xs
xsm
sm
md
lg

ชง 3 แนวทางจูงใจปั๊มลูก เพิ่มสถานเลี้ยงเด็กคุณภาพ ลดภาษี รัฐช่วยคนละครึ่งค่าของใช้เด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราชวิทยาลัยสูติฯ เร่งศึกษากำหนดรายการรักษามีบุตรยากเป็นชุดสิทธิประโยชน์ และค่าใช้จ่าย หมอสูติศิริราช ชง 3 แนวทางปรับค่านิยมคนไม่อยากมีลูก เปิดสถานเลี้ยงเด็กอ่อนคุณภาพ รัฐช่วยจ่าย “คนละครึ่ง” ค่าของใช้เด็กอ่อน ลดภาษีจูงใจ

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการจัดทำรายละเอียดแนวทางการทำหัตถการเพื่อรักษาโรคมีบุตรยาก เพื่อส่งเสริมการเกิดในประเทศไทย ว่า ขณะนี้เพิ่งจะเริ่มตั้งกรรมการที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวช และพิจารณาว่าควรจัดการรักษาผู้มีบุตรยากอะไรบ้างให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งมีตั้งแต่ขั้นตอนง่ายๆ ไปจนถึงยาก โดยจะสัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายในแต่ละรายการ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การรักษาผู้มีบุตรยาก 100 คน จะสำเร็จประมาณ 30 คน ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงตั้งแต่หลักแสนบาท ไปจนถึงหลักล้านบาท

ด้าน รศ.นพ.สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์ อาจารย์ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การรักษาโรคมีบุตรยากอาจจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งเพื่อเพิ่มอัตราการเกิด เพราะคนที่มีปัญหานี้มีประมาณ 10-15% เท่านั้น ขณะที่ค่ารักษามีบุตรยากอยู่ที่ว่าจะรักษาอะไร บางอย่างไม่สูง เช่น ยากระตุ้นการตกไข่ การฉีดอสุจิผสมเทียม เป็นต้น แต่หากใช้เทคโนโลยีระดับสูง เช่น เด็กหลอดแก้วค่าใช้จ่ายสูง เนื่องจากต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 100% อีกทั้งสถานพยาบาลที่ทำเด็กหลอดแก้วยังมีน้อย ส่วนใหญ่กระจุกตัวใน กทม. และจังหวัดใหญ่ ที่สำคัญคือ 90% เป็นสถานพยาบาลเอกชน

จึงต้องทบทวนว่าจะมีความคุ้มค่าหรือไม่ เพราะค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้นตามอายุของผู้หญิงที่เข้ามารับการรักษา ตรงกันข้ามอัตราความสำเร็จก็จะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้นด้วย เช่น ผู้หญิงอายุน้อยกว่า 30 ปี โอกาสสำเร็จมากกว่า 50% แต่หากอายุ 40 ปี โอกาสสำเร็จไม่ถึง 5-10% ดังนั้น ต้องคำนวณว่า การได้เด็ก 1 คน จากการทำเด็กหลอดแก้วจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไร ซึ่งในอิสราเอลมีการศึกษาพบว่าเด็กที่เกิดจากเด็กหลอดแก้ว 1 คน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1 ล้านบาท แล้วไทยก็ต้องถามว่าเราต้องการเด็กหลอดแก้วจำนวนเท่าไรที่จะเพียงพอต่อการเพิ่มอัตราการเกิด ดังนั้น ต้องมีการคิดอย่างรอบคอบ เพราะเป็นการลงทุนที่สูง ที่สำคัญคือเข้าได้กับบริบทของประเทศไทยหรือไม่

ดังนั้น ต้องมามองว่าปัญหาจริงๆ ของการเกิดน้อยในไทยอยู่ที่ตรงไหน แต่ปัญหาที่ทำให้เด็กเกิดน้อย คือ เรื่องค่านิยมที่ไม่อยากมีลูก ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ได้มีปัญหามีลูกยาก หากต้องการให้เกิดพลัง และสร้างการเปลี่ยนแปลง ต้องมาดูว่าคนเหล่านี้ไม่พร้อมมีลูกเพราะอะไรแล้วเข้าไปส่งเสริม ช่วยเหลือ เชื่อว่า จะสามารถเพิ่มอัตราการเกิดได้ ส่วนการมีลูกยากเป็นเพราะว่าไม่พร้อมจะมีลูกในวัยที่สมควร เช่น วัย 20-30 ปี มีความพร้อมทางด้านร่างกายมากที่สุด แต่กว่าจะพร้อมมีลูกจริงๆ เมื่ออายุ 39-40 ปีขึ้นไป จึงเป็นปัญหาสะสมเรื้อรัง

รศ.นพ.สุภักดี กล่าวว่า ต้องปรับค่านิยมให้เริ่มคิดมีครอบครัวที่สมบูรณ์ในวัยที่เหมาะสม 30 ปีต้นๆ ภาครัฐและเอกชนต้องสนับสนุนคนกลุ่มนี้พร้อมจะมีลูกในวัยเหมาะสม ที่ตนอยากเสนอ คือ 1. สร้างสถานเลี้ยงเด็กให้เพียงพอ มีคุณภาพ ไว้ใจได้ เพื่อให้พาลูกมาฝากเลี้ยงในช่วงเวลาทำงาน เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า 2. ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็ก ปัจจุบันมีราคาแพงมาก ไม่ว่าจะเป็นนม เสื้อผ้าเด็กอ่อน หากมีการสนับสนุน เช่น นโยบายคนละครึ่ง ค่านมคนละครึ่ง ค่าผ้าอ้อมสำเร็จรูปคนละครึ่ง ของใช้เด็กอ่อนคนละครึ่ง เพื่อแบ่งเบาภาระทำให้คนอยากจะมีลูกมากขึ้น เป็นต้น 3. จูงใจด้วยนโยบายลด หรือละเว้นภาษีสำหรับคนที่มีลูกในช่วงอายุที่เหมาะสม ต่อเนื่องกี่ปี หรือมีสิทธิพิเศษสำหรับคนมีลูกเล็ก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายโรงเรียนอนุบาลเอกชนแพงมากหากมีโรงเรียนอนุบาลของรัฐที่มีคุณภาพ จะทำให้คนไม่ต้องเสียเงินพาลูกเข้าโรงเรียนเอกชนราคาแพง

“การลดภาระในการมีลูกนั้นจะเป็นการกระตุ้น ส่งเสริมอัตราการเกิดในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน ส่วนการรักษาโรคมีบุตรยากนั้นยังต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่า บริบทประเทศไทยพร้อมที่จะลงทุนหรือไม่ สถานพยาบาลสามารถรองรับได้มากแค่ไหน แล้วจริงๆ คนที่รักษาภาวะมีลูกยาก ส่วนหนึ่งมีฐานะที่จะซับพอร์ตตรงนี้ได้อยู่แล้ว” รศ.นพ.สุภักดี กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น