“ข่าวลึกปมลับ” ออกอากาศทาง NEWS1 ล้วงปมลึก คลายปมลับ ตีแผ่ประเด็นร้อน กับ นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมือง และกระบวนการยุติธรรม วันพุธที่ 6 ตุลาคม 2564 ตอน รีดภาษีบาป สิงห์อมควันรับกรรม
ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 เป็นต้นมา อัตราภาษีบุหรี่ถูกปรับขึ้นอีกครั้ง ตามที่มติครม. อนุมัติให้มีการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ หลังจากเคยปรับใหญ่มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2560
สาระสำคัญของภาษีบุหรี่ 2564 นี้ เดิมบุหรี่ราคาขายปลีกไม่เกินซองละ 60 บาท เสียภาษี 20% คราวนี้กลายเป็นบุหรี่ขายปลีกไม่เกินซองละ 72 บาท เสียภาษี 25%
ส่วนบุหรี่ที่มีราคาขายปลีกเกินซองละ 72 บาท จะเสียภาษีเพิ่มจาก 40% เป็น 42%
นอกจากนี้ยังเพิ่มภาษีด้านปริมาณ จากเดิมมวนละ 1.20 บาท หรือซองละ 24 บาท เพิ่มเป็นจัดเก็บมวนละ 1.25 บาท หรือซองละ 25 บาท
ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาอย่างก้าวกระโดด โดยบุหรี่ยอดนิยมของการยาสูบแห่งประเทศไทย เข่นยี่ห้อ sms ที่เดิมขายปลีกที่ราคาซองละ 60 บาท อาจขึ้นมาขายที่ซองละ 66-68 บาทเป็นอย่างน้อย
ทั้งนี้ หลักการและเหตุผล ของกลุ่มหมอนักต้านการสูบบุหรี่ เชื่อว่าการที่บุหรี่มีราคาสูง จะลดนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนได้ถึง 5% เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่มีกำลังซื้อ
ขณะที่บุหรี่ก็เป็นบ่อเกิดของโรคต่างๆ ร่วม 20 โรค โดยมีการศึกษาพบว่า ความเจ็บป่วยด้วยโรคจากบุหรี่ของคนไทย สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี
อย่างไรก็ดี การใช้มาตรการราคาบีบสิงห์อมควันให้ลดจำนวนลง ดูเหมือนจะเคยมีบทเรียนมาแล้ว ในการขึ้นราคาบุหรี่เมื่อปี 2560 นอกจากลดการสูบบุหรี่ไม่ได้ชัดเจน ยังก่อให้เกิดผลกระทบเรื่องอื่นๆ ตามมาเป็นลูกโซ่
อย่างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่ลดลงหลายพันล้านบาท รวมทั้งเงินนำส่งคลังของการยาสูบฯ ที่หายไปเกือบ9 พันล้านบาท ซึ่งไม่ได้เกิดจากคนเลิกสูบบุหรี่
กลายเป็นว่า ที่สูบก็ยังสูบต่อไป แต่หันไปหาทางเลือกต่างๆ ที่มี เช่น ตัดใจจากรสชาติบุหรี่ไทยอันคุ้นเคย ไปสูบบุหรี่นอกแทน หรือไม่ก็หันไปหาบุหรี่เถื่อน หรือยาเส้นที่ถูกกว่าเพราะราคาอยู่ที่ 10-12 บาท
ขณะที่บุหรี่นอก กลับขายเท่ากับบุหรี่ไทยที่ 60 บาท เป็นที่มาของการแข่งขันที่รุนแรง จนการยาสูบฯ เสียส่วนแบ่งการตลาดไปจำนวนมาก
และที่เป็นปัญหาหนักมากกว่านั้น บุหรี่เถื่อน แบรนด์ดังจากต่างประเทศ ทะลักเข้าไทยอย่างมากเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากมีช่องว่างราคาได้กำไรงาม คุ้มความเสี่ยง
ไม่ว่าจะเส้นทางภาคใต้เช่นหาดใหญ่ สงขลา สตูล พัทลุง ตรัง หรือเส้นทางภาคตะวันออก เช่นจันทบุหรี สระแก้ว ซึ่งแต่เดิม ก็เป็นกิจการเก่าแก่ของบรรดามาเฟียทั้งหลายมานานหลายสิบปีแล้ว กลับเบ่งบานคึกคักกว่าเดิม จากภาษีดังกล่าว
จากการตรวจสอบการจำหน่ายบุหรี่เถื่อนออนไลน์ พบว่าราคาบุหรี่มาร์ลโบโร ขายกันแค่ซองละ 65 บาท และถ้าซื้อเป็นแถว จะได้ราคาที่ถูกลงไปกว่านี้อีกมาก และยังมีการปลอมบุหรี่ยี่ห้อ sms และ L&M ซึ่งเป็นที่นิยมอีกด้วย
นอกจากนี้ ปัจจุบัน ยังมีผลิตภัณฑ์ไรเควันที่เรียกว่า ไอคอส กำลังเป็นเทรนต์ใหม่มาแรง เนื่องจากไม่มีควัน และรับรู้กันในหมู่ผู้นิยมสูบไอคอสว่า มันมีอันตรายต่อสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดาเนื่องจาก อย. สหรัฐ อนุญาตให้ขายได้ในอเมริการในฐานะผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยง
จึงมีการลักลอบนำเข้าไอคอสมาจำหน่ายทั่วไป เพราะไอคอสสามารถจำหน่ายได้อย่างถูกกฎหมายใน 67 ประเทศ รวมทั้งใกล้บ้านเราอย่างมาเลเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น
การยาสูบแห่งประเทศไทย ก็เป็นหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบแรง จากการปรับภาษีบุหรี่ปี 2560 เนื่องจากยอดขายตกอย่างหนัก ทำเอาพนักงานโรงงานยาสูบ ที่มีกว่า 2 พันคน ใจตุ๊มๆ ต่อมๆ กลัวว่าจะตกงาน หากว่าโรงงานยาสูบต้องปิดตัว ไม่นับเงินส่งคลังที่หายไปกว่า 9 พันล้านบาท
เช่นเดียวกับ เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ ได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง โดนตัดโควตา 4 ปีซ้อน อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน มีการเรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยโควต้ายาสูบที่ลดลง และหาพืชทดแทนที่จะช่วยให้ชาวไร่ยาสูบมีรายได้
ทั้งนี้ ในการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ครั้งนี้ มหลักการสำคัญ ต้องให้เกิดความสมดุลทั้ง 4 ด้าน คือ
1.ด้านสาธารณสุข คือต้องลดตัวเลขการสูบบุหรี่ให้ได้ 2. ด้านเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ จะต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
3. ด้านรายได้ของรัฐบาลจะต้องไม่ลดลง และ 4. ด้านการดูแลบริหารจัดการบุหรี่เถื่อนและบุหรี่ปลอม
จะต้องติดตามกันต่อไป ความสมดุลทั้ง 4 ดังกล่าว จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ หรือกลายเป็นก่อผลกระทบหลายๆ ด้าน ซ้ำรอยการขึ้นภาษีบุหรี่เมื่อปี 2560