กรมควบคุมโรค เผย ไทยยังอยู่ช่วงขาขึ้นของ“โควิด” เหตุใช้ชีวิตแทบใกล้ปกติ เหลือยังไม่เปิดแค่ผับบาร์ แต่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยกว่า 90% ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ห่วง 2-3 สัปดาห์ ป่วยหนักดับอาจเพิ่มขึ้นได้ ตามเส้นคาดการณ์ ย้ำลดรวมตัว เอาเชื้อไปติดกลุ่มเสี่ยง ฉีดเข็มกระตุ้น เร่งสื่อสาร หวั่นคนยังตระหนก อาจไม่ได้จัดสงกรานต์
เมื่อวันที่ 9 ก.พ. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์กรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของไทยเพิ่มสูงขึ้น ว่า สถานการณ์ทั่วโลกทางแถบยุโรปและอเมริกาอยู่ในช่วงขาลง ติดเชื้อลดลง แต่เอเชียและไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น จึงพบตัวเลขสูงขึ้นได้ ปัจจัยหลักของไทยเกิดจากการที่เปิดกิจกรรมมากขึ้น กิจกรรมทางสังคมเพิ่มขึ้นมาก เหลือเพียงผับบาร์ คาราโอเกะ ที่ยังไม่ได้เปิด แต่เปิดในรูปแบบร้านอาหารได้ ฉะนั้น ขณะนี้เราใช้ชีวิตเหมือนปกติแล้ว การติดเชื้อจึงเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ไม่อยากให้กังวลเรื่องตัวเลขติดเชื้อ อยากให้ดูจำนวนป่วยหนักและเสียชีวิต โดยข้อมูลล่าสุด เรามีผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระหว่างรักษาทั้งที่ รพ.และที่บ้าน (Home Isolation) รวม 9 หมื่นราย ครึ่งหนึ่งอยู่ใน รพ. และพบว่า 90% ของคนที่อยู่ใน รพ.ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยมาก ส่วนผู้ที่อาการรุนแรงต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ มีประมาณ 111 ราย คิดเป็นอัตรา 0.1% ของผู้ติดเชื้อ ซึ่งเราพยายามประคองให้ไม่เกินวันละ 200 รายจากที่เคยพบสูงถึง 1,300 รายในช่วงเดลตา ทำให้ไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วยโรคอื่น เราไม่อยากให้เกิดภาพนั้น
“ขณะนี้ค่อนข้างสบายใจได้กว่ารอบเดลตาที่ติดเชื้อสูง มีตัวเลขป่วยหนักและเสียชีวิตตามมา แต่รอบนี้ติดเชื้อสูง แต่อาการหนักยังน้อย ทั้งนี้ อีก 2-3 สัปดาห์จะมีตัวเลขป่วยหนักและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นบ้าง เพราะคาดว่าปลายเดือนนี้ถึงต้นเดือนหน้าจะถึงจุดพีกของการระบาด ตามที่คาดการณ์ไว้ในเส้นฉากทัศน์ที่หากไม่มีมาตรการอะไรเลย ซึ่งอาจจะถึง 3 หมื่นรายต่อวัน และเราจะอยู่ในตัวเลขนั้นนานแค่ไหน ก็อยู่กับมาตรการที่เราจะใช้ควบคุมสถานการณ์ ถ้าประชาชนช่วยกันป้องกันมันก็จะไม่ยาว” นพ.จักรรัฐ กล่าว
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า เราไม่อยากเห็นตัวเลขสูงถึงที่คาดการณ์ไว้ แต่วันนี้ก็เห็นตัวเลข 1.3 หมื่นรายแล้ว ต้องช่วยกันลดปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อ เพราะตอนนี้ติดเชื้อในครอบครับเป็นหลัก ต้องลดการรวมตัวของคน เช่น รับประทานอาหาร นักเรียนเล่นกีฬารวมกัน ลดความเสี่ยงในที่ทำงาน หากจะลดอัตราการป่วยหนัก เราต้องลดความเสี่ยงในการนำเชื้อเข้าไปติดในกลุ่มเสี่ยง 608 และขอให้กลุ่มนี้เข้ามารับวัคซีนบูสเตอร์โดสตามกำหนด ย้ำว่า ตรงนี้มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะหากติดเชื้อมากขึ้น แต่ตัวเลขป่วยหนักไม่เพิ่มขึ้น การเสียชีวิตไม่สูงก็จะไม่น่ากังวล เราก็สามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ต่อไปได้
“ประเด็นคือ หากติดเชื้อถึงพีกเยอะๆ แล้วคนยังตกใจอยู่ สงกรานต์ปีนี้เราอาจไม่ได้จัดเทศกาล ฉะนั้น เราต้องช่วยกันสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจว่า ติดเชื้อแล้วอาการไม่รุนแรงมีความสำคัญมาก เราต้องเข้ามารับวัคซีนกระตุ้นรองรับกลุ่มเสี่ยง” นพ.จักรรัฐ กล่าวและว่า สิ่งสำคัญที่ต้องฝากถึงทุกคน คือ 1. ปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง เลี่ยงเข้าสถานที่แออัด หมั่นล้างมือ ช่วงนี้ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารกับคนที่มีความเสี่ยงสูงแม้จะรู้จักกันก็ตาม 2. หากบ้านที่มีกลุ่มเสี่ยง 608 และเด็ก ก็ขอให้คนอื่นในบ้าน เว้นระยะห่าง เลี่ยงรับประทานอาหารร่วมกัน สวมหน้ากากอนามัย และ 3. เข้ามารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ผู้ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ก็รับเข็มกระตุ้นเป็นแอสตร้าฯ ผู้ที่รับซิโนแวค+แอสตร้าฯ ก็มารับแอสตร้าฯ และผู้ที่รับแอสตร้าฯ 2 เข็มก็มารับไฟเซอร์ ทั้งนี้ เพื่อให้เรามั่นใจว่า แม้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วยอาการหนักจะไม่เพิ่มขึ้นตาม