คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบการให้วัคซีนซิโนแวคในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มอบ อย.ดำเนินการแก้ไข พร้อมออกอนุบัญญัติการเปรียบเทียบปรับกรณีไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าออกนอกเคหสถาน กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคเอกชนเร่งรัดฉีดวัคซีนแรงงานระบบประกันสังคม 16 ล้านคน เพิ่มจุดบริการฉีด 382 แห่งทั่วประเทศ
วันนี้ (7 พ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2564 โดยมี นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลาโหม มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ ต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ UHOSNET โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ ร่วมการประชุมและประชุมทางไกล
นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วกว่า 1.6 ล้านโดส ในเดือนพฤษภาคมนี้ มีวัคซีนของซิโนแวคเข้ามาจำนวนมากรวม 3.5 ล้านโดส และกระทรวงสาธารณสุขกำลังจัดหาเพิ่มให้ได้อย่างน้อย 100 ล้านโดส โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการให้บริการวัคซีน เพื่อเพิ่มความครอบคลุมการให้วัคซีนโดยเร็วที่สุด มีเป้าหมายการให้วัคซีนแก่บุคคลที่อยู่ในประเทศไทยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรวม 50 ล้านคน ภายในเดือนธันวาคม 2564
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมี 3 ประเด็นสำคัญต่อการควบคุมโรคโควิด-19 คือ 1. กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเครือข่ายภาคเอกชน ดูแลวัยทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่อยู่ในระบบประกันสังคมจำนวนกว่า 16 ล้านคน โดยภาคเอกชนจะสนับสนุนการจัดบริการฉีดวัคซีน เช่น เพิ่มจุดให้บริการฉีดวัคซีนที่ได้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขใน กทม. 82 แห่ง และต่างจังหวัด 300 แห่ง โดยมีบุคลากรภาคเอกชนมาร่วมดำเนินการด้วย ซึ่งเพิ่มจากระบบบริการที่เตรียมไว้แล้ว
2. เห็นชอบในหลักการแนวทางปฏิบัติการให้วัคซีนซิโนแวคในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งมีการวิจัยที่ประเทศจีน ว่า การฉีดวัคซีนซิโนแวคในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีสุขภาพดี พบว่า มีความปลอดภัยและกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี โดยมอบสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการด้านกฎหมายต่อไปหากไม่มีข้อขัดข้องใดๆ และ 3. การออกกฎหมายลูก (อนุบัญญัติ) ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 คือ ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบปรับ กรณีไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อออกนอกเคหสถานซึ่งมีความปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อและรับเชื้อ ซึ่งจะปรับเกณฑ์การปรับโดยมีการพิจารณาอนุโลม ยกเว้นหรือลดค่าปรับตามความเหมาะสม เพื่อมิให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายกับประชาชนจนเกินไปในยุคโควิดที่ลำบากอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังออกประกาศแต่งตั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเพิ่มเติม ได้แก่ ข้าราชการสังกัดกรมราชทัณฑ์ตามตำแหน่งที่กำหนด และข้าราชการตำรวจสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
“นอกจากการให้วัคซีนแก่ประชาชนคนไทยและการใช้กฎหมายในการควบคุมโรคแล้ว เครื่องมือสำคัญที่ทุกคนสามารถทำได้ คือ มาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล ทั้งการเว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ สแกนไทยชนะ ยังเป็นมาตรการหลักในการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อโรคโควิด-19” นายอนุทิน กล่าว