว่า 50% แล้ว ซึ่งแอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น และอังกฤษ ก็เริ่มเพิ่มขึ้นเช่นกัน น่าจะมีการระบาดของสายพันธุ์ย่อยนี้มากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประเทศไทยวันนี้มีการติดเชื้อเฉลี่ย 7 วัน อยู่ที่ 15,981 ราย แนวโน้มก็ยังขึ้นอยู่ ต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อที่อาจเพิ่มขึ้นได้ทั้งลักษณะคลัสเตอร์และสัมผัสใกล้ชิดในครอบครัวและชุมชน มีผู้เข้ารักษา 1.66 แสนราย โดยแยกกักที่บ้าน ชุมชน และ รพ.สนาม 8.9 หมื่นราย มารักษาที่ รพ.อาารน้อย 7.6 หมื่นราย ส่วนปอดอักเสบและใส่ท่อช่วยหายใจ ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาตัวเลขขึ้นมาตลอดตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการติดเชื้อเพิ่มขึ้นทำให้มีโอกาสเข้าสู่กลุ่มเสี่ยง ทำให้ปอดอักเสบเพิ่มขึ้น ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น และบางรายอาการหนักก็จะเสียชีวิตตามมา ซึ่งวันนี้รายงานเสียชีวิต 32 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยและมีโรคเรื้อรัง โดย 60% ยังไม่ฉีดวัคซีน และที่เหลือไม่ได้ฉีดบูสเตอร์เลย จึงต้องรณรงค์ช่วยกันฉีดวัคซีนให้มากขึ้นกลุ่ม 608 เพื่อลดการป่วยหนักและเสียชีวิตลงได้

สำหรับสัปดาห์ที่ผ่านมาช่วงวันที่ 13-19 ก.พ. 2565 มีการติดเชื้อ 108,625 ราย เป็นคนไทย 96% ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากสถานที่เสี่ยงต่างๆ มีลักษณะเป็นคลัสเตอร์ ทั้งโรงเรียน ตลาด แคมป์ก่อสร้าง โรงงานและสถานประกอบการ ร้านอาหาร ประมาณ 54% และเป็นการสัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงในครอบครัว 44% โดยตอนนี้เราเป็นโอมิครอนเกือบ 100% โดยพบว่าไม่มีอาการป่วย 53% มีอาการป่วย 46% อาการสำคัญ คือ เจ็บคอ ไอ หรือมีไข้ต่ำๆ เป็น 3 อาการหลักที่เจอ แต่กลุ่มเสี่ยง 608 อาจมีอาการหนักได้ ดังนั้น การสังเกตอาการแรกๆ หากไปตากฝนมาเจ็บคอ ไอ ควรตรวจ ATK เลย เพื่อให้ทราบว่าติดเชื้อหรือไม่ ส่วนกลุ่มอายุเด็ก 0-9 ปี และ 10-19 ปีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนวัยทำงานเป็นกลุ่มใหญ่ที่ติดเชื้อสูง จากการรวมกลุ่มกัน ไปทำงาน

“ส่วนที่วันนี้เราเน้นย้ำเข้มการแจ้งเตือนภัยระดับ 4 เนื่องจากรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จังหวัดต่างๆ เกือบทั่วประเทศเป็นสีแดง คือ มีการติดเชื้อมากกว่า 100 คนต่อแสนประชากร และที่เหลือเป็นสีส้มที่มีการติดเชื้อมากกว่า 50 คนต่อแสนประชากร และจากการเปรียบสัปดาห์ก่อนหน้ากับสัปดาห์นี้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือลดลง ก็พบว่า ส่วนใหญ่เป็นสีส้มกระจายเกือบทั้งประเทศ คือ เพิ่มประมาณ 10-100% และพบสีแดง คือ เพิ่มขึ้น 100-1,000% อยู่ทางใต้และอีสานบางจังหวัด ส่วนกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปีลงไป อายุ 18-59 ปี และอายุ 60 ปีขึ้นไปมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกกลุ่ม แต่ที่สูงคือต่ำกว่า 18 ปี และ 18-59 ปี มาจากการรวมกลุ่มกิจกรรม ทำงาน ทานข้าวด้วยกัน สัมผัสใกล้ชิดมากๆ ทำให้การกระจายโรคเพิ่มต่อเนื่อง” นพ.จักรรัฐ กล่าว

ส่วนกลุ่มจังหวัดที่ต้องเฝ้าติดตาม คือ 18 จังหวัดที่มีพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว สถานการณ์ยังขึ้นต่อเนื่อง ส่วน 8 จังหวัดท่องเที่ยวทั้งจังหวัด ยังเพิ่มขึ้นบางวัน ลดลงบางวัน แต่สถานการณ์ยังดูขึ้นอยู่ เช่น กทม. ซึ่งขณะนี้เส้นสถานกาณณ์จริง ทะลุเส้นคาดการณ์สีน้ำตาลไปแล้ว แสดงว่า มีการผ่อนคลายกันมาก อาจละเลยมาตรการควบคุมดรคไปบ้าง ทำให้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มาก ต้องเฝ้าระวังติดตามกลุ่มเสี่ยงสูง 608 คือ สูงวัย และโรคเรื้อรัง

ด้าน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวิฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูลวันที่ 21 ก.พ. พบรักษาใน รพ. 166,397 ราย เพิ่มขึ้นสองเท่าจากวันที่ 21 ม.ค. ที่มี 82,720 ราย เตียงในระบบสาธารณสุข 13 เขตสุขภาพ ช่วงพีกปีที่แล้วเราเคยวางไว้ 2-3 แสนเตียง วันนี้เรามี 1.7 แสนเตียง ทั้งรัฐและเอกชน อัตราครองเตียง 49% มีเพียงพอทุกเขตสุขภาพ โดยเฉพาะเตียงระดับหนักใช้ไปเพียง 10-20% ผู้ใช้เตียงส่วนใหญ่เป็นส่วนของเตียงสีเขียว สำหรับ 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด อัตราครองเตียงยังไม่เกิน 50% ส่วน กทม.และปริมณฑล มี 5.5 หมื่นเตียง ใช้เตียง 2.6 หมื่นเตียง โดยพบว่า 2.4 หมื่นรายเป็นกลุ่มสีเขียว คือ ไม่ค่อยมีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเอกชนเกือบ 2 หมื่นคน ซึ่งเรายังขยายศักยภาพได้อีก ขออย่ากังวล

“การรักษาวันนี้เปลี่ยนจากทุกรายอยู่ รพ. แต่โอมิครอนเราสามารถรักษาได้โดยพำนักที่บ้าน โดย กทม.รับผู้ป่วยรายใหม่เข้า HI วันละ 5,540 ราย มี CI ปีที่แล้วเปิด 69 แห่ง ตอนนี้เปิด 31 แห่งเกือบ 4 พันเตียง นอนแล้ว 1.7 พันคน เหลืออีก 2 พันเตียง และจะเตรียมเปิดอีก 9 แห่ง 970 เตียง รวม 5 พันเตียง ส่วน CI ที่เหลืออยู่ในโหมดสแตนด์บาย สามารถขยายได้” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าว

นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า เน้นย้ำอีกครั้งว่าระบบของ สธ. วางไว้ว่า เมื่อประชาชนสงสัยติดเชื้อ อาการหนัก โทร. 1669 ไปรับเข้าบริการ หากไปตรวจ รพ.อยู่แล้ว จะจัดบริการตามระดับอาการ หากตรวจด้วยตนเองมีผลบวก อาการไม่มากเล็กน้อยดูแลที่บ้านได้ ให้โทร. 1330 ซึ่งอาจจะติดขัดหากมีผู้ใช้บริการเยอะ แต่ สปสช.เพิ่ม 1 พันคู่สายพร้อมกัน หากไม่เพียงพอ ยังใช้ทางไลน์และเว็บไซต์ สปสช.กรอกข้อมูลทิ้งเบอร์ไว้ จะมีผู้ติดต่อกลับไปภายใน 6 ชั่วโมง เพื่อประเมินอาการ หากไม่มีอาการจะให้อยู่บ้าน HI รับอาหาร ยา เครื่องวัดออกซิเจน วัดอุณหภูมิ ทีมแพทย์พยาบาลประเมินอาการทุกวัน อาการเปลี่ยนแปลงมีศูนย์บริหารจัดการเตียงทุกจังหวัดในการนำส่ง หากอยู่บ้านไม่ได้ จะส่งศูนย์พักคอย ซึ่งการรักษาใน HI/CI สามารถรักษาให้หายขาดได้เช่นกัน โดยเด็กที่ติดเชื้อก็สามารถเข้าดูแลที่บ้านได้เช่นกัน

“ผู้ที่ตรวจ ATK เป็นบวกแล้วไม่จำเป็นต้องตรวจยืนยัน RT-PCR ซ้ำ สามารถเข้าระบบบริการภาครัฐและเครือข่ายเอกชนที่ร่วมมือได้ทุกแห่ง เพราะทั้งเสียเวลา เสียเงินทอง กังวล และเสียเวลาเข้ากระบวนการรักษา” นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวและว่า การรักษาโอมิครอนเป็นแสนราย พบว่า 89.6% ไม่มีอาการหรือเล็กน้อย โดยมีปัจจัยเสี่ยงมีโรคร่วมหรือสีเหลือง 10% และสีแดง 0.4% ถ้ามีอาการฉุกเฉินโทร. 1669 ไม่ฉุกเฉินเข้าระบบ 1330 เพื่อจัดหาระบบที่เหมาะสม ย้ำว่า ระบบสาธารณสุขเรารองรับได้






กำลังโหลดความคิดเห็น