กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนักท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือ ลดความเสี่ยงผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 สูงเกินมาตรฐาน แนะสวมหน้ากากป้องกัน และเช็กค่าฝุ่นทุกครั้ง พร้อมดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (5 เม.ย.) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในภาพรวมระหว่าง 29 มีนาคม-1 เมษายน 2564 มีแนวโน้มเพิ่มจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพบเกินค่ามาตรฐานในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าระหว่าง 15-402 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงสุดที่ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 3-5 เมษายน 2564 พื้นที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือบางพื้นที่ มีแนวโน้มฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) เนื่องจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้านและในประเทศ ประกอบกับสภาพอากาศ ที่ค่อนข้างนิ่ง ความเร็วลมลดลง แต่หลังจากนั้น ในช่วงวันที่ 4-6 เมษายน 2564 บางพื้นที่จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นทำให้ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 มีแนวโน้มสะสมลดลงทำให้คุณภาพอากาศอยู่ในระดับดีมาก (สีฟ้า) ถึงปานกลาง (สีเหลือง) ได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า นักท่องเที่ยวและประชาชนต้องดูแลป้องกันตนเองอยู่เสมอ ควรตรวจเช็กค่าฝุ่น และติดตามข่าวสารทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน เช่น Air4Thai หรือ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM 2.5” รวมทั้งลด เลี่ยง งดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง แต่หากจำเป็นต้องออกจากบ้านให้สวมหน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่นละออง โดยเลือกหน้ากากให้เหมาะสมกับลักษณะงานหรือกิจกรรมของผู้สวมใส่ มีขนาดที่เหมาะสมกับใบหน้า และหน้ากากต้องได้มาตรฐาน สะอาด ไม่มีกลิ่นผิดปกติหรือฉีกขาด ต้องครอบจมูกและปาก นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ และดูแลตนเองอย่างต่อเนื่อง หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก คลื่นไส้ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้านทันที
“ทั้งนี้ ข้อมูลอนามัยโพลเกี่ยวกับผลกระทบจากฝุ่นละออง PM 2.5 ระหว่างวันที่ 1-31 มีนาคม 2564 พบว่า ร้อยละของผู้ที่มีอาการจากการรับสัมผัส PM 2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ โดยอาการที่พบ มากที่สุดยังคงเป็นอาการมีน้ำมูก ร้อยละ 17.67 รองลงมาคือ แสบจมูก ร้อยละ 15.07 อาการแสบตา/คันตา/ตาแดง ร้อยละ 14.18 อีกทั้งยังพบว่าประชาชนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ถึงร้อยละ 78.51 และมีพฤติกรรมในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพิ่มขึ้น โดยสวมหน้ากากป้องกันฝุ่นถึงร้อยละ 82.07” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว