ศบค. ย้ำตรวจ ATK ผลเป็นบวกเข้าระบบกักตัวที่บ้านหรือศูนย์พักคอยได้ทันที ไม่ต้องรอ RT-PCR เผยพบผลบวกลวงแค่ 3-5%
วันนี้ (9 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันตอนหนึ่งว่าในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้มีการพูดถึงการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR ที่ก่อนหน้านี้ผู้ตรวจหาเชื้อแบบ ATK แล้วผลเป็นบวกอาจถูกปฏิเสธจากสถานพยาบาล เนื่องจากต้องการผล RT-PCR โดยที่ประชุมอีโอซีของกระทรวงสาธารณสุขได้สรุปว่า หากตรวจ ATK แล้วเป็นบวกสามารถเข้าระบบการรักษาตัวที่บ้านได้ทันที
ขณะที่อธิบดีกรมการแพทย์ระบุว่า หากผล ATK เป็นบวกให้เรียกคนกลุ่มนี้ว่าผู้ติดเชื้อเข้าข่าย ให้เข้าระบบการรักษาตัวที่บ้านได้ทันที ซึ่งมีการทำหนังสือเวียนไปยังทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศให้รับทราบแนวทางดังกล่าวแล้ว ส่วนการเข้าศูนย์พักคอยนั้น อธิบดีกรมการแพทย์เน้นย้ำว่า ผู้ที่ตรวจ ATK และมีผลเป็นบวก สามารถเข้าสู่ศูนย์พักคอยได้ทันทีด้วยเช่นกัน เนื่องจากผลบวกลวงของ ATK พบเพียง 3-5% โดยคนกลุ่มนี้เมื่อเข้าไปแล้วให้แยกตัวออกจากผู้ป่วยรายอื่นก่อน เมื่อมีผลตรวจ RT-PCR ยืนยันแล้วค่อยให้เข้าไปรักษารวมกับผู้ป่วยอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม หากดูตัวเลขการติดเชื้อใน กทม.จะเห็นว่า มีผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจแล้วไปโรงพยาบาลพบเป็นผู้ติดเชื้อถึง 40% ถ้าตรวจด้วย ATK พบผลเป็นบวก 10-14% เฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมาพบ 7% ดังนั้น จึงขอความร่วมมือโรงพยาบาลหากมีผู้ป่วยที่มีอาการทางเดินหายใจเข้าไปยังโรงพยาบาลให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทุกคน
พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ศปก.ศบค.ได้รับทราบความคืบหน้าความร่วมมือของเทคฟอร์ไทยแลนด์ ที่ได้รวบรวมสถานที่จุดตรวจโควิด-19 ที่เปิดให้บริการใน Koncovid.com ซึ่งแสดงที่ปักหมุดตรวจให้ทุกคนสามารถตรวจหาได้ ซึ่งวันนี้มีการเพิ่มเติมให้แล้วว่าถ้าใครต้องการตรวจเฉพาะ ที่รับตรวจ PCR หรือ ATK สามารถเลือกดูได้ และยังมีการเพิ่มปักหมุดศูนย์พักคอย หรือศูนย์แยกกักในชุมชนให้แล้ว ดังนั้น ถ้าใครต้องการค้นหาสามารถค้นได้ โดยการใส่รหัสไปรษณีย์ ของพื้นที่ที่ต้องการค้นหา สามารถค้นหาศูนย์พักคอยได้ทันที ซึ่งเป็นข้อมูลที่อัพเดทรายวัน จากกรมการแพทย์
แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังเป็นในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นหลัก แต่ภายในสัปดาห์นี้ทีมงานจะปักหมุดเพิ่มศูนย์พักคอยให้กับทั่วประเทศด้วย ทั้งนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขยังแจ้งด้วยว่า ศูนย์พักคอยที่มีความพร้อมแต่ยังไม่มีโรงพยาบาลพี่เลี้ยง สามารถแจ้งเข้ามาที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้ช่วยจัดหาโรงพยาบาลพี่เลี้ยงให้ดูแลได้ นอกจากนี้ โทรศัพท์ทุกเขตในกรุงเทพมหานคร 50 หมายเลข ๆ ละ 20 คู่สาย นั้น ตอนนี้ประชาชนใช้บริการเกินวันละ 5,000 จึงจะมีการจ้างพนักงานเพิ่ม เพื่อให้การบริการมีความสะดวกมากขึ้น รวดเร็วมากขึ้น ทั้งเรื่องการรับผู้ป่วยเข้าบริการรักษาตัวที่บ้าน การส่งอุปกรณ์ก็มีการรับสมัครไรเดอร์ เพื่อจัดส่งยาส่งอาหารให้กับผู้ป่วยที่บ้าน ขณะนี้ในกรุงเทพมหานครมีคนเข้าระบบรักษาตัวที่บ้านไปแล้ว 100,000 กว่าคนแล้ว