กระทรวงสาธารณสุข ย้ำมาตรการป้องกันตนเอง ในครอบครัว ชุมชน ตลาด/ตลาดนัด ในโรงงาน/สถานประกอบการ ช่วยลดการติดเชื้อและแพร่เชื้อ แนะโรงงานหากพบพนักงานติดเชื้อ ใช้มาตรการ Bubble and Seal จัดระบบควบคุมกำกับการเดินทางของพนักงาน ป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ชุมชน ชี้ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนเข็ม 1 เพียง 2.5 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20 ของเป้าหมาย เร่งฉีดผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ลดอาการรุนแรง ลดเสียชีวิต
วันนี้ (25 ก.ค.) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ว่า วันนี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,335 คน มีผู้เสียชีวิต 129 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 70% ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้เสียชีวิต 79 รายไม่เคยได้รับวัคซีน ดังนั้นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากไม่ได้รับวัคซีนมีโอกาสติดเชื้ออาการรุนแรงค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ ในต่างจังหวัดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเดินทางกลับภูมิลำเนา และพบคลัสเตอร์การติดเชื้อในครอบครัว ตลาด และสถานประกอบการเพิ่มมากขึ้น สาเหตุหลักคือ การสัมผัสผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว การปิดโรงงานสถานประกอบการที่พบผู้ติดเชื้อทำให้คนงานที่ติดเชื้อกระจายออกไป และจากแคมป์คนงานหรือชุมชน ซึ่งกว่าร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อมักไม่มีอาการ อาจทำเกิดการแพร่เชื้อระหว่างกันได้ง่าย สิ่งสำคัญที่สุดคือ การป้องกันตัวเองปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ไม่ไปในสถานที่แออัด รวมถึงสังเกตอาการตนเอง หากเริ่มป่วยไม่ควรออกนอกบ้าน ตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK หรือพบแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ สถานที่ที่มีความเสี่ยงได้แก่ ตลาด, ตลาดนัด, ร้านสะดวกซื้อ, ขนส่งสาธารณะ อาจสัมผัสใกล้ชิดหรือพูดคุยกับคนที่ติดเชื้อโดยไม่ได้ระวังตัว
นพ.จักรรัฐกล่าวต่อว่า สำหรับโรงงานและสถานประกอบการ หาก “ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ” ให้ผู้ประกอบการปรึกษาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการตามมาตรการ Bubble and Seal เตรียมความพร้อม เตียงสนาม/ห้องแยกกัก และให้พนักงานเข้มงวดการปฏิบัติตัวป้องกันการติดเชื้อ หาก “พบผู้ติดเชื้อแล้ว” เน้น “ไม่ปิดโรงงาน” ป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ชุมชน โดยแยกกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง และกลุ่มที่ติดเชื้อ ให้ทำงานที่บ้าน หรือจัดกระบวนการทำงานแยกกลุ่ม จัดหาเตียงสนาม/ห้องแยกกัก จัดระบบควบคุมกำกับการเดินทางไปกลับของพนักงาน ไม่ให้สัมผัสผู้อื่น แยกรับประทานอาหาร ลดการสนทนา ไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ รวมถึงตรวจคัดกรองพนักงานก่อนเข้าทำงานทุกวัน
การป้องกันการแพร่เชื้อจากตลาด/ตลาดนัด “ผู้ค้า” หากมีอาการป่วย/คนในบ้าน-คนใกล้ชิดสงสัยติดเชื้อ ต้องงดขายของ “แรงงานรับจ้างในตลาด” ผู้ประกอบการ ต้องจัดให้มีการขึ้นทะเบียน และคัดกรองอาการป่วยทุกวัน “ลูกค้า” หากมีอาการป่วยหรือคนในบ้าน-คนใกล้ชิด สงสัยติดเชื้อ ต้อง “งด” ไปซื้อของทุกกรณี ทั้งนี้หากสงสัยว่าติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาทั้งในบ้านและนอกบ้าน แยกรับประทานอาหาร ตรวจด้วยชุดตรวจ ATK หรือรีบไปพบแพทย์ และในช่วง 14 วันที่มีการล็อคดาวน์ ขอให้ออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น เช่น พบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือซื้อของ จะต้องป้องกันตัวเองและผู้อื่น ส่วนเดินทางข้ามจังหวัด หากจะกลับไปรักษายังภูมิลำเนาจะต้องลงทะเบียน แจ้งให้โรงพยาบาลปลายทาง รวมถึงแจ้งหน่วยงานในพื้นที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน อสม.ให้ทราบก่อนเพื่อสนับสนุนการกักตัวและป้องกันการแพร่โรค
นพ.จักรรัฐกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 24 กรกฎาคม 2564 ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เข้ารับการฉีดเข็มที่ 1 แล้ว 2.5 ล้านคน จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 12.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ส่วนเข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 1.6 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 1.3 ขอความร่วมมือบุตร หลาน นำพ่อแม่ ผู้สูงอายุเข้ารับการฉีดวัคซีน รวมถึงผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากหากติดเชื้อมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะป่วยรุนแรงได้
“ขอให้ทุกคนช่วยกันลดการแพร่เชื้อ เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเรื่อยๆ จะมีการผ่อนคลายได้มากขึ้น ดังนั้นการที่เราช่วยกันป้องกันตัวเอง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากสงสัยว่าติดเชื้อรีบตรวจด้วย ATK ดูแลตัวเองมากขึ้น และขอขอบคุณประชาชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานราชการ และเอกชนที่ช่วยกัน เวิร์คฟอร์มโฮม 100%” นพ.จักรรัฐกล่าว