“หมอธีระ” จับตาโควิด-19 ต่างจังหวัดสูง แนะสถานพยาบาลต้องมีนโยบายดูแลบุคลากรอย่างเต็มที่ หวังผลจากวัคซีนตอนนี้คงยาก กว่าจะเห็นผลใช้เวลาหลายเดือน ชี้ ประเทศไทยต้องล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ 4 สัปดาห์ หลังไทยติดเชื้อพุ่งอันดับ 9 ของโลก แนะปูพรมตรวจอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (26 ก.ค.) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” แสดงความคิดเห็นถึงแนวทางแก้ปัญหาโควิด-19 มีเนื้อหาดังนี้
สถานการณ์ของไทยตอนนี้ มีจำนวนติดเชื้อใหม่สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก
มีจำนวนติดเชื้อสะสมพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ล่าสุด อันดับ 47 และคาดว่า อีก 2 วัน จะแซงซาอุดีอาระเบียได้ มีผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤตมากเป็นอันดับที่ 8 และมีคนเสียชีวิตไปกว่า 4,000 คน จำนวนเสียชีวิตต่อวันตอนนี้สูงเป็นอันดับที่ 13 ของโลก
หากดูข้อมูลการติดเชื้อรายวัน จะพบว่า สัดส่วนการติดเชื้อใหม่นั้นอยู่ในต่างจังหวัด 59% และ กทม.กับปริมณฑล 41% ตัวเลขนี้มีความสำคัญมากในยามที่ ”จำนวนติดเชื้อใหม่” สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เพราะหมายถึงสิ่งที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ คือ ระบบสาธารณสุขในต่างจังหวัดจะต้องรับมือเคสจำนวนมาก
รวมถึงเคสที่รุนแรงและวิกฤตที่จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยต้องการทรัพยากรที่จำเป็นทั้งคน เงิน อุปกรณ์ป้องกัน อุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับการรักษาผู้ป่วยหนัก และสถานที่
หากโครงสร้างพื้นฐานในต่างจังหวัดมีไม่เพียงพอ จะเกิดปัญหาหนักตามมา ทั้งติดเชื้อในโรงพยาบาล และจำนวนการเสียชีวิตที่จะสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
ณ จุดนี้ เรื่องสำคัญที่สุด คือ สถานพยาบาลจำเป็นต้องมีนโยบายเพื่อดูแลป้องกันบุคลากรในทุกระดับอย่างเต็มที่ ต้องรู้ลิมิตที่จะรับและจัดการได้ ทำทุกทางอย่าให้เกิดการติดเชื้อภายในสถานพยาบาลทั้งจากการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันของบุคลากร เพราะจะเกิดผลกระทบมากมายตามมา ทั้งต่อตัวบุคลากรเอง ครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ผู้ป่วย และประชาชน
หากจัดระบบบริการใดขึ้นมา ขอให้เน้นสวัสดิภาพและความปลอดภัยเป็นหลัก วิเคราะห์ช่องโหว่และความเสี่ยงให้ดี มิฉะนั้น ต่อให้เรามีบุคลากรมากเท่าใด ก็จะไม่เพียงพอกับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น ถ้าป้องกันตัวได้ดี ก็จะมีกำลังช่วยประชาชนได้มากในระยะยาว
ประเมินสถานการณ์แล้ว จำเป็นต้องพึ่งพาความร่วมมือระดับชุมชนมาร่วมกันจัดการปัญหาการระบาดนี้ ทั้งเรื่องการป้องกันควบคุมโรค รวมถึงการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ เพราะระบบสาธารณสุขไม่มีทางรับมือได้โดยลำพัง
ทั้งนี้ นพ.ธีระ ระบุข้อมูลเพิ่มเติมว่า มองย้อนกลับไป 4 สัปดาห์ก่อนจนถึงเมื่อวานนี้ ไทยเรามีจำนวนการติดเชื้อใหม่ในแต่ละสัปดาห์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หากคิดเฉพาะจำนวนที่ติดเชื้อภายในประเทศ จะพบว่าเพิ่มจาก 38,550 –> 53,099 –> 66,892 –> 93,818 คน คิดเป็นอัตราการเพิ่มถึง 37.74%, 25.97%, และ 40.25% ตามลำดับ ไม่มีติดลบ มีแต่บวกเพิ่มทั้งสิ้น
ยิ่งหากดูลักษณะการกระจายของจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ จะพบว่าจำนวนจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อแต่ละวันมากกว่า 50 คนนั้นก็มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หากดูเฉพาะเดือนนี้ก็จะเห็นว่า จังหวัดที่มีสีแดง (>100 คนต่อวัน) และสีส้ม (51-100 คนต่อวัน) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นชัดเจน
จาก 1 กรกฎาคมจนถึงวันนี้ 26 กรกฎาคม 2564 จำนวนจังหวัดสีแดงสีส้มโดยเฉลี่ยแต่ละสัปดาห์ คือ 18 จังหวัด 33 จังหวัด 43 จังหวัด และวันนี้ 57 จังหวัด (ถ้าเฉลี่ยแค่ 5 วันคือ 22-26 กรกฎาคม = 54 จังหวัด) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
บัดนี้สีแดงและสีส้มครอบคลุม 57 จากทั้งหมด 77 จังหวัด คิดเป็น 74% หรือสามในสี่ของประเทศ
นี่คือ หลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่ามาตรการที่ดำเนินการมานั้นไม่เพียงพอที่จะจัดการกับสถานการณ์การระบาดของประเทศในขณะนี้วิ่งไล่ตามไม่มีทางทัน
หวังจะพึ่งผลจากวัคซีน แบบที่พยายามประโคมข่าวนั้น บอกตรงๆ ว่า หวังได้ยาก เพราะจำเป็นต้องใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ฉีดครอบคลุมคนจำนวนมากในทุกพื้นที่ และกว่าจะเห็นผลก็ใช้เวลานานหลายเดือน ความสูญเสียจากการติดเชื้อเจ็บป่วย และเสียชีวิตนั้นจะมากเกินกว่าที่จะยอมรับได้
จำเป็นต้องตัดวงจรการระบาดให้ได้
ไม่มีทางอื่นนอกจาก Full national lockdown 4 สัปดาห์ พร้อมปูพรมตรวจอย่างต่อเนื่อง โดยต้องเตรียมเรื่องระบบสนับสนุน ประคับประคอง เยียวยาให้พร้อม
ความท้าทายที่ต้องจัดการให้ได้ในระดับพื้นที่ คือ การหาสถานที่แยกกักผู้ป่วยแต่ละประเภท ทั้งไม่มีอาการ มีอาการน้อย และอาการรุนแรง โดยจัดระบบดูแลรักษาตามทรัพยากรที่มีในแต่ละพื้นที่ สำคัญคือเรื่องการสื่อสาร ประสานระหว่างหน่วยงานกับประชาชน
วัดและโรงเรียนทั่วประเทศ อาจจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาจัดเตรียมสถานที่ไว้ล่วงหน้า ไม่รอจวนตัว อาจต้องขอความช่วยเหลือจากพระภิกษุและคุณครูในการทำหน้าที่เป็นครู ก. ครู ข. และกำกับดูแลในแต่ละสถานที่ เพราะบุคลากรสาธารณสุขไม่สามารถดูแลได้อย่างถ้วนทั่วในยามที่ระบาดขยายตัวมากขึ้นและต่อเนื่องเช่นนี้
ถ้าปล่อยให้ศึกยืดยาวแบบนี้ต่อไป โดยตัดวงจรการระบาดไม่ได้ ไตรมาสสุดท้ายของปีจะเป็นภาวะที่ยากลำบากมากสำหรับประชาชนและประเทศ