xs
xsm
sm
md
lg

กรมวิทย์เผย 8 จังหวัดเจอ “เดลตากลายพันธุ์” 4 สายพันธุ์ย่อย ยันไม่รุนแรง-ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมวิทย์-ศูนย์จีโนมรามาฯ พบเดลตากลายพันธุ์ อีก 4 สายพันธุ์ย่อย ยันไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ หรือสายพันธุ์ไทย ชี้ยังไม่พบความรุนแรง ยังไม่พบว่าดื้อต่อวัคซีน ต้องเฝ้าระวังต่อไป
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวถึงการพบสายพันธุ์ย่อยเดลตา ในประเทศไทย

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงการสุ่มถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งจีโนม (SARS-CoV-2 whole genome sequencing 30,000 bp) เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 จากตัวอย่างที่ส่งมาทั่วประเทศ อันเป็นการประสานงานกันระหว่างศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี และกลุ่มพันธมิตร COVID-19 Network Investigations (CONI) พบข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของตัวอย่างทั้งหมดที่เราถอดได้จะถูกอัปโหลดขึ้นบนฐานข้อมูลโควิดโลก “GISAID” เพื่อให้นานาชาติได้ร่วมกันใช้ประโยชน์ในด้านการป้องกัน ดูแล และรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งจากการวิเคราะห์สัดส่วนของโควิดกลายพันธุ์ในประเทศไทยด้วยแอปพลิเคชัน “Nextstrain Thailand” พบว่า B.1.1.7 (อัลฟา) 11% B.1.351 (เบตา) 14% B.1.617.2 (เดลตา) 71% และสายพันธุ์ย่อยของเดลตาอีก 4 ตัว คือ
- AY.4 หรือ B.1.617.2.4 ช่วงที่พบเดือน มิ.ย.-ส.ค. ในพื้นที่ปทุมธานี 4 ราย บุรีรัมย์ 1 ราย กำแพงเพชร 1 ราย เชียงใหม่ 1ราย สมุทรปราการ 1 ราย ชลบุรี 1 ราย
- AY.6 หรือ B.1.617.2.6 ช่วงที่พบเดือน ก.ค. ในพื้นที่ กทม. 1 ราย
- AY.10 หรือ B.1.617.2.10 ช่วงที่พบเดือน ก.ค. ในพื้นที่ กทม.1 ราย
- AY.12 หรือ B.1.617.2.15 ช่วงที่พบเดือน ก.ค.- ส.ค. ในพื้นที่ กทม. (พญาไท) 1 ราย สุราษฎร์ธานี 2 ราย

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า เนื่องจากจำนวนที่พบอยู่ในขณะนี้ ถือว่าน้อยมาก ทำให้การแยกย่อยของสายพันธุ์เดลตา ทั้ง 4 ตัว ยังไม่มีข้อมูลว่า มีความดื้อต่อวัคซีนมากน้อยเพียงใด และมีอาการต่างๆ แตกต่างจากสายพันธุ์แม่ (เดลตา) อย่างไร จึงจะยังคงต้องจับตาดูต่อไป

สำหรับสายพันธุ์ย่อยของเดลตาทั้ง 4 ตัวนี้ ยังพบในต่างประเทศด้วยเช่นกัน คือ อังกฤษ สเปน เดนมาร์ก และสหรัฐอเมริกา ดังนั้น จึงยังไม่ใช่สายพันธุ์ไทย แม้ว่าเป็นลูกหลานของสายพันธุ์เดลตาที่พบในประ เทศไทยก็ตาม เพราะโดยธรรมชาติของสายพันธุ์ไวรัส หากพบว่ามีการระบาดจากคนสู่คนจำนวนมาก ก็จะยิ่งมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์หรือเกิดสายพันธุ์ย่อยได้อีก






กำลังโหลดความคิดเห็น