นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แถลงมาตรการ Sandbox ในโรงเรียน : Sandbox Safety Zone in School ว่า สถานการณ์โควิด-19 ในกลุ่มวัยเรียน วัยรุ่น 6-18 ปี ช่วงระหว่างวันที่ 1เมษายน - 11 กันยายน 2564 ติดเชื้อสะสม 129,165 คน ร้อยละ 90 เป็นคนไทย ร้อยละ 10 เป็นต่างชาติ เสียชีวิตสะสม 15 คน ส่วนใหญ่มีโรคในกลุ่มเสี่ยง โดยจังหวัดที่พบสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดชายแดน สัมผัสกับผู้ป่วยและการค้นหาเชิงรุก
โดยจำนวนผู้ติดเชื้อวัยเรียน เดือนเมษายน พบ 2,426 คน พฤษภาคม พบเพิ่มขึ้น 6,432 คน มิถุนายน 6,023 คน กรกฎาคม เพิ่มมากถึง 31,377 คน และสิงหาคม 69,628 คน แม้จะไม่เปิดเรียนออนไซต์ แต่เด็กยังติดเชื้อจากครอบครัว ส่วนครูและบุคลากรทางการศึกษา ล่าสุดถึง 5 กันยายน ที่ผ่านมา ได้รับวัคซีนเข็ม 1 หรือ 2 แล้ว 897,423 คน คิดเป็นร้อยละ 88.3 ส่วนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน 118,889 คน คิดเป็นร้อยละ 11.7 ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กในช่วงอายุ 12-18 ปี ที่มีโรคประจำตัวแล้ว
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับกรมอนามัย นำร่องในพื้นที่โรงเรียนประจำ เตรียมสถานที่ School Isolation โซนกักกันและเซฟตี้โซนสีเขียวให้นักเรียน ครู ทำกิจกรรมได้ โรงเรียนถ้าจะเปิดเรียนออนไซต์ กำหนดให้นักเรียนทำกิจกรรมเป็นกลุ่มห้ามสัมผัสกัน ครู นักเรียน บุคลากร ต้องประเมินความเสี่ยงเสมอ ตามแอปพลิเคชันไทย เซฟ ไทย กรมอนามัย ครูต้องฉีดวัคซีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 และตรวจ ATK ประเมินความเสี่ยงเป็นระยะ ถ้าอยู่ในโครงการจัดออนไซต์ หรือไฮบริด โรงเรียนต้องประเมินเตรียมพร้อมก่อนเปิด และพร้อมปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ หากพบนักเรียนติด ความเข้มข้นของมาตรการขึ้นกับสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ เพิ่มความถี่การตรวจ ATK ตามพื้นที่สีแดง และสีแดงเข้มควบคุมสูงสุด เพิ่มมาตรการให้สถานประกอบกิจการรอบรั้วโรงเรียน ในระยะ 10 เมตร ต้อง ผ่านประเมินไทยสต๊อปโควิด พลัส ตามแนวทางโควิดฟรีเซตติ้ง เนื่องจากโรงเรียนจะมีรถเร่ร้านค้าโดยรอบ ต้องมีสกูลพาส ผลประเมินบุคคล ผลตรวจ ประวัติการรับวัคซีน หากจะเปิดเรียนต้องจัดนักเรียนต่อกลุ่มไม่เกิน 25 คนต่อขนาดห้องปกติ และตรวจ ATK ตามความเสี่ยง
สำหรับ 7 มาตรการสำหรับสถานศึกษา (โรงเรียนไป-กลับ) ที่จะเปิดเรียนจะต้องผ่าน มีดังนี้
1. สถานศึกษาประเมินความพร้อมเปิดเรียนผ่าน TSC+ และรายงานการติดตามการประเมินผลผ่าน MOECOVID
2. ทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ Small Bubble สำคัญมากในกลุ่มโรงเรียนพื้นที่สีแดง แดงเข้ม
3. จัดระบบการให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ
4. จัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ การระบายอากาศภายในอาคาร การทำความสะอาดคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภค และการจัดการขยะ
5. จัดให้มี School Isolation แผนเผชิญเหตุ และมีการชักซ้อมหากพบผู้ติดเชื้ออย่างเคร่งครัด
6. ควบคุมดูแลการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน (Seal Route) กรณีรถรับ-ส่งนักเรียน รถส่วนบุคคล และพาหนะโดยสารสาธารณะ (สำหรับโรงเรียนไป-กลับ)
7. จัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา ซึ่งประกอบด้วยข้อมูล ผลการประเมิน TST ผลตรวจ ATK ภายใน 7 วันและหรือประวัติการรับวัคซีน ตามมาตรการของกระทวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความปลอดภัยเมื่อเข้า-ออกโรงเรียน
นายแพทย์สุวรรณชัย ย้ำว่า โดยรวมต้องจำกัดคนเข้าออก มีชุดตรวจคัดกรองประเมินสุ่มตรวจครู บุคลากร นักเรียนทุก 14 วัน ประเมินความเสี่ยงเข้มงวด ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มงวด จัดระบบระบายอากาศได้ ซึ่งมาตรการจะ ปรับตามบริบทโรงเรียนและสถานการณ์การระบาด ในแต่ละพื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่ และที่สำคัญต้องได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดหรือกรุงเทพมหานครก่อนที่จะเปิดเรียน
สำหรับชุดตรวจ ATK โรงพยาบาลในพื้นที่ และ สปสช. สนับสนุนในจำนวน 8.5 ล้านชุด เช่นเดียวกับที่แจกให้ประชาชนทั่วไป และคณะกรรมการโรงเรียน ชุมชนร่วมจัดหา เพื่อคัดกรองอย่างเข้มข้น