นายกฯ แจงภาพใหญ่คุมโควิด ชี้ตัดสินใจเร็ว-บูรณาการทำงานอาวุธสำคัญผ่านสถานการณ์เลวร้ายที่สุดได้ ย้ำวัคซีนต้องเพียงพอคนไทยทุกคน สั่งจัดหาถึง 150 ล้านโดสสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ ชี้ทั่วโลกยันฉีดดีกว่าไม่ฉีด คาด ก.ค.ฉีดครึ่งประเทศ
วันนี้ (7 พ.ค.) เมื่อเวลา 14.40 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในรายการ PM PODCAST นายกรัฐมนตรีเล่าเรื่อง ผ่านเพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้า ถึงการเดินหน้าแก้ปัญหาโควิด-19 ว่า ในช่วงเวลาที่เรากำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ที่มีความเลวร้ายที่สุด เมื่อวันก่อนตนได้สั่งการ มีการดำเนินการ และออกมาตรการต่างๆ ทันทีหลายเรื่อง ทั้งที่เกี่ยวกับสาธารณสุขและที่เกี่ยวกับปากท้องพี่น้องประชาชน วันนี้ตนอยากจะพูดกับท่านอีกครั้งในเรื่องของการตัดสินใจในภาพใหญ่ในบางเรื่อง ในการเดินหน้าจัดการสถานการณ์โควิดในประเทศไทย ตนคิดว่าการตัดสินใจที่เร็วและการทำงานแบบรวดเร็วบูรณาการคืออาวุธที่สำคัญที่สุดของเราในการต่อสู้กับโควิด ดังนั้น เพื่ออำนวยต่อการตัดสินใจที่รวดเร็วขึ้นและมีการปฏิบัติอย่างรวดเร็ว สัปดาห์ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบในการโอนอำนาจตามกฎหมาย 31 ฉบับมาที่นายกรัฐมนตรี ทำให้ตนสามารถออกคำสั่ง อนุญาต อนุมัติ สั่งการ แก้ไขสถานการณ์โควิดได้โดยตรง เพื่อให้การจัดการและแก้ไขสถานการณ์เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งทั้งนี้ต้องคำนึงถึงกฎหมายของหน่วยงานเขาด้วยที่มีกฎหมายหลัก กฎหมายรองอยู่ ก็ต้องใช้กฎหมายเหล่านั้นให้ถูกต้อง
นายกฯ กล่าวว่า ตนขอขอบคุณทุกกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานร่วมกันเป็นอย่างดีมาตลอด ขอขอบคุณที่เห็นพ้องต้องกันว่าแนวทางนี้จะช่วยให้เรารับมือและผ่านพ้นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนไปได้ สถานการณ์ทั่วโลกตอนนี้มีจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นพุ่งสูงมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดมา ก็เหมือนกับที่ประเทศไทยประสบอยู่ ในกรณีคลัสเตอร์คลองเตยตนได้ติดตามใกล้ชิดเป็นพิเศษ และได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังในการควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยได้ใช้ประสบการณ์จากการจัดการในจังหวัดสมุทรสาครได้สำเร็จมาปรับใช้ โดยใช้โมเดลตรวจเชื้อ ติดต่อ คัดกรอง แยกตัว ส่งต่อ และรักษา โดยเน้นไปที่การตรวจเชิงรุกที่ระดมตรวจกลุ่มเสี่ยงในชุมชนที่มีการติดเชื้อให้ได้อย่างน้อย 1,000 คนต่อวัน มีหน่วยเคลื่อนที่และรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทานเพิ่มมากขึ้น โดยจะตรวจเชิงรุกให้ได้อย่างน้อยทั้งหมด 20,000 คน จากนั้นจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปทันที คือการแยกผู้ป่วยตามระดับอาการ ส่งตัวเข้าสถานพยาบาลแรกรักเพื่อเข้ารักษาตัวต่อ จะเป็นการจำกัดวงแพร่ระบาดให้เป็นวงเล็กที่สุด และขณะเวลาเดียวกันจะระดมการฉีดวัคซีนโควิด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งแนวทางนี้พิสูจน์ว่าประสบผลสำเร็จมาแล้วจากกรณีจังหวัดสมุทรสาคร
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ล่าสุดตนได้รับรายงานว่ากระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงคมนาคม และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้จัดพื้นที่ตรวจเชิงรุกให้ชาวชุมชนคลองเตยได้อีกถึง 700 คนต่อวัน ส่วนคลัสเตอร์อื่นๆ ก็จะเร่งตรวจเชิงรุกให้ได้มากที่สุดควบคู่กับการฉีดวัคซีน อีกประเด็นหนึ่งที่ตนสั่งการให้แก้ปัญหาคือการสำรองเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งในขณะนี้ยังมีเพียงพอแต่เราไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ ต้องมีการขยายเพิ่มเพื่อรองรับผู้ป่วยอาการหนักในกรณีฉุกเฉิน เมื่อต้นสัปดาห์นี้ได้มีการเปิดโรงพยาบาลสนาม ที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ เพื่อเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักอีก 432 เตียง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังจะมีแผนดูแลผู้ป่วยอาการหนักที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในการอำนวยความสะดวกให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึง โดยหลักการที่ตนเน้นย้ำเป็นหัวใจของการจัดการสถานการณ์ทุกอย่างก็คือ เราต้องทำทุกทางเพื่อลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด
นายกฯ กล่าวว่า ส่วนเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ใช้ในการรักษาแม้จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเราได้มีการสำรองไว้อย่างเพียงพอ โดยยังมีเหลือในสต๊อกที่ 1,500,000 เม็ด ปัจจุบันได้กระจายไปยังทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศและยังได้รับเพิ่มเติมอีก 3 ล้านเม็ดในเดือน พ.ค. เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องกลัวว่าเราจะไม่มียาเพียงพอ สำหรับยาอื่นๆ นั้น ได้ให้กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้พิจารณาถึงประสิทธิภาพความปลอดภัย ความจำเป็น และประโยชน์ในการใช้งานอยู่ด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้การจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจสำคัญ และมีโครงสร้างการบริหารงานที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นจะต้องมีศูนย์เพื่อการบูรณาการการจัดการทรัพยากรของหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การสนับสนุน กทม.อย่างเต็มที่ เพื่อให้ควบคุมและแก้ไขสถานการณ์ได้โดยเร็ว ตนจึงได้ตั้งศูนย์บริบูรณาการแก้ไขโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลขึ้น ทั้งนี้ เพื่อบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ให้แก้ไขปัญหาได้อย่างเร่งด่วน โดยตนจะเป็นผู้อำนวยการศูนย์นี้อีก และมีหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในพื้นที่เป็นกรรมการ นอกจากนั้นการดำเนินการของศูนย์นี้จะยังสามารถเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาของจังหวัดอื่นๆ ต่อไปด้วย
นอกจากนั้น เพื่อให้การจัดการสถานการณ์โควิดในภาพรวมให้เป็นไปได้ดีมากยิ่งขึ้น ตนก็ได้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยมี รมว.และ รมช.สาธารณสุขเป็นที่ปรึกษา มีเลขาฯ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธาน และมีหัวหน้าหน่วยงานด้านสาธารณสุข มหาดไทย กลาโหม เป็นกรรมการ เพื่อให้เกิดการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขและหน่วยงานฝ่ายปกครองบูรณาการทั้งด้านบุคลากร และทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม การตรวจคัดกรอง ควบคุมพื้นที่และอื่นๆ ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยทั้ง 2 คณะและ ศบค.ทุกชุดจะมีคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 คอยให้คำปรึกษา ซึ่งมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน รวมทั้งมีอาจารย์แพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่นๆ เป็นกรรมการ เพื่อให้ข้อเสนอแนะตามหลักวิชาการสาธารณสุข และสามารถเชื่อมประสานกับโรงพยาบาลต่างๆ ได้อย่างดีอีกด้วย
นายกฯ กล่าวว่า เมื่อเราพิจารณาสถานการณ์ในภาพรวมที่เกิดขึ้นทั่วโลกเตือนให้เราเห็นว่าการระบาดของโควิด-19 ไม่น่าจะหายไปจากโลกนี้ได้โดยเร็ว เราต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตตั้งแต่ตอนนี้ สิ่งที่เราต้องทำเรื่องแรกคือเราต้องเพิ่มจำนวนวัคซีนในมือของเราให้มากกว่านี้ วันนี้ตนสั่งการไปแล้วว่าประเทศไทยควรหาวัคซีนเพิ่มเติมให้เรามีถึง 150 ล้านโดสให้ได้หรือมากกว่านั้น แม้ว่าบางส่วนอาจจะส่งมอบให้เราในปีหน้าก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมการรับความเสี่ยงเรื่องวัคซีนต่อไป ปัจจุบันเราได้ตั้งเป้าไว้เดิมจัดซื้อวัคซีน 100 ล้านโดส เพื่อให้เพียงพอสำหรับฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคน โดยหวังว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในประเทศได้ แต่ตนก็คิดว่าเท่านั้นยังไม่พอ เพราะทุกวันนี้ถ้าเราฟังจากสถานการณ์ทั่วโลกก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จากไวรัสตัวนี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ และจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ตนก็ยังมีความกังวลในเรื่องนี้ ระยะต่อไปคงต้องมีแผนสำรองตลอดเวลา แต่วันนี้เราก็ได้รับคำยืนยันแล้วจากทั่วโลกว่าฉีดดีกว่าไม่ฉีด และฉีดเข็มเดียวก็ดีกว่าไม่ฉีด ดังนั้นเราควรจะต้องมีวัคซีนให้เพียงพอสำหรับคนไทยทุกคน ซึ่งประเทศเรามีประชากรผู้ใหญ่อยู่ประมาณ 60 ล้านคน เท่ากับว่าเราจะต้องมีวัคซีนอย่างน้อย 120 ล้านโดส
นายกฯ กล่าวว่า เราต้องคำนึงถึงแรงงานอื่นๆ ที่อยู่ในภาคธุรกิจของเรา นอกจากนั้นเราจะต้องมีวัคซีนเผื่อไว้เพียงพอสำหรับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอื่นๆ ด้วย อาจจะต้องถึง 150-200 ล้านโดสในระยะต่อไป แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงอายุการใช้งานของวัคซีนและสถานการณ์ในปีหน้าด้วย
นายกฯ กล่าวว่า คำถามที่ถามว่าเมื่อฉีดวัคซีนว่าครบโดสแล้วประสิทธิภาพของวัคซีนจะคงอยู่ได้นานเท่าไหร่ และเราจำเป็นที่จะต้องฉีดเข็มที่สามอีกหรือไม่ เรื่องนี้ก็ต้องติดตามและเตรียมการไว้ล่วงหน้าโดยติดตามจากข้อมูลหลายประเทศที่กำลังพิจารณาอยู่ขณะนี้ รวมถึงยังไม่นับในเรื่องกลายพันธุ์ของไวรัสที่สร้างความวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา เราก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด ทั้งนี้เราก็ต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของการส่งมอบวัคซีนที่ส่งมอบไม่ครบตามจำนวน และการส่งมอบล่าช้า ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกคาดการณ์ว่าในช่วงเวลานี้อาจจะได้รับการส่งมอบวัคซีนในจำนวนที่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่สั่งไป แต่เรายังโชคดีที่ยังมีการผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทย เราควรจะต้องเตรียมการเผื่อไว้สำหรับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่างๆ เหล่านี้ ตนคิดว่ามีให้เกินไว้ดีกว่าขาด มีแผนหลัก แผนรอง แผนเผชิญเหตุตามสถานการณ์ที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องที่สอง ตนได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานทำงานเชิงรุกให้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้การเจรจาสั่งซื้อวัคซีนของเรามีความคืบหน้าที่เร็วกว่านี้ ให้มีการเจรจากับผู้ผลิตหลายรายเพื่อเพิ่มโอกาสในการได้วัคซีนเพิ่มขึ้น เราได้มีการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนถึง 7 ราย และจะมีการเจรจาเพิ่มเติมอีกรวมถึงวัคซีนใหม่ๆ จากผู้ผลิตรายใหม่ด้วย โดยต้องเป็นไปตามขั้นตอนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่จะต้องพิจารณาให้รวดเร็วขึ้น ในขณะที่ทั้งโลกพยายามแย่งซื้อวัคซีนให้ประเทศของตัวเอง แต่มันก็ไม่ง่ายนักเพราะมันขึ้นอยู่กับสิทธิบัตรของผู้ผลิต ขีดความสามารถและรัฐบาลของเขาที่จะอนุมัติให้ส่งออก ทำให้การจัดหาและจัดซื้อวัคซีนเป็นเรื่องที่ยากลำบากพอสมควร แต่เราก็ต้องพยายามหาทางทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้รับการยืนยันว่าเราจะได้วัคซีนเพิ่ม 3,500,000 โดส และจะมีการส่งมอบให้ประเทศไทยในเดือนนี้ ตรงนี้ถือเป็นจำนวนที่เพิ่มเติมขึ้นจากยอดเดิมที่เราได้ดำเนินการไว้เพื่อใช้ในเดือน พ.ค. จากจำนวนที่ได้รับการยืนยันมาก่อนหน้านี้ ขอขอบคุณกระทรวงสาธารณสุข ทุกกระทรวง และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ช่วยดำเนินการอย่างรวดเร็ว ซึ่งเรื่องนี้ก็ผ่านช่องทางของกระทรวงการต่างประเทศโดยรัฐบาลด้วย
นายกฯ กล่าวว่า การตัดสินใจในภาพใหญ่เรื่องที่สามคือ เรื่องการปรับแนวทางการฉีดวัคซีนซึ่งจะมีการเร่งเครื่องการฉีดวัคซีนเข็มแรกหลังจากการหารืออย่างเข้มข้นจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และสาธารณสุข เราก็ต้องปรับมาให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากทางการแพทย์มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่าหลังจากที่ได้รับการฉีดวัคซีนแม้แต่เพียงเข็มแรกก็จะสามารถช่วยลดโอกาสในการรับเชื้อลดความรุนแรงของอาการและลดโอกาสในการเสียชีวิตไปได้อย่างมาก ถึงแม้จะมีผลข้างเคียงอยู่บ้างก็จะดำเนินการแก้ไขต่อไป
“เมื่อพวกเรารู้อย่างนี้แล้วเราควรจะต้องร่วมมือกัน ช่วยกัน เร่งเครื่อง เดินหน้าให้เร็ว ปูพรมฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ได้จำนวนมากที่สุดให้แก่ประชาชน โดยประมาณเดือนกรกฎาคมนี้ผมคาดการณ์ว่าเราควรจะมี ประชากรผู้ใหญ่จำนวนครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศที่จะได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว และได้รับการปกป้องจากอันตรายของโควิด-19 ในระดับที่มากพอสมควร จากที่ผ่านมาจนถึงวันนี้และวันต่อๆ ไปเราจะเร่งรัดในเรื่องของวัคซีนซึ่งได้จัดหามาทั้งในส่วนพิเศษ และของเดิม ให้เพิ่มมากขึ้นในทุกพื้นที่และทุกกลุ่มกิจกรรมตามลำดับในเรื่องของความเสี่ยง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
โดยช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “เมื่อตอนที่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ครั้งแรกด้วยการร่วมแรงร่วมใจของคนไทยทุกคน ความพร้อมใจในการลงมือทำทุกอย่างอย่างเข้มแข็งทันที ทั้งการทำงานและการร่วมมือกันทั้งประเทศ ช่วยทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่คนไทยต้องเสียชีวิตเป็นหมื่นเป็นแสนรายเหมือนที่ประเทศชั้นนำของโลกหลายประเทศต้องเจอ ในวันนี้สถานการณ์ปัจจุบันรัฐบาลจึงจำเป็นจะต้องดำเนินการต่างๆ อย่างรวดเร็ว เด็ดขาด ขอขอบคุณประชาชนคนไทยที่รักทุกคน”