ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร สั่งการให้ 50 เขต ดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้ดูแลเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานด่านหน้าทุกคนให้มีความปลอดภัยจากการทำงาน ในการตรวจเชิงรุกโควิด-19 และไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน
วันนี้ (5 ส.ค.) ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8/2564 โดยมีคณะผู้บริหาร และหัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล (Teleconference)
ในที่ประชุม สำนักอนามัยได้รายงานภาพรวมผลการดำเนินงานเชิงรุกของทีม CCRT เพื่อค้นหาผู้ป่วยโควิด-19 ในชุมชน รวมทั้งให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันแก่ประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และให้คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่จะทำการแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation โดยในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาได้เร่งลงพื้นที่ในชุมชนจัดตั้ง และภายใน 2 สัปดาห์แรกของเดือน ส.ค.นี้ จะลงพื้นที่ชุมชนที่ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้ง จำนวน 536 แห่ง ถึงแม้ว่าชุมชนที่ไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งจะยังไม่มีผู้ประสานงานหลักของชุมชน จะพยายามไม่ให้ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด
สำหรับแนวทางการนำผู้ป่วยโควิด-19 ที่ตรวจโดยชุดตรวจ ATK เข้าสู่ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ ขณะนี้สำนักอนามัยได้ปรับเกณฑ์การนำผู้ป่วยเข้าสู่ศูนย์พักคอยตามที่กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเกี่ยวกับแนวทางการดูแลผู้ที่มีผลการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ด้วย Antigen test kit (ATK) โดยหากตรวจจากชุดATK พบติดเชื้อ สามารถรับยาและรับการรักษาแบบแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation ได้ทันที และหากไม่สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ จำเป็นต้องเข้าในศูนย์พักคอยฯ จะได้รับการตรวจด้วยวิธี RT-PCR โดยแยกพื้นที่ให้อยู่แยกออกจากผู้ป่วยโควิดมีผลตรวจแล้ว ทั้งนี้สำนักอนามัยจะได้เร่งทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและทีมแพทย์ทุกสังกัดที่เข้ามาร่วมดูแลผู้ป่วย
นอกจากนี้ในที่ประชุม สำนักงานเขตได้รายงานการดำเนินการสายด่วนโควิด 50 เขต ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเสริมการให้บริการของสายด่วน สปสช. 1330 ในการรับแจ้งข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ภายหลังเปิดให้บริการพบว่ามีประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้ 50 เขต ดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้ดูแลเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานด่านหน้าทุกคนให้มีความปลอดภัยจากการทำงาน และไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน อาทิ เจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงให้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบทุกคนเนื่องจากถือว่าเป็นบุคลากรด่านหน้า ในส่วนของอุปกรณ์ป้องกันตนเอง ได้แก่ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือแอลกอฮอล์ หรือชุด PPE ให้สำนักงานเขตดำเนินการจัดซื้อโดยใช้งบประมาณจากกองทุนประกันสุขภาพของเขต ซึ่งอุปกรณ์ที่จะทำการจัดซื้อต้องมีมาตรฐาน คุ้มค่า และเหมาะสมกับการปฏิบัติงานในพื้นที่จริง