รัฐบาล แจง 3 แนวทางฝ่าวิกฤตโควิด สธ.คาด 1 เดือน ไร้มาตรการรองรับ ผู้ติดเชื้อพุ่งสูง 2 หมื่นต่อวัน ยันบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยพอ ย้ำ มิ.ย.วัคซีนถึงไทย 10 ล.โดส ฉีดคนไทยครบ นายกฯ ห่วงระบาดไม่หยุด เตรียมประชุมออกมาตรการขั้นสูงสุดพรุ่งนี้
วันนี้ (15 เม.ย.) สำนักโฆษกสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า รัฐบาลขอชี้แจงการบริหารสถานการณ์โควิด 3 เรื่องสำคัญ คือ 1. สาธารณสุข ยืนยันวัคซีนโควิดที่ไทยใช้มีประสิทธิภาพสูง และความปลอดภัย ประชาชนสามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันและเพิ่มภูมิคุ้มกันของตัวเองได้ ข้อมูลทางระบาดวิทยาและข้อมูลทางวิชาการยืนยันว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ไทยนำมาใช้ในทั้งแอสตร้าเซนเนก้า และซิโนแวค เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ มีการฉีดวัคซีนสะสมรวม 579,305 โดส หรือเข็ม มีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 505,744 คน ในทุกจังหวัดตามเป้าหมาย โดยขณะนี้ยังมีการจัดหาวัคซีนซิโนแวคอีก 1 ล้านโดส ซึ่งอยู่ในประเทศไทยแล้ว รอการตรวจทางห้องปฏิบัติการและเอกสาร จะมีการส่งมอบให้กรมควบคุมโรคต่อไป สำหรับวัคซีนหลักที่จะมาถึงไทยในเดือนมิ.ย.ประมาณเดือนละ 6-10 ล้านโดส สามารถจะฉีดให้กับประชาชนได้อย่างครบถ้วน
ทั้งนี้ 2. สถานการณ์โควิด-19 ในไทย ขณะนี้เชื่อมโยงกับสถานบันเทิงและนำไปสู่การแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่เพื่อนฝูงและชุมชน จำเป็นต้องลดการเคลื่อนที่ของบุคคล ปิดสถานที่เสี่ยง งดกิจกรรมการรวมกลุ่ม โดยสาธารณสุขคาดการณ์ในอีก 1 เดือนข้างหน้า หากไม่มีมาตรการใดๆ จะมีผู้ป่วยติดเชื้อสูงสุดมากกว่า 20,000 คนต่อวัน กรณีมีมาตรการปิดสถานบันเทิงเสี่ยงในจังหวัด จะมีผู้ป่วยติดเชื้อประมาณ 2,996 คนต่อวัน โดยหากมีการเน้นปรับพฤติกรรมส่วนบุคคล ลดกิจกรรมการรวมตัวกัน เพิ่มมาตรการทำงานที่บ้าน Work From Home สามารถลดผู้ป่วยติดเชื้อจะลดลงมาประมาณ 391 คนต่อวัน
อย่างไรก็ตาม 3. การบริหารจัดการเตียงผู้ป่วย ภาครัฐมีการบริหารจัดการเตียงเพียงพอในการรองรับผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีการจัดเตียงรองรับทั้งจากสถานพยายาลและโรงแรมแบบ Hospitel รวมกว่า6 พันเตียง รวมทั้ง โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม มีการเตรียมโรงพยาบาลภาคสนาม และกรมการแพทย์เตรียมเปิด Hospitel ซึ่งจะรองรับได้อีก 450 เตียง และโรงพยาบาลรามาธิบดีเตรียมเปิด Hospitels อีก 2 แห่ง อีก 100 เตียงสำหรับกรุงเทพฯได้มีการเพิ่มโรงพยาบาลสนาม ที่บางขุนเทียน 500 เตียง ที่บางบอน 200 เตียง และเตรียมเปิดที่บางกอกอารีนา จะรับได้อีก 1,000 เตียง สามารถติดต่อไปที่สายด่วนจัดหาเตียง เบอร์ 1669 สำหรับต่จังหวัดต่างๆ จะเข้าศูนย์การบริหารจัดการ สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 รับสายเวลา 08.00-22.00 น. และสายด่วน สปสช. 1330 ตลอด 24 ชม. หรือผ่าน line แอปพลิเคชัน สบายดีบอต ซึ่งสามารถให้ข้อมูลติดต่อกลับ และจะมีการจัดสรรเตียงที่เหมะสม
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้มีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม จะได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 5/2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 16 เม.ย.นี้ เวลา 13.30 น.
ทั้งนี้ สำหรับการประชุมจะมีการรายงานการประชุม ศบค. ครั้งที่ 4/2564 และรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ ส่วนที่น่าจับตาคือ ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ที่มีพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฯ จะเสนอการยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ในการระบาดระลอกใหม่ในเดือน เม.ย.2564 และแผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ของ ศปก.สธ.
นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.เตรียมจะออกประกาศและคำสั่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประกาศเรื่องการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 11) ประกาศเรื่องการให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ ประกาศเรื่องการให้ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ อีกทั้งจะมีคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ 4/2564 เรื่องแนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ขณะที่กองบัญชาการกองทัพไทยจะเสนอแนะแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามแนวชายแดน.