xs
xsm
sm
md
lg

“ไข้เลือดออก” โรคที่ถูกลืม กับเป้าหมายแรกของ World NTD Day

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย” หรือ World NTD Day เป็นวันสำคัญของโลกอีกวันหนึ่งที่ชวนให้คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพของเราเอง โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเขตร้อนและได้รับผลกระทบจากโรคเหล่านี้โดยตรง และไข้เลือดออกเป็นเป้าหมายแรกที่ประเทศไทยจะทำให้สำเร็จในการดูแลโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย

วันโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยหรือ World Neglected Tropical Disease เรียกสั้น ๆ ว่า World NTD Day เป็นความพยายามของภาคสาธารณสุขทั่วโลกที่จะรณรงค์สร้างความตระหนักถึงโรคในเขตร้อนที่คุกคามสุขภาพและความเป็นอยู่ของผู้คน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคน รวมถึงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โรคในกลุ่มนี้ที่คุ้นหูเรากันมากที่สุด ได้แก่ ไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะ ไข้มาลาเรีย โรคเท้าช้าง โรคเรื้อน และพยาธิต่าง ๆ สำหรับประเทศไทย 3 โรคที่สำคัญ ได้แก่ ไข้เลือดออก มาลาเรีย และวัณโรค

แพทย์หญิงดารินทร์ อารีย์โชคชัย รองผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เล่าว่า “โรคเขตร้อนที่ถูกละเลยที่ได้ชื่ออย่างนี้เพราะโรคเหล่านี้พบในประเทศเขตร้อนซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนา โรคเหล่านี้จึงมักไม่พบในประเทศตะวันตกหรือประเทศที่พัฒนาแล้วและไม่ได้รับความสนใจมากนัก ทำให้การพัฒนายารักษาโรคเหล่านี้มีน้อยและเป็นไปได้ช้า และคนในเขตร้อนเองก็อยู่กับโรคเหล่านี้จนชิน และไม่ได้ตระหนักว่าโรคเหล่านี้คือภัยคุกคามสุขภาพ”

โรค NTD ที่สำคัญที่สุดในประเทศไทยคือไข้เลือดออกซึ่งพบในทุกจังหวัด มียุงลายเป็นพาหะ และมีการรายงานผู้ป่วยปีละ 70,000-150,000 คนต่อปี อัตราการเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกอยู่ที่ 1 คนต่อผู้ป่วย 1,000 คน หมายความว่าในแต่ละปีมีคนเสียชีวิตจากไข้เลือดออกเฉลี่ย 70-80 คน สิ่งที่น่ากลัวคือโรคไข้เลือดออกนี้ยังไม่มียารักษา ต้องรักษากันไปตามอาการเท่านั้น และกลุ่มที่มีอัตราการป่วยสูงสุดคือเด็กวัยเรียนอายุระหว่าง 5-14 ปี รองลงมาคือกลุ่มวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-24 ปี แต่เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากขึ้นด้วยเพราะกลุ่มนี้มักจะทนเป็นไข้ไปก่อนเมื่ออาการหนักจึงค่อยมาหาหมอ

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “โรคไข้เลือดออก เป็นโรคกลุ่ม NTD ที่สำคัญมาก เพราะคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อมีอาการไม่มาก หลายคนไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อจากยุงลายที่กัดคนเหล่านี้แล้วสามารถแพร่เชื้อต่อไปได้อีกมากมาย ลำหรับคนที่มีอาการจะมีความรุนแรงต่างกัน ตั้งแต่อาการน้อย มีไข้ ไปจนถึงขั้นอวัยวะบางส่วนถูกทำลาย และเสียชีวิตได้

“เวลาที่เชื้อไข้เลือดออกเข้าสู่ร่างกาย ร่างกายเราจะมีกระบวนการกำจัดเชื้อ แต่กระบวนการนี้จะทำให้ร่างกายเกิดการปฏิกิริยารุนแรงจนช็อก หรือมีอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ได้ เหมือนกับเจ้าของบ้านเตรียมปืนมายิงผู้ร้าย พอยิงผู้ร้ายตายแล้วบ้านพังไปด้วย หลายคนช็อค อวัยวะล้มเหลว และเสียชีวิต ยิ่งใครแข็งแรง ภูมิต้านทานดี มักมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการรุนแรง” ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง กุลกัญญา กล่าว

อาการของโรคไข้เลือดออกมีตั้งแต่ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยเนื้อตัว หน้าแดง คลื่นไส้อาเจียน รับประทานอาหารไม่ได้ ปวดท้องหนัก ถ้าอาการหนักมากอาจจะมีเลือดออกง่าย ถ่ายดำ ช็อคหรือมีเหงื่อออกมากตัวเย็น อวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว

การต่อสู้กับไข้เลือดออกที่ดีที่สุดคือการพยายามอย่าให้ยุงกัด โดยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ยุงลายชอบน้ำขัง น้ำนิ่ง ขนาดหยดน้ำในกาบใบไม้ยังวางไข่ได้ ดังนั้น จึงมักพบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในเมือง เช่น ตามจานรองกระถางต้นไม้ อ่างเก็บน้ำในห้องน้ำ กล่องหรือกระป๋องที่ทิ้งไว้แล้วมีน้ำขัง

“2 ปีที่ผ่านมา การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกลดลง เพราะการที่คนไม่รวมอยู่ในที่เดียวกันเป็นจำนวนมาก ทำให้การแพร่ของโรคลดลง คนอยู่บ้านมากขึ้น ขยะในที่ชุมชนลดลง คนดูแลบ้านมากขึ้น แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายลดลง เช่นในปี 2564 เราพบลูกน้ำยุงลายในขยะที่เป็นแหล่งน้ำขังลดลงจาก 15% เหลือ 9%” แพทย์หญิงดารินทร์ กล่าว

แต่ในปีนี้ คาดว่าอาจพบการติดเชื้อสูงขึ้นถึง 95,000 ราย เพราะมีการผ่อนคลายมาตรการหลาย ๆ อย่างเรื่องการเดินทาง การกลับไปโรงเรียนบ้าง เรียนที่บ้านบ้างสลับกันไป ทำให้การดูแลแหล่งน้ำในโรงเรียนหรือในชุมชนไม่สม่ำเสมอ เปิดโอกาสให้ยุงลายวางไข่ได้มากขึ้น

“ประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จในการจัดการกับโรคเหล่านี้จนอัตราการติดเชื้อลดลง มีการดูแลผู้ป่วยที่ดี แต่ความร่วมมือในการให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับโรค และร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราเอาชนะไข้เลือดออกได้” ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง กุลกัญญา กล่าว

ล่าสุด องค์กรภาครัฐและเอกชน 11 แห่งร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก Dengue-Zero เพื่อร่วมมือในการนำพาประเทศไทยสู่สังคมปลอดไข้เลือดออก โดยองค์กรพันธมิตรทั้ง 11 แห่งที่ร่วมลงนามในครั้งนี้ ได้แก่ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สมาคมนักบริหารโรงพยาบาลแห่งประเทศไทย และบริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย) จำกัด

ภายใต้กรอบการทำงาน 5 ปี ของบันทึกข้อตกลง Dengue-Zero องค์กรพันธมิตรจะทำงานร่วมงานเพื่อ 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ การลดอัตราการเสียชีวิตจากไข้เลือดออกให้ต่ำกว่า 1 คน ต่อผู้ป่วย 10,000 คน การลดอัตราการเจ็บป่วยจากได้เลือดออกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 25 และควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในชุมชนให้ต่ำกว่า 5 หลังคาเรือนจากการสำรวจ 100 หลังคาเรือน เป้าหมายเหล่านี้จะเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่เป้าหมายสูงสุดคือการลดอัตราการเสียชีวิตจากไข้เลือดออกให้เป็น 0 นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการขับเคลื่อนทั้งเชิงนโยบายและการปฏิบัติงานที่จะช่วยผลักดันให้คนไทยไม่ต้องเจ็บป่วยจากโรคเลือดออกได้อย่างยั่งยืน




กำลังโหลดความคิดเห็น