ในเมื่อการระบาดของโควิด 19 ยังไม่สิ้นสุด การเปิดเทอมจึงยังไม่สามารถเปิดแบบปกติได้ แต่เป็นการเปิดแบบ ‘ลักษณะพิเศษ’ โดยกระทรวงศึกษาธิการมีแนวปฏิบัติวิธีการจัดการเรียนการสอน 5 รูปแบบ หรือ 5 On ได้แก่
Online คือการเรียนผ่านระบบออนไลน์
On Air คือการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV)
On Demand คือการเรียนผ่านแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ
On Hand เป็นการจัดใบงานหรือแบบฝึกหัดเป็นชุดให้นักเรียนนำไปเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้าน
และ...
On Site คือการเรียนที่โรงเรียน ซึ่งจะใช้ในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนที่ไม่มีการระบาดของโรค ซึ่งก็จะมีลักษณะพิเศษอีกเช่นกัน เช่น สลับวันเรียน บางวันเรียนที่โรงเรียน บางวันเรียนออนไลน์ที่บ้าน เพื่อลดความแออัดในพื้นที่โรงเรียน
ห้องเรียนหลายแห่งในช่วงเวลานี้จึงอยู่ในสภาพของ ‘ห้องเรียนไฮบริด’ Hybrid-Learning ซึ่งเป็นแนวทางการจัดระบบการเรียนรู้แบบที่เป็นนวัตกรรมการศึกษาที่ผสานโมดูล (Module) การเรียนการสอนหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน โดยการผสมผสานระหว่างการเรียนการสอนทางไกล (Distant Learning) ผ่านระบบเครือข่ายออนไลน์ ร่วมกับการเรียนแบบเผชิญหน้า (Face-to-Face Learning) และการจัดการเรียนรู้แบบ Blended Learning ที่เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการนั่งฟังคำบรรยายภายในชั้นเรียน โดยให้ความสำคัญในการเลือกใช้สื่อที่เหมาะสมตามจุดประสงค์ของการเรียน และการบูรณาการจัดการเรียนรู้ที่มีความเหมาะสมกับการเรียนรู้ในลักษณะต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ
เรียกว่า Blended-Hybrid Learning
สำหรับบ้านเราน่าจะถือโอกาสนี้เป็นความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่ไม่ใช่แค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในสถานการณ์โควิด-19 เท่านั้น แต่ควรเป็นการเปลี่ยน “วิกฤติเป็นโอกาส” ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้ดีกว่าเดิม
ไม่ควรปรับแค่ช่องทางการเรียนรู้ แต่เป็นการปรับกระบวนการเรียนรู้ รวมถึงระบบการเรียนรู้ที่ต้องสอดคล้องกันและเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ของเด็กในยุคนี้ด้วย
ตั้งโจทย์ใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้ห้องเรียนไฮบริดที่ผสมผสานระหว่างการเรียนที่โรงเรียนกับการเรียนผ่านหน้าจอที่บ้านยังคงมีประสิทธิภาพ หรือสามารถใช้โอกาสนี้ทำให้เด็ก ๆ เรียนรู้อะไรได้มากกว่าเดิม
ในหลายประเทศทั่วโลกกำลังถือโอกาสนี้ในการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับคนในประเทศของเขา
ประเทศญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะทั่วไปนอกตำรา (Non-Subject Education) ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต โดยเรียกแนวคิดการศึกษาแบบนี้ว่า ‘Tokkatsu’ เป็นการเรียนรู้แบบองค์รวม (Holistic Education) ที่ครอบคลุมการปลูกฝังทักษะที่เป็น Soft Skills หลายอย่างให้กับเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการดูแลตัวเอง การพัฒนาบุคลิกภาพ การทำงานเป็นทีม การคิดแบบสร้างสรรค์ ฯลฯ ผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบในโรงเรียน และมักจะเน้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมออกแบบกิจกรรมด้วย
เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 หลายโรงเรียนในญี่ปุ่นตัดสินใจออกแบบกิจกรรมรูปแบบใหม่ ให้ Tokkatsu ยังดำเนินต่อไปได้ควบคู่กับการเรียนเชิงวิชาการ โดยยังคงให้นักเรียนมีส่วนร่วมสร้างสรรค์และทำกิจกรรมได้ตามเดิม
ในขณะที่สิงคโปร์ก็เป็นอีกประเทศที่จัดการเรียนการสอนแบบไฮบริด โดยจัดโปรแกรม ‘การเรียนแบบผสม’ (Blended Learning) ในระดับชั้นมัธยมศึกษา ซึ่งจัดสรรเวลาให้กับทั้งการเรียนที่โรงเรียนและการเรียนจากบ้าน (Home-based Learning – HBL)
ส่วนที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนก็ไม่ได้ใช้การเรียนการสอนแบบออนไลน์เท่านั้น โดยเฉพาะนักเรียนประถม เขาใช้วิธีการเผยแพร่บทเรียนผ่านทีวีสาธารณะทุกวัน แต่ว่าครูกับนักเรียนจะสื่อสารกันโดยใช้ Application ส่งการบ้าน ครูจะมีการติดต่อพูดคุยกับนักเรียนในชั้นเรียนของตัวเอง ทุกคนต้องปรับตัวสู่โลกออนไลน์ และการสอนทางไกลอย่างรวดเร็วทั้งครูและนักเรียน ต้องเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือ Application หรือว่าการสั่งงานแบบใหม่ หรือทำโครงงาน และครูจะมาตรวจแบบออนไลน์ หรือ Feedback ผ่าน Application ประเด็นที่สำคัญครูและนักเรียนจะต้องรู้จักบริบทของพื้นที่ของตนเอง ครูต้องรู้ด้วยว่าเด็กของเขามีอุปกรณ์อะไรอยู่ในมือ เพื่อประยุกต์จัดการเรียนการสอนให้เหมาะสม
สำหรับการปรับตัวในโรงเรียนของซีกโลกตะวันตก มีการจัดการเรียนการสอนแบบนอกห้องเรียน หรือห้องเรียนกลางแจ้ง หลายโรงเรียนมีการดำเนินการแบบนี้อยู่แล้วจึงไม่ใช่เรื่องยาก ในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย มีโมเดลโรงเรียนในป่า (Forest School) ซึ่งเน้นให้เด็ก ๆ ใช้เวลาเรียนรู้และทำกิจกรรมต่าง ๆ ท่ามกลางป่าไม้ สอนให้เด็ก ๆ เรียนรู้จากธรรมชาติ พร้อมทั้งพัฒนาทักษะชีวิตจากการเล่นและลงมือทำ เช่น สำรวจต้นไม้ และสภาพแวดล้อม ฯลฯ เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ขึ้น โมเดลนี้จึงเริ่มถูกโรงเรียนหลายแห่งนำมาเป็นแนวทางในจัดการเรียนการสอน เพียงแต่ปรับให้เหมาะกับแต่ละภูมิประเทศ
ต้องยอมรับว่าวิกฤตโควิด-19 ไม่ได้เป็นเพียงวิกฤตโรคระบาดเท่านั้น แต่ยังเป็นวิกฤตของการศึกษาด้วย ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของแวดวงการศึกษาทุกประเทศ ที่ต่างต้องหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ให้การเรียนรู้ของเด็ก ๆ ยังเดินหน้าต่อไปให้ได้
ถ้ามองในแง่ดี วิกฤตการณ์ครั้งนี้ก็ควรจะทำให้เกิดการทดลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่อาจไม่เคยทำมาก่อน
สำหรับหลายประเทศ ประสบการณ์การจัดการเรียนการสอนที่หลากหลายในช่วงเวลานี้อาจกลายเป็นบทเรียนสำคัญที่สามารถนำไปสู่การ ‘คิดใหม่’ และ ‘คิดนอกกรอบ’ ของระบบการศึกษา ที่สามารถปรับตัวได้ยืดหยุ่นมากขึ้นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป พร้อมกับสามารถพัฒนาผู้เรียนให้ก้าวทันอนาคตโลกหลังโควิด19 ที่จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงด้วยเช่นกัน
หวังว่าประเทศไทยจะเป็นเช่นนั้นบ้าง คือแปรวิกฤติเป็นโอกาส และมุ่งแก่นมากกว่าเปลือก
และหวังว่าจะไม่ใช่ได้แค่หวัง