กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ตกเป็นเหยื่อของการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง โดยเฉพาะขนมกรุบกรอบและเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ที่เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนในเด็ก
เมื่อวันที่ 17 ก.ย. นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนในเด็กยังเป็นปัญหาสาธารณสุขไทย โดยข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังกระทรวงสาธารณสุข (HDC) พบว่า เด็กเล็ก อายุ 0-5 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ร้อยละ 8.7 เด็กวัยเรียน อายุ 6-14 ปี พบร้อยละ 11.2 และเด็กวัยรุ่นอายุ 15 -18 ปี พบร้อยละ 13.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตลาดที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อและบริโภคอาหารและเครื่องดื่มของเด็กที่มีไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง ที่มักมุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ผ่านกลยุทธ์การโฆษณาทั้งสื่อออฟไลน์ ออนไลน์ และเกมต่างๆ รวมทั้งการส่งเสริมการขาย ลด แลก แจก แถม ชิงโชค ชิงรางวัล ส่งผลให้เด็กชื่นชอบและบริโภคผลิตภัณฑ์นั้นเพิ่มขึ้นได้ ประกอบกับในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในขณะนี้ ที่เด็กสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ทำให้เด็กซื้อและบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง เพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน รวมทั้งเสี่ยงต่อภาวะบกพร่องด้านสติปัญญา และการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในอนาคต
“ทั้งนี้ รายงานสุขภาพคนไทย พ.ศ. 2563 สำรวจพฤติกรรมการเลือกซื้ออาหารสำหรับเด็กไทย พบว่า ส่วนใหญ่เด็กไทยยังซื้ออาหารตามความชอบ ร้อยละ 27.7 อยากกิน ร้อยละ 18.8 และรสชาติเป็นหลัก ร้อยละ 18.8 และคำนึงถึงคุณค่าทางอาหาร มีเพียงร้อยละ 8.1 นอกจากนี้ การสำรวจกรมอนามัย พ.ศ.2560 ยังพบว่า เด็กเล็กเกือบร้อยละ 50 ดื่มนมรสหวานและนมเปรี้ยว เด็กวัยเรียนและวัยรุ่นประมาณ 1 ใน 3 คน กินขนมกรุบกรอบทุกวัน และมากกว่าครึ่งหนึ่งดื่มน้ำอัดลม 1-3 วันต่อสัปดาห์ และเกือบร้อยละ 15 ดื่มน้ำอัดลมทุกวัน ซึ่งพฤติกรรมการบริโภคขนมกรุบกรอบและน้ำอัดลมของเด็กวัยเรียนเพิ่มขึ้น และเด็กไทยมากกว่าร้อยละ 80 บริโภคอาหารฟาสต์ฟูดสัปดาห์ละอย่างน้อย 1 ครั้ง เฉลี่ยสัปดาห์ละ 4 ครั้ง ซึ่งสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ ที่มีรายได้ระดับเดียวกัน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว