xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ร่วม ศธ.เตรียมขยายมาตรการ Sandbox Safety Zone in School สู่โรงเรียนแบบไปกลับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงสาธารณสุข เผย มาตรการ Sandbox Safety Zone in School ในโรงเรียนประจำได้ผลดี เตรียมร่วมกระทรวงศึกษาธิการขยายสู่โรงเรียนแบบไปกลับ เผย มาตรการและการดำเนินการของโรงเรียนที่ต้องเข้มขึ้น ตามระดับพื้นที่ระบาด

วานนี้ (14 ก.ย.) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงมาตรการ Sandbox Safety Zone in School ว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-11 กันยายน 2564 มีเด็กวัยเรียนวัยรุ่นอายุ 6-18 ปีติดเชื้อโควิด 19 สะสม 129,165 ราย เสียชีวิตสะสม 15 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว แนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมและ เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แม้ยังไม่มีการเปิดเรียน ส่วนหนึ่งติดเชื้อในครอบครัว หรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อยืนยัน สำหรับการ ฉีดวัคซีนในครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้อมูลเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 ได้รับวัคซีนแล้วร้อยละ 88.3 ส่วนเด็กอายุ 12-18 ปี ที่มีโรคประจำตัว ข้อมูลถึงวันที่ 11 กันยายน 2564 รับวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 1 จำนวน 74,932 คน และเข็ม 2 จำนวน 3,241 คน

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย นำร่องเปิดการเรียนการสอนแบบ On site ตามมาตรการ Sandbox Safety Zone in School ในโรงเรียนประจำ ซึ่งมีการแบ่งโซนคัดกรอง โซนกักกันผู้สัมผัสเสี่ยง และโซนปลอดภัยสีเขียว ร่วมกับมาตรการต่างๆ พบว่า ได้ผลดี แม้พบผู้ติดเชื้อ ก็เป็นการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อภายนอกและตรวจจับได้ จึงเตรียมขยายในโรงเรียนแบบไปกลับ โดยมาตรการจะเข้มข้นขึ้น ตามระดับของพื้นที่ระบาด ดังนี้ พื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) โดยครู บุคลากรต้องฉีดวัคซีนมากกว่าร้อยละ 85 ประเมินความเสี่ยง 1 วันต่อสัปดาห์ เน้น 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้มสถานศึกษา คือ 1) สถานศึกษาประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID Plus และประเมินผลผ่าน MOECOVID 2) การทำกิจกรรมร่วมกันต้องเป็นกลุ่มย่อยและไม่ข้ามกลุ่ม 3) จัดระบบให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลและโภชนาการ 4) จัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะการระบายอากาศ 5) จัดเตรียม School isolation และ แผนเผชิญเหตุรองรับ ผู้ติดเชื้อโดยมีการซักซ้อม 6) ควบคุมดูแล การเดินไปกลับให้มีความปลอดภัย (Seal Route) และ 7) จัดทำ School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากร ซึ่งจะมีข้อมูลผลประเมินความเสี่ยง ผลตรวจ ATK ในระยะ 7 วัน ประวัติการรับวัคซีน หรือประวัติติดเชื้อช่วง 1-3 เดือน

“หากโรงเรียนอยู่พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) จะเพิ่มการตรวจด้วย ATK 1 ครั้งภายใน 2 สัปดาห์, พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) เพิ่มการประเมินความเสี่ยงบุคคลเป็น 2 วันต่อสัปดาห์, พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) กำหนดให้สถานประกอบกิจการรอบสถานศึกษา 10 เมตร ต้องผ่านการประเมิน Thai Stop COVID Plus และ COVID Free Setting จัดทำ School Pass และจัดกลุ่มนักเรียนต่อห้องไม่เกิน 25 คน เพิ่มการตรวจ ATK เป็น 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ และประเมินความเสี่ยงเป็น 3 วันต่อสัปดาห์ และพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เพิ่มการตรวจ ATK เป็น 2 ครั้งต่อสัปดาห์ และประเมินความเสี่ยง ทุกวัน สำหรับการตรวจ ATK ให้พิจารณาประยุกต์แนวทางตามความจำเป็น ความเหมาะสม และความพร้อมในบริบทของโรงเรียนและของสถานการณ์แต่ละพื้นที่ สิ่งสำคัญคือความร่วมมือระหว่างโรงเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน หน่วยงาน สาธารณสุขในพื้นที่ และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จะทำให้การเปิดเรียนมีความปลอดภัยต่อนักเรียนและครอบครัว” นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว

อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับการสนับสนุน ATK มี 2 ส่วน คือ 1. สปสช.จัดชุดตรวจ 8.5 ล้านชุด กระจายลงไปยังจังหวัดผ่านระบบสถานพยาบาลในพื้นที่ สามารถประเมินความเสี่ยงและรับชุดตรวจได้ตามเงื่อนไขที่ สปสช.กำหนด และ 2. การจัดหาในพื้นที่ เช่น ท้องถิ่น คณะกรรมการโรงเรียน หรือกองทุนสุขภาพตำบล สามารถมาสนับสนุน การดำเนินการของโรงเรียน ซึ่งเชื่อว่าจากนี้ ATK จะมีจำนวนมากขึ้นและราคาถูกลง




กำลังโหลดความคิดเห็น