xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กเล็ก” แจงนั่ง ปธ.เฉพาะกิจฯเพื่อประสาน ตั้งเป้า กทม.ฉีดวัคซีนวันละ 6 หมื่น เข้มสกัดสายพันธุ์บราซิล-แอฟริกา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (แฟ้มภาพ)
เลขา สมช. แจงนั่ง ปธ.เฉพาะกิจฯ ไม่ซ้ำซ้อนก้าวล่วง ประสานบูรณาการไม่ใช่แค่ สธ. แบ่งโครงสร้าง 50 เขต แก้โควิด กทม. เข้มสกัดสายพันธุ์บราซิล-แอฟริกา รอประเมินเปิดภูเก็ตเที่ยว ไม่เสียเวลา “แม้ว” กุข่าว ตั้งเป้า กทม.ฉีดวัคซีนวันละ 6 หมื่นคน

วันนี้ (6 พ.ค.) พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค.และประธานกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวภายหลังได้รับการแต่งตั้งจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ว่า นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยและต้องการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จึงต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมานั้น เพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อประสานการทำงานให้สอดคล้องไม่ซ้ำซ้อนกัน ยืนยันว่าตนเองแม้ว่าจะอยู่ร่วมคณะกรรมการทุกชุด แต่ไม่สามารถก้าวล่วงการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่การแต่งตั้งเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่เข้ามารองรับในการดำเนินการ

ส่วนคำถามที่ว่าเหตุใดนายกฯ จึงตั้งทหารเข้ามาสู้รบกับโควิด แทนที่จะเป็นแพทย์นั้น พลเอก ณัฐพล กล่าวว่า ใน ศบค. มีหลายหน่วยงานทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานวิจัย และ กองบัญชาการกองทัพไทย ซึ่งมีหลายหน่วยงาน ไม่ใช่แค่สาธารณสุขอย่างเดียว ซึ่งงานด้านสาธารณสุขก็มีความจำเป็นที่แพทย์รับผิดชอบอยู่แล้วแต่ยังมีงานด้านอื่นที่ต้องบูรณาการเพื่อให้ประสานสอดคล้องกัน ไม่ว่าจะเป็นทหารหรือหน่วยงานใดก็ตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล จากนายกรัฐมนตรีให้เข้ามาช่วยเหลือหมอพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ หากไม่มีหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วย หมอและพยาบาลก็จะต้องมาทำหน้าที่ประสานงานด้วยตัวเอง ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่ทหารและหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยนั้นเป็นแค่การประสานความร่วมมือแต่หน้าที่ของการรักษาผู้ป่วยยังคงเป็นแพทย์และพยาบาลบุคลากรทางการแพทย์เช่นเดิม

ผอ.ศปก.ศบค.กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในชุมชนต่างๆ ใน กทม. ว่า ขณะนี้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลโดยเฉพาะพื้นที่ กทม.และปริมณฑล โดยได้มีการแบ่งโครงสร้างลงไปอย่างทั่วถึงครบ 50 เขต เพื่อประสานการทำงานทุกเขตให้เป็นไปอย่างสอดคล้องกัน โดยให้แต่ละเขตบริหารจัดการพื้นที่ของตนเองให้เกิดประสิทธิภาพ

ทางนี้มีการประเมินสถานการณ์ในอีก 7-14 วันข้างหน้า ศบค.จะรับฟังการวิเคราะห์และข้อเสนอแนะของกระทรวงสาธารณสุข ว่า ในแต่ละช่วงมีสาเหตุของการแพร่ระบาดจากสาเหตุใด โดย พลเอก ประยุทธ์ สั่งกำชับให้ ศบค. พิจารณาอย่างรอบคอบในการจะออกมาตรการใดออกมาเพื่อพยายามให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน หรือกระทบประชาชนให้น้อยที่สุด ซึ่งการล็อกดาวน์ หรือ เคอร์ฟิว จะเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะออกมาแต่ขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดที่จะประกาศใช้

นอกจากนี้ ในส่วนของความกังวลที่หลายฝ่ายเป็นห่วงการดูแลผู้ป่วยเด็กเล็กที่ติดเชื้อในโรงพยาบาล โดยปัจจุบันเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการบูรณาการแก้ไขปัญหาโควิด ได้มีการแต่งตั้งปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือ พม.เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องนี้คาดว่าจะช่วยคลี่คลายปัญหาการดูแลผู้ป่วยเด็กเล็กให้เรียบร้อยในเร็วๆ นี้

ส่วนข้อกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์บราซิลและแอฟริกาที่อาจแพร่ระบาดเข้ามาตามแนวชายแดนหรือสถานกักกันนั้น พลเอกณัฐพล เปิดเผยว่านายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำฝ่ายความมั่นคงทั้งกองบัญชาการกองทัพไทยกระทรวงมหาดไทยให้เฝ้าระวังตามแนวชายแดนให้เข้มงวดไม่ให้มีการลักลอบเข้าประเทศยังผิดกฎหมาย หรือแม้มีการเข้ามาอย่างถูกกฎหมายก็ตามก็ต้องมีการเข้มงวดเรื่องการตรวจคัดกรองโควิด 19 และนำตัวไปอยู่ในสถานกักกัน และผู้ที่เข้ามาจากต่างประเทศก็ต้องมีการปรับตัวรวมถึงมีมาตรการติดตามหลังจากออกจาก state quarantine แล้วโดยขอความร่วมมือหลีกเลี่ยงที่จะสัมผัสกับบุคคลอื่นอย่างน้อย 14 วันเพื่อความปลอดภัยและรอบคอบในการป้องกันการติดเชื้อต่อไป

สำหรับแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่จะเริ่มโครงการภูเก็ตแซนบ็อกซ์ ตามกำหนดเดิมที่จะเปิด 1 กรกฎาคมนั้น เป็นไปได้หรือไม่ โดย ศบค.จะพยายามให้เป็นไปตามกำหนดเดิม แต่ทั้งนี้ ก็ต้องรอดูการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดจากกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง ซึ่งจะต้องเร่งทยอยนำวัคซีนกระจายฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่การแพร่ระบาดรวมถึงพื้นที่เศรษฐกิจการท่องเที่ยวก็จะต้องเร่งฉีดให้สามารถพื้นที่เศรษฐกิจมีความพร้อมที่จะเปิดตามกำหนดได้ เช่น ที่ ภูเก็ต, สมุย, พัทยา

ส่วนกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และฝ่ายการเมือง ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนไฟเซอร์ ว่า ได้ถูกนำเข้ามาในไทยแล้วนั้นซึ่งทั้งอย.และบริษัทไฟเซอร์เองก็ออกมายืนยันว่าไม่เป็นความจริง ในเรื่องนี้ศบค.จะดำเนินการอย่างไร พลเอกณัฐพล ระบุว่า เราจะไม่เสียเวลากับข่าวที่ไม่เป็นความจริงพยายามสร้างการรับรู้ข้อมูลที่แท้จริงให้กับประชาชน

โดย ศบค.โดยให้โฆษก ศบค.ซึ่งเป็นคณะแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัคซีนในกระทรวงสาธารณสุข มาแถลงให้ข้อมูลที่ถูกต้องออกมายืนยันให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ซึ่ง ศบค.พยายามสร้างการรับรู้ข้อเท็จจริงให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการฉีดวัคซีนในชุมชนคลองเตย พบว่า มีหัวคะแนนทางการเมืองเข้ามามีส่วนการจัดคิวและจองคิวพิเศษการฉีดวัคซีนให้กับคนในชุมชนคลองเตยบางกลุ่มนั้นทาง ศบค.มีแนวทางเข้ามาดูแลจัดระบบให้เกิดความเหมาะสมอย่างไร โดย พลเอก ณัฐพล กล่าวว่า ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ในพื้นที่แล้วได้รับการชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง แต่ได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบอย่างใกล้ชิดแล้วเพื่อให้การฉีดวัคซีนกับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมาก่อนเป็นอันดับแรก แต่หากยังพบว่ามีการกระทำในลักษณะนั้นจะให้ฝ่ายความมั่นคงลงไปดำเนินการเบื้องต้นได้แจ้งไปยังหน่วยงานสาธารณสุขและสำนักงานเขตในพื้นที่ดูแลในเรื่องนี้แล้ว

ทั้งนี้ ได้ให้โจทก์ไปกับกรุงเทพมหานคร ว่า ภายใน 4 เดือน หลังจากนี้ จะต้องเร่งบริหารจุดฉีดวัคซีนให้ได้วันละ 60,000 คน ซึ่งทางกทมต้องบริหารจัดการลงไปในแต่ละเขตให้ได้ตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี มีข้อห่วงใยทั้งสื่อมวลชนและประชาชนทุกกลุ่มอย่างมาก เนื่องจากมีการติดเชื้อแพร่ระบาดจากที่ทำงานและนำมาติดภายในครอบครัวฝากให้ประชาชนต้องระมัดระวัง เข้มงวดมาตรการด้านสาธารณสุขสวมหน้ากากล้างมือและเว้นระยะห่าง โดยคาดว่าปลายพฤษภาคมนี้หรือต้นเดือนมิถุนายนจะมีวัคซีนเข้ามาจำนวนมากและเร่งกระจายฉีดวัคซีนในพื้นที่ระบาดหรือพื้นที่สีแดงเข้มก่อนเป็นอันดับแรกให้ทั่วถึงและครบถ้วน


กำลังโหลดความคิดเห็น