กรมวิทย์รายงานผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ระหว่างวันที่ 31 ก.ค.- 6 ส.ค. 64 พบสายพันธุ์ “เดลตา” ครอบคลุมทั่วไทย 91.9% เฉพาะ กทม.สูงถึง 95.4% ส่วนสายพันธุ์ “เบตา” ตีกรอบเหลือติดเชื้อ 4 จังหวัดชายแดนใต้ สายพันธุ์ “แลมบ์ดา” ที่พบในแถบประเทศอเมริกาใต้ ยังไม่พบในประเทศไทยแต่อย่างใด เตือนประชาชนไปตรวจหาภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีน ไม่มีประโยชน์ แค่ภูมิคุ้มกันทั่วไป อาจจะไม่ใช่การตรวจ Neutralizing antibody เป็นภูมิคุ้มกัน ที่จะกำจัดเชื้อโรค หากอยากตรวจต้องสอบถามให้ชัด
วันนี้ (10 ส.ค.) นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ เครือข่ายห้องปฏิบัติการ ว่า แนวโน้มในภาพรวมของประเทศจากข้อมูลการเฝ้าระวังระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ถึง 6 สิงหาคม 2564 จากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อทั้งหมด 1,632 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) จำนวน 1,499 ราย (91.9%) สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) จำนวน 129 ราย (7.9%) และสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) จำนวน 4 ราย (0.2%) โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครสุ่มตรวจ จำนวน 1,157 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา จำนวน 1,104 ราย (95.4%) สายพันธุ์อัลฟา จำนวน 53 ราย (4.6%) ส่วนสายพันธุ์เบตา ไม่พบผู้ติดเชื้อ
ส่วนภูมิภาคสุ่มตรวจ จำนวน 475 ราย เป็นสายพันธุ์เดลตา 395 ราย (83.2%) สายพันธุ์อัลฟา 76 ราย (16%) และสายพันธุ์เบตา 4 ราย (0.8%) โดยขณะนี้สายพันธุ์เดลตาพบแล้วทุกจังหวัด ส่วนสายพันธุ์เบตาสัปดาห์นี้พบเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ โดยพบจังหวัดภูเก็ต 3 รายและจังหวัดพัทลุง 1 ราย
สำหรับสายพันธุ์แลมบ์ดาที่พบในแถบประเทศอเมริกาใต้ ยังไม่พบในประเทศไทยแต่อย่างใด ดังนั้น ขอให้ทุกคนช่วยกันเคร่งครัดในการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ และการรักษาระยะห่าง เพื่อหยุดยั้งการแพร่เชื้อ ถ้าเราสามารถหยุดการแพร่เชื้อได้เร็ว ควบคุมโรคได้เร็ว โอกาสที่เชื้อจะกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ก็น้อยลง ซึ่งทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ในพื้นที่ต่างๆ เช่น คนที่มาจากต่างประเทศ บริเวณชายแดน คลัสเตอร์แปลกเกิดขึ้น หรือคนไข้หนัก เป็นต้น
นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกรณีมีประชาชนไปตรวจหาภูมิคุ้มกันหลังการฉีดวัคซีนนั้น ไม่แนะนำให้ไปตรวจเนื่องจากการภูมิดังกล่าวเป็นการบอกภูมิคุ้มกันทั่วไป อาจจะไม่ใช่การตรวจ Neutralizing antibody เป็นภูมิคุ้มกัน ที่จะกำจัดเชื้อโรค จึงไม่สามารถบอกได้กำจัดเชื้อสายพันธุ์อะไร นอกจากนี้ ห้องปฏิบัติการแต่ละแห่งมีค่าตัวเลขที่แตกต่างกันไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบกันได้ว่ามีภูมิคุ้มกันมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญ องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้กำหนดค่าที่ชัดเจนว่าอยู่ในระดับที่เท่าไหร่จึงจะสามารถป้องกันโรคได้
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการศึกษาวิจัยการตรวจภูมิคุ้มกันหลังจากการฉีดวัคซีน ซึ่งจะนำไปสู่การสรุปว่าควรฉีดวัคซีนลักษณะแบบใดจึงจะเกิดผลดี