xs
xsm
sm
md
lg

“วิโรจน์” ลั่นพลิกฟื้นสุขภาพคนกรุง ต้องคิดผู้ป่วยทุกคนคือญาติ เล็งฉีดวัคซีนไข้เลือดออกกลุ่มเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ก้าวไกล เดินสายทำคะแนน ลั่น ต้องคิดว่าผู้ป่วยทุกคนคือญาติ!!! ขนนโยบายสาธารณสุข ฉีดวัคซีนไข้เลือดออกในกลุ่มเสี่ยง พลิกฟื้นสุขภาพคนกรุง


วันนี้ (9 ก.พ.) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล เดินทางไปยังชุมชนบ้านสวน ชุมชนเสนานิคม พื้นที่เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายอภิวัฒน์ ด่านศรีชาญชัย ว่าที่ผู้สมัคร ส.ก. เขตจตุจักร เพื่อพบปะพี่น้องประชาชน พร้อมรับฟังปัญหาต่างๆ พร้อมกันนี้ นายวิโรจน์ ได้เปิดตัวนโยบายด้านสาธารณสุข หวังแก้ปัญหาสุขภาพและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ชูหัวใจการทำงาน “ต้องคิดว่าผู้ป่วยทุกคนคือญาติ” เพื่อความรวดเร็ว ครอบคลุม มีประสิทธิภาพ ด้วยนโยบายหลักดังต่อไปนี้

1. เพิ่มศักยภาพในการป้องกันโรค สนับสนุนให้ประชาชนได้รับวัคซีน นายวิโรจน์ ยกตัวอย่างผู้ป่วยติดเตียงบางส่วนมีภาวะปอดอักเสบ เราสามารถฉีดวัคซีน IPD (ป้องกันปอดอักเสบ) เพื่อลดความเสี่ยง นายวิโรจน์ ยังอธิบายต่อไปอีกว่า “ต้นทุนในการป้องกันโรคด้วยวัคซีนอาจจะสูง แต่ก็ต้องจ่าย เพราะต้นทุนในการรักษาแพงกว่ามาก หากเราไม่ตัดสินใจจัดงบประมาณในการป้องกันโรค มันสะท้อนว่า เรากำลังเพิกเฉยกับสุขภาพของคนกรุง”

นอกจากวัคซีนปอดอักเสบ นายวิโรจน์ ยังตั้งใจจะขยายสิทธิการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก สองโรคติดต่อสำคัญของคนไทย นายวิโรจน์ พร้อมสนับสนุนและให้สิทธิในการฉีดวัคซีนไข้เลือดออกกับเด็กวัย 9-16 ปี ที่เคยมีประวัติเคยติดไข้เลือดออกมาแล้วภายใต้คำแนะนำแพทย์ เนื่องจากตามผลการศึกษาพบว่าการฉีดวัคซีนให้กับคนที่ยังไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออก จะยิ่งเพิ่มความรุนแรงของอาการหากได้รับเชื้อ

“เราเคยคิดว่าวิธีเดียวที่จะป้องกันไข้เลือดออกได้ คือ การฉีดยุง กำจัดยุงลาย ผมคิดว่าฉีดยุงก็สำคัญ แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ฉีดวัคซีน วัคซีนไข้เลือดออกในโรงพยาบาลเอกชน ราคา 2 เข็มเกือบหมื่นบาท คนทั่วไปแทบไม่มีทางจ่ายไหว กทม.จะดูแลให้ และไม่เพียงให้บริการวัคซีนฟรี แต่ กทม. จะให้ทุนกับมหาวิทยาลัยของไทย พัฒนาวัคซีนไข้เลือดออก made in Thailand เพื่อที่ต่อไปไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ แต่คนไทยทุกคนจะเข้าถึงวัคซีนไข้เลือดออกได้ง่ายขึ้น เพราะวัคซีนราคาถูกลงจากการผลิตในประเทศ” นายวิโรจน์ กล่าว

2. ทำให้คนกรุงเทพฯเข้าถึงนโยบายขั้นพื้นฐานครอบคลุมที่สุด นายวิโรจน์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ว่า “จากข้อมูลที่มีการสำรวจและเก็บสถิติ พบว่า คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ซื้อยากินเอง และใช้สิทธิบัตรทองน้อยกว่าคนในจังหวัดอื่นๆ จากสถิติเหล่านี้พบว่า คลินิกชุมชนอบอุ่นที่ให้บริการไม่ครอบคลุม และการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของกรุงเทพฯ ต่ำกว่าคนจังหวัดอื่น ถ้าทำให้คนกรุงเทพฯใช้สิทธิบัตรทองสะดวกขึ้น จะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือน ค่าครองชีพด้วย”

ซึ่งปัจจุบันคลินิกอบอุ่นในกรุงเทพฯ มีเพียง 261 แห่ง แต่ละแห่งดูแลผู้ป่วยสูงถึง 10,000 คน เมื่อรวมกับ ศูนย์บริการสาธารณสุขของกรุงเทพฯ ก็ยังมีปริมาณไม่มากนัก ขณะที่จังหวัดอื่นๆ มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล หรือ รพ.สต. ดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่เฉลี่ย 3,000 คนต่อแห่งเท่านั้น จะเห็นได้ว่าศูนย์บริการทางการแพทย์ที่คนกรุงเทพฯมีไม่เพียงพอและครอบคลุม โดย นายวิโรจน์ ชี้ให้เห็นว่า ผู้ว่าฯ จะต้องแก้โจทย์นี้ให้ได้ และเขาพร้อมทำงานเชิงรุกกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที

3. ลดความซับซ้อน-ข้อจำกัด ในการส่งตัวผู้ป่วยและการออกแบบระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งปัจจุบันการส่งตัวผู้ป่วยติดขัดอยู่ที่ปัญหาสังกัดโรงพยาบาล การรับผู้ป่วย พร้อมยกตัวอย่างเคสโควิดที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลต้องปฏิเสธผู้ป่วย
สำหรับการดูแลผู้ป่วยติดเตียงในกรุงเทพฯ มีอยู่ 2 หมื่นคน ต้องเร่งจ้างงานตำแหน่งผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือ care giver เพิ่มขึ้น วิโรจน์อธิบายต่อผู้สื่อข่าวว่า “เมื่อมีผู้ป่วยติดเตียงมันส่งกระทบต่อกำลังใจและความรู้สึกของคนในครอบครัว และทำให้ครอบครัวต้องสละคนที่สุขภาพแข็งแรง วัยทำงาน 1 คน เพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน ขาดคนทำงานหาเลี้ยงครอบครัวไป 1 คน ถ้าผู้ว่าฯ เห็นคนกรุงเทพฯเป็นครอบครัว ต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย คนกรุงเทพฯที่เจ็บป่วยไม่สมควรต้องเสียเวลากับการรอคอย เพราะการรอคอยอาจจะไม่ใช่รอหมอ รอยา อาจจะเป็นการรอคอยความตาย” นายวิโรจน์ กล่าว






กำลังโหลดความคิดเห็น