xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่ม 700 ล้าน ผุด “โครงการเมืองปศุสัตว์” 4 จังหวัดชายแดนใต้ แผน 5 ปี ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศอ.บต. จ่อชง ครม. ขอ 700 ล้าน ลง 4 จังหวัดชายแดนใต้ ผุด “โครงการเมืองปศุสัตว์” แผน 5 ปี ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล ผูกพัน 5 ปี เน้นส่งเสริมการเลี้ยงโคเป็นกิจการนำร่อง อุตสาหกรรมไก่แบบครบวงจร ขยายผลไปสู่ปศุสัตว์หวังสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

วันนี้ (10 ส.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เตรียมเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติหลักการและกรอบวงเงิน “โครงการเมืองปศุสัตว์” ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะเป็นงบผูกพันตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565-2569 (รวม 5 ปี) กรอบวงเงิน 700 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งส่งเสริมการเลี้ยงโคเป็นกิจการนำร่อง และขยายผลไปสู่การปศุสัตว์ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้ โคงการการดังกล่าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) เห็นชอบในหลักการแล้วโดยขอให้ทุกส่วนราชการร่วมมือกับ ศอ.บต. ปฏิบัติการตามหน้าที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง และให้เกิดความเชื่อมโยงภายใต้กรอบการพัฒนาเศรษฐกิจฮาลาล

ขณะที่ สำนักงบประมาณ มีข้อสังเกตว่า โครงการดังกล่าวใช้งบประมาณผูกพันจนถึงปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 และมีการจัดซื้อแม่พันธุ์โคให้กับเกษตรกร จึงควรเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการก่อนดำเนินการ โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จ.ยะลา จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส และ จ.สงขลา

โครงการดังกล่าว จะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืนปศุสัตว์ฮาลาลชายแดนภาคใต้เชื่อมโยงฮาลาลโลก เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะสอดคล้องกับโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมโคเนื้อชายแดนใต้ (เลี้ยงโคนม โคเนื้อ) และโครงการส่งเสริมเกษตรฐานรากเชื่อมโยงอุตสาหกรรมไก่แบบครบวงจร (ไก่ KKU1 เพื่อสุขภาพ) ของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เป็นการยกระดับงานด้านปศุสัตว์ เลี้ยงโคแบบฟาร์ม 3 รูปแบบ คือ 1. ฟาร์มโคพันธุ์ 2. ฟาร์มโคเนื้อกุรบาน และ 3. ฟาร์มโคนม

ขณะที่ สำนักงานสภาเกษตรกร เตรียมขึ้นทะเบียนกลุ่มวิสาหกิจเลี้ยงโค จำนวน 70 กลุ่ม โดยดึงกลุ่มคนเปราะบาง เข้าร่วมโครงการ เพื่อเตรียมเพิ่มทักษะความรู้การเลี้ยงโค จัดหาพื้นที่เพาะปลูกอาหารสำหรับสัตว์ และดำเนินการในส่วนของการตลาด โดยเสนอให้ดำเนินการเลี้ยงโค อำเภอละ 1 แห่ง เพื่อเป็นต้นแบบแก่ประชาชนในพื้นที่


กำลังโหลดความคิดเห็น