xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการแจงเหตุผลไม่ควรเปรียบเทียบนโยบายบุหรี่ไฟฟ้าของไทยกับนิวซีแลนด์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการ แจงเหตุผลไม่ควรเปรียบเทียบนโยบายบุหรี่ไฟฟ้าระหว่างไทยกับนิวซีแลนด์ ชี้ นิวซีแลนด์มีมาตรการคุมเข้มทุกด้าน คะแนนเต็ม 10 ไม่หัก ไทยเทียบไม่ติด มาตรการอ่อนเกือบทุกด้าน สำเร็จเพียงมาตรการซองเรียบ ภาพคำเตือนบนซองเท่านั้น

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงกรณีเครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าและส.ส.พรรคก้าวไกล ออกมาเสนอให้รัฐบาลเดินตามประเทศนิวซีแลนด์ที่สนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้า ว่าสถานการณ์การสูบบุหรี่ การควบคุมการบริโภคยาสูบ รวมทั้งสภาพสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยกับนิวซีแลนด์มีความแตกต่างกันว่า ประเทศนิวซีแลนด์มีพัฒนาการด้านการควบคุมยาสูบก้าวหน้ากว่าประเทศไทยในหลาย ๆ ด้าน และมีจำนวนผู้สูบบุหรี่น้อยกว่าประเทศไทยถึง 20 เท่า โดยจำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศนิวซีแลนด์มีเพียง 535,000 คน คิดเป็น 13% ในขณะที่ประเทศไทยมีมากถึง 9.9 ล้านคน คิดเป็น 17% นอกจากนี้ ประเทศนิวซีแลนด์ยังมีนโยบายการควบคุมยาสูบที่ก้าวหน้ากว่าไทยไปมาก

“จากการประเมินขององค์การอนามัยโลกล่าสุด ปี 2564 พบนิวซีแลนด์ได้คะแนนเต็ม (10/10) ทั้งการควบคุมการบริโภคยาสูบ ห้ามการโฆษณา ห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ มีภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ และระบบบริการเลิกบุหรี่ ส่วนประเทศไทยนั้น มีเพียงเรื่องภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ที่เพิ่งประกาศใช้แบบซองเรียบเท่านั้นที่ได้คะแนนเต็ม ส่วนการควบคุมการบริโภคยาสูบด้านอื่นยังได้คะแนนต่ำ เช่น การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ได้คะแนนเพียง 6/10 การห้ามโฆษณาบุหรี่ ได้เพียง 8/10 และบริการเลิกบุหรี่ได้เพียงระดับ 7.5/10 ที่สำคัญเรื่องมาตรการภาษียาสูบที่นิวซีแลนด์ถือว่าเป็นระบบที่ดีที่สุด ซึ่งได้คะแนนประเมินจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยได้คะแนน 4.63 จากคะแนนเต็ม 5 ส่วนประเทศไทยได้คะแนนเพียง 1.75” ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว

ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวต่อว่า งบประมาณที่จัดสรรสำหรับการควบคุมยาสูบของประเทศนิวซีแลนด์ก็สูงกว่าไทยอย่างมาก และนิวซีแลนด์วางเป้าหมายจะเป็นประเทศที่ปลอดบุหรี่ให้ได้ในปี 2568 ให้มีผู้สูบบุหรี่เหลือในประเทศไม่เกิน 5% โดยวางแผนจัดสรรงบประมาณในการควบคุมยาสูบไว้ปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท ขณะที่ไทยมีงบประมาณสนับสนุนการควบคุมยาสูบน้อยกว่านิวซีแลนด์เกือบ 6 เท่า


ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่พร้อมจะเดินตามนโยบายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าดังเช่นประเทศนิวซีแลนด์ เนื่องจากบริบทประเทศที่แตกต่างกัน หากไยจะเอาอย่างประเทศนิวซีแลนด์ควรจะเอาอย่างในมาตรการควบคุมยาสูบอื่น ๆ ที่นิวซีแลนด์ทำได้ผลเป็นอย่างดี ทั้งเรื่องนโยบายภาษียาสูบ การห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ การบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ และการจัดบริการเลิกสูบบุหรี่อย่างกว้างขวางและเข้าถึงง่าย

“สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ ยังได้แนะประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งประเทศไทยอยู่ในกลุ่มนี้ ให้ห้ามบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบด้วยเหตุผล 10 ข้อโดยเน้นย้ำไปที่การปกป้องเยาวชน รวมทั้งไม่มีหลักฐานเพียงพอว่าบุหรี่ไฟฟ้าลดอันตรายในผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว และเน้นว่าสถานการณ์ในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง จะมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับประเทศรายได้สูง เช่น อังกฤษ รวมทั้งนิวซีแลนด์ด้วย ที่การระบาดของยาสูบเกือบอยู่ภายใต้การควบคุม มีความพร้อมในการควบคุมยาสูบชนิดใหม่ๆ ที่ประเทศรายได้ต่ำและปานกลางไม่สามารถจะทำได้” ศ.นพ.ประกิต กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น