กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หนุนครูพี่เลี้ยงปราจีนจับมือคลองเตยเติมศักยภาพสิทธิแรงงาน เรียนรู้วิถีชีวิตสลัม แชร์ประสบการณ์รวมกลุ่มสหภาพฯ สิทธิที่อยู่อาศัย 1 ครัวเรือน 2 วิถีผลิตทางรอดยุคโควิด
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สนับสนุนการประชุมบูรณาการภาคีเครือข่ายระหว่างพื้นที่ระหว่างโครงการสนับสนุนการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา โดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ : ภาคตะวันออก (จังหวัดปราจีนบุรี) และโครงการพัฒนาศักยภาพครูพี่เลี้ยงและเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงพื้นที่ : ภาคกลาง (คลองเตย) ผนึกพลังร่วมขับเคลื่อน 6 เรื่องดังนี้ 1."การรวมกลุ่ม" เพื่อสร้างความเข้มแข็งผ่านประสบการณ์จัดตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานจังหวัดปราจีนบุรีที่ล้วนเป็นพนักงานโรงงานทำงานกับเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษา 18-25 ปี เป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต(Lifelong Learning)ผ่านการพัฒนาทักษะใหม่ ขณะที่ ชุมชนคลองเตย เป็นคนจนเมืองทำงานกับกลุ่มเปราะบางอายุตั้งแต่ 3 – 25 ปี ซึ่งมีปัญหาซับซ้อนหลากหลายมุ่งเน้นทำงานกับพ่อแม่ผู้ปกครองเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
“คนจนคนหนึ่งทั้งในชนบทหรือในเมือง ในสายตาคนมีอำนาจก็เป็นได้แค่ ไม้จิ้มฟันอันหนึ่ง แต่หากรวมกลุ่มกันมากๆ ไม้จิ้มฟันนับพันๆอัน ก็คือ กระบอง ดี ๆ นี้เอง สิ่งที่ทางปราจีนฯกับชุมชนคลองเตย ต่างคิดตรงกัน คือ หากจะสร้างพลังต่อรองเรียกร้องสิทธิ์ต่าง ๆ ต้องรวมกลุ่มกัน”
และ 2."สิทธิแรงงาน" ทั้งในระบบและนอกระบบ โดยตัวแทนสหภาพแรงงานฮิตาชิแห่งประเทศ พร้อมสนับสนุนความรู้ ประสบการณ์และเทคนิคเจรจาต่อเพื่อร้องเรียกร้องสิทธิของตัวเอง รวมถึงสนับสนุน "ทนายอาสา" ให้ข้อแนะนำแก่ชุมชนคลองเตย ที่เผชิญปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิแรงงานนอกระบบ 3.“สิทธิที่อยู่อาศัย” เนื่องจากชุมชนคลองเตย เป็นคนจนเมืองเผชิญปัญหาถูกไล่รื้อกำลังถูกบังคับ 3 ทางเลือก คือ 1.อาศัยในสถานที่ที่รัฐจัดให้ 2.รับเงินชดเชย และ 3.ไปหาที่อยู่อาศัยใหม่ โดยสมาชิกสหภาพฯ จึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์การรวมกลุ่มจัดตั้งสหกรณ์เพื่อก่อตั้งหมู่บ้านแรงงานภายใต้การสนับสนุนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จึงพร้อมสนับสนุนองค์ความรู้และประสบการณ์การรวมกลุ่ม
ทั้งนี้ 4.ปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากชุมชนคลองเตยเป็นคนจนเมืองอาศัยในชุมชนแออัดไม่มีฐานการผลิต หรือ ที่ดินเพื่อทำกินเป็นของตัวเอง รายได้ผูกติดกับค่าจ้างรายวัน หรือ รายเดือน เพียงอย่างเดียวจึงผจญปัญหาค่าครองชีพสูง ต่างกับกลุ่มแรงงานปราจีนบุรี เป็นคนจนชนบทแต่มีฐานการผลิต หรือ ที่ดินทำกินเป็นของตนเอง สามารถทำเกษตรหรือปศุสัตว์ลดค่าใช้จ่าย ด้วยแนวคิด “1ครัวเรือน2วิถีผลิต” กล่าวคือผู้ใช้แรงงานมีรายได้ประจำจากการเป็นพนักงงานโรงงาน และ มีรายได้จากการปลูกผักสวนครัวจำหน่ายหรือบริโภคในครอบครัวลดค่าใช้จ่าย
ดร.รัชนี นิลจันทร์ หัวหน้าโครงการฯชุมชนคลองเตย กล่าวว่าปัญหาใหญ่ของคนจนเมือง คือ เศรษฐกิจปากท้องและค่าครองชีพ อย่างเช่น ผักในเมืองราคแพงมาก จึงทำให้คนรุ่นใหม่หรือเด็ก ๆ ไม่นิยมกินผัก แต่ผักในจังหวัดปราจีนบุรีราคาถูกมาก เบื้องต้นทางชุมชนคลองเตย พร้อมเป็นตลาดรับซื้อผักจากชุมชนแรงงาน หรือแม้แต่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากโรงงาน เช่น ไก่ทอด หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ถือเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
และ 5.ปัญหาสุขภาพจากการทำงาน นับเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ใช้แรงงาน ในระยะยาวต้องแบกต้นทุนการดูแลสุขภาพที่สูงเกินจะรับไหวจากโรคเรื้อรังรุมเร้าในช่วงบั้นปลายชีวิต เช่น เส้นเลือดขอดที่ขา ท่อปัสสาวะอักเสบ จากการยืนทำงานนาน ๆ และ 6.การเพิ่มศักยภาพแกนนำ หรือ อัพสกิลครูพี่เลี้ยง ชุมชนคลองเตย ให้ความสนใจเกี่ยวกับแนวทางการจัดตั้งและรวมกลุ่มของสหภาพแรงงานฯ ที่มีความชำนาญด้านจัดการจัดตั้งมวลชน ทำกระบวนการสร้างผู้นำ หรือ แม้แต่จิตวิทยามวลชนการเข้าถึงชุมชนและการทำงานร่วมกับฝ่ายการเมืองท้องถิ่นของชุมชนคลองเตยทางกลุ่มผู้ใช้แรงงานและสหภาพฯ ให้ความสนใจ สามารถนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ในอนาคต