xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ติดเชื้อพุ่ง 2.7 พันราย คาดยังสูงต่อเนื่อง แต่ไม่ค่อยมีอาการ โรคไม่รุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กทม.ติดเชื้อพุ่ง 2.7 พันราย คาด ยังมีแนวโน้มสูงต่อเนื่องจากนั้นจะทรงตัว เผยติดเชื้อกระจายทุกเขต ทุกอายุ แต่พบกลุ่มวัยรุ่นวัยเรียนมากขึ้น ติดจากการสัมผัสผู้ป่วย ไปสถานที่เสี่ยง ร้านอาหารที่ปรับมาจากผับบาร์ แต่ส่วนใหญ่ติดเชื้อไม่ค่อยมีอาการ ความรุนแรงลดลง เน้นย้ำป้องกันตนเองต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 9 ก.พ. นพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 พื้นที่ กทม. ว่า วันนี้ กทม.มีผู้ติดเชื้อใหม่ 2,757 ราย กระจายตัวทั่วทุกเขตใน กทม. โดย 10 อันดับแรกที่ติดสูงในระลอกใหม่ คือ ราชเทวี 1,463 ราย จอมทอง 1,340 ราย บางกอกน้อย 1,267 ราย สายไหม 1,122 ราย ประเวศ 1,058 ราย จตุจักร 1,047 ราย ห้วยขวาง 986 ราย บางแค 969 ราย หลักสี่ 908 ราย และบางเขน 894 ราย อย่างไรก็ตาม การกระจายแต่ละเขตทั่วๆ กันไป ต่างกันไม่มาก

ทั้งนี้ ระลอกใหม่ตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นเชื้อโอมิครอน การติดเชื้อกระจายตัวทุกกลุ่มอายุ เริ่มพบมากในกลุ่มวัยรุ่นวัยทำงาน และนักเรียนชั้นม.ปลายปะปนขึ้นมา ปัจจัยเสี่ยงคือสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน และเข้าไปพื้นที่แออัด ใช้บริการสถานที่อากาศปิด เช่น ร้านอาหารที่ปรับมาจากผับบาร์ เป็นต้น เหมือนที่ผ่านมา แต่พบการกระจายในครอบครัวง่ายขึ้น จากเดิมที่มักติดคนเดียว แต่พบการติดเกือบทุกคนในครอบครัว เพราะเชื้อแพร่ง่าย และส่วนหนึ่งอาจมีการหย่อนมาตรการในครอบครัว ดังนั้น จึงต้องเข้มมาตรการป้องกันตนเอง

สำหรับการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิดในระลอกใหม่นี้ เป็นหญิงและชายพอๆ กัน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและและมีโรคประจำตัว มีประวัติรับวัคซีนไม่ครบหรือไม่ได้รับ อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตลดลง แสดงว่าตัวโรคไม่รุนแรง การเสียชีวิตค่อนข้างน้อย อีกส่วนที่แสดงว่าอาการไม่รุนแรง คือ ผู้ที่มีอาการป่วยตรวจ ATK บวก ดูแลพักที่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นอาการสีเขียว มีสีเหลืองส่วนน้อย จนถึงตอนนี้ยังไม่ค่อยพบสีแดง

“สรุปสถานการณ์การติดเชื้อแนวโน้มสัปดาห์ที่ผ่านมาสูงขึ้นจริง พบประมาณ 1,800-2,000 รายต่อวัน ลักษณะของโรคยังไม่แสดงลักษณะอาการรุนแรง ปัจจัยเสี่ยงกระจายตัวทุกกลุ่มอายุ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือติดจากการพบผู้ป่วยยืนยัน ปฏิบัติงานพื้นที่เสี่ยง แหล่งชุมชน รวมตัวทำกิจกรรม การรวมกลุ่มสังสรรค์ในร้านอาหารกึ่งผับบาร์ การเสียชีวิตลดลงจาก 5-10 รายต่อวันเหลือ 1-2 รายต่อวัน เน้นย้ำมาตรการป้องกันตนเองโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คัดกรอง ATK ก่อนปฏิบัติงาน และปฏิบัติตนเองเรื่อง COVID Free Setting” นพ.สุทัศน์ กล่าว

เมื่อถามว่า แนวโน้ม กทม.จะสูงขึ้นอีกแค่ไหน นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในแนวโน้มสูงขึ้น แต่จะสูงขึ้นกว่านี้ไม่มาก และน่าจะทรงตัวได้ ซึ่งการติดเชื้อใน กทม.ที่สูงขึ้นก็เป็นไปตามคาดการณ์ และสอดคล้องกับสถานการณ์ประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยใน กทม.ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งยังมาจากปริมณฑลที่บริษัทต่างๆ ส่งพนักงานที่ติดเชื้อเข้ามารักษาด้วย และยังต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อจากผู้ที่กลับเข้ามาทำงาน สำหรับคลัสเตอร์ต่างๆ ใน กทม. ยังเป็นแหล่งชุมชน ตลาดพบบ้าง ส่วนค่ายมวยก่อนหน้านี้พบตอนนี้ปรับปรุงก็ไม่พบแล้ว ส่วนแคมป์ก็พบน้อยลง


กำลังโหลดความคิดเห็น