โฆษกรัฐบาลเผย “นายกฯ” มั่นใจมาตรการสาธารณสุขไทยรับมือการแพร่ระบาดโอมิครอน หลังผลโพลชี้ประชาชน 71.4% เชื่อมาตรการ Universal Prevention ป้องกันโควิด-19 ได้
วันนี้ (9 ก.พ.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบผลโพล DDC Poll ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดได้สำรวจกับประชาชนกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 4,800 คน รายงานว่า ประชาชน 71.4% เชื่อมั่นในมาตรการ Universal Prevention สะท้อนให้เห็นภาพของความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อมาตรการและระบบสาธารสุขของไทย ที่ยังสามารถรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ขอบคุณประชาชนทุกฝ่าย ที่ร่วมด้วยช่วยกันในการปฏิบัติตนตามมาตรการสาธารณสุข และมาตรการ Universal Prevention อย่างเคร่งครัด ตลอดจนความทุ่มเทของแพทย์และบุคลากรทางแพทย์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนที่ช่วยกันทำงานอย่างหนักตลอดมา นายกรัฐมนตรี ยังมั่นใจว่า ประเทศไทยและคนไทย จะประสบความสำเร็จในการก้าวผ่านการแพร่ระบาดระลอกนี้ในอีกไม่นาน
นายธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลโพล DDC Poll สะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อมาตรการ Universal Prevention ตลอดจนความร่วมมือของประชาชนในการดูแลเอง โดย ประชาชน 79% ปฏิบัติตน โดยการล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และเจลแอลกอฮอล์ 63% หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากและใบหน้าโดยไม่จำเป็น 54.9% เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร 54.1% สวมหน้ากากอนามัยและสวมทับด้วยหน้ากากผ้าเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นมากกว่า 2 คน และ 44.7% ตรวจ ATK เมื่อสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยง
“ผลโพลสะท้อนให้เห็นความเชื่อมั่นและความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ช่วยกันปฏิบัติตนตามมาตรการ Universal Prevention อย่างเคร่งครัด อีกทั้งความเสียสละของบุคลากรด่านหน้าและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ วานนี้ ที่ประชุม ครม. นายกรัฐมนตรียังเห็นชอบให้มีการอนุมัติงบกลาง 3,150 ล้านบาท เพื่อตอบแทนเป็นขวัญกำลังใจให้ อสม.เพิ่มอีกเดือนละ 500 บาท เป็นเวลา 6 เดือน อีกด้วย” นายธนกร กล่าว
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 วันนี้มียอดผู้ติดเชื้อ รวม 13,182 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 13,043 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 139 ราย ผู้ป่วยสะสม 307,616 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) หายป่วยกลับบ้าน 8,571 ราย หายป่วยสะสม 241,383 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 98,830 ราย เสียชีวิต 24 ราย