xs
xsm
sm
md
lg

ที่ปรึกษา ศบค.ชี้แจง โต้กระแสฉีด “ซิโนแวค” เข้า EU ไม่ได้ ระบุได้ถ้ามาจากประเทศที่ปลอดภัยจากโควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพ)
ที่ปรึกษาด้านสื่อสาร ศบค.ชี้แจง กระแสโซเชียลกรณีผู้ที่ฉีดวัคซีน ซิโนแวค” เข้าประเทศ EU ไม่ได้จริงหรือ ชี้ การฉีดวัคซีนไม่ใช่เงื่อนไขเดียวในการเข้า EU อีกเงื่อนไข มาจากประเทศที่ปลอดภัยจากโควิด และขณะนี้ประเทศไทยอยู่ใน Safe List คือ คนไทยยังสามารถเดินทางเข้าประเทศได้

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง ผู้ที่ฉีดวัคซีน Sinovac เข้าประเทศ EU ไม่ได้จริงหรือ? โดยระบุข้อความว่า

จากกรณีมีเพจหนึ่ง อ้างอิงข้อมูลจาก New York Times ว่า EU หรือประเทศในทวีปยุโรป 27 ประเทศ จะอนุญาตให้ผู้ได้รับวัคซีนเข้าประเทศได้ แต่ไม่มีวัคซีน Sinovac เพราะยังไม่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ทำให้ผู้อ่านจำนวนมากสรุปว่า คนที่ฉีด Sinovac จะไม่สามารถเข้าประเทศในกลุ่ม EU ได้

ซึ่งหากลองดูตัวข่าวจาก New York Times จะพบว่า ร่างมาตรการของ EU นี้มีรายละเอียดว่าจะอนุญาตให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนที่รับรองโดย WHO เข้าประเทศได้จริง ซึ่ง Astra Zeneca อยู่ในรายชื่อวัคซีนที่รับรองโดย WHO ดังนั้นผู้ที่ฉีดวัคซีนนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร

ดังนั้น คำถามสำคัญคือ ผู้ที่ฉีด Sinovac จะเข้า EU ไม่ได้จริงหรือ?

สิ่งที่ข้อมูลจากเพจนี้บอกไม่หมดก็คือ การฉีดวัคซีนไม่ใช่เงื่อนไขเดียวในการเข้า EU แต่มีอีกหนึ่งเงื่อนไข นั่นก็คือ การมาจากประเทศที่ “ปลอดภัย” จากโควิด

ซึ่งเงื่อนไขของการอยู่ใน Safe List นี้ก็คือ จะต้องมีอัตราส่วนของยอดผู้ติดเชื้อรวมกันในรอบ 14 วันที่ผ่านมา ต่ำกว่า 75 คนต่อแสนประชากร (ซึ่งถ้าประกาศใช้จริงๆ คงจะวุ่นวายน่าดู เพราะจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา) ซึ่งจะได้รับอนุญาตให้เข้า EU สำหรับ Nonessential Reasons เช่นกัน (คือการเดินทางที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน) เช่นการท่องเที่ยว หรือทำธุรกิจ

คำถามต่อมาคือ ถ้ามีการประกาศมาตรการนี้จริงๆ ไทยจะอยู่ใน Safe List หรือไม่?

อันนี้ก็คงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ณ วันที่ประกาศมาตรการ แต่สมมติว่าเรามีผู้ติดเชื้อ 2,000 คนต่อวัน ต่อเนื่องกัน 14 วัน (อันนี้ขอไม่รวมคลัสเตอร์คุกก่อนละกันนะครับ) ก็จะมียอดรวม 28,000 คน ซึ่งประเทศไทยมีประชากร 70 ล้านคน หากคิดออกมา 28,000 ต่อ 70,000,000 ก็ได้ได้สัดส่วนอยู่ที่ 40 ต่อแสนประชากร ยังห่างจากเกณฑ์เกือบครึ่ง หรือถ้าเราจะให้ถึงเกณฑ์ 75 ต่อแสน เราต้องติดเชื้อรวม 14 วันอยู่ที่ 52,500 หรือวันละ 3,750 ต่อเนื่องกัน 14 วัน ดังนั้น จึงน่าจะค่อนข้างแน่ว่าเราจะอยู่ใน Safe List ของ EU ตามเงื่อนไขนี้ ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนอะไร หรือไม่ฉีดก็ตาม

และเพื่อให้แน่ใจอีกชั้น ผมจึงได้สอบถามจากทางกรมการกงสุลแล้ว ได้รับคำตอบว่า ณ ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ใน Safe List คือคนไทยยังสามารถเดินทางเข้าประเทศได้ และกฎเกณฑ์ของ EU ที่เป็นข่าวนี้ ยังเป็นเพียงข้อเสนอแนะเท่านั้น ยังไม่รู้ว่าจะออกมาจริงหรือไม่ และเมื่อไหร่

อ้อ แล้ว Sinovac ไม่ใช่ WHO พิจารณาว่าไม่รับรองนะครับ แต่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งส่วนตัวผมเชื่อว่าน่าจะผ่านการรับรอง เพราะผลของคณะที่ปรึกษาที่ทำการประเมินบอกว่า มีความมั่นใจในประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการป้องกันการเจ็บป่วยหนักหรือเสียชีวิต

และเอาจริงๆ คนไทยส่วนใหญ่ที่จองคิวผ่านหมอพร้อม และจะฉีดในเดือน มิ.ย.นี้เป็นต้นไป ก็จะเป็นวัคซีนของ Astra-Zeneca อยู่แล้วครับ

ดังนั้น ท่านใดจะต้องเดินทางไปในประเทศ EU ก็คงพอจะสบายใจกันได้ครับ

ปล. จริงๆ มีอีกเงื่อนไขหนึ่งนะครับในมาตรการนี้ คือ ไม่จำเป็นต้องเป็นวัคซีนที่ WHO รับรองก็ได้ แต่เป็นวัคซีนที่ประเทศนั้นๆรับรอง ซึ่งประเทศในยุโรปที่ใช้ Sinovac ก็คือตุรกี ดังนั้นคนฉีด Sinovac ในประเทศที่ต้องขอวีซ่า ก็เข้าได้ ณ ตอนนี้ครับ (สำหรับไทย ตุรกีไม่ต้องขอวีซ่า ขอบคุณผู้ให้ข้อมูลครับ)

ปล 2 ซึ่งมาตรการนี้จริงๆ ก็ยังไม่รู้ว่าจะออกมาได้หรือไม่ เพราะเกณฑ์ 75 ต่อแสนประชากรนี่ มีแค่ 3 ประเทศเท่านั้นในยุโรป คือ ฟินแลนด์ มอลตา และโปรตุเกส ที่ผ่านเกณฑ์ ที่เหลืออีก 24 ประเทศเกินหมด!

ผู้ที่ฉีดวัคซีน Sinovac เข้าประเทศ EU ไม่ได้จริงหรือ?
.
จากกรณีมีเพจหนึ่ง อ้างอิงข้อมูลจาก New York Times ว่า EU...โพสต์โดย Warat Karuchit เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม 2021



กำลังโหลดความคิดเห็น