อว.- สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา นำนักศึกษาที่ได้รับการจ้างงานโครงการ U2T ทำงานกับพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต ”ครูขาบ” บึงกาฬ ชูเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นำจุดเด่นของชุมชนสร้างรายได้ให้ชุมชน “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” รมว.อว. เผยท้องถิ่นจะเข้มแข็งต้องใช้พลัง 3 ประสาน คือ มหาวิทยาลัย ภาคประชาสังคมหรือชุมชน และภาคเอกชน
วันนี้ (5 มี.ค.) ที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต ต.หนองพันทา อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะผู้บริหาร อว.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต ที่ก่อตั้งขึ้นโดย “ครูขาบ” หรือ นายสุทธิพงษ์ สุริยะ เจ้าของรางวัลออสการ์อาหารโลก Gourmand World Awards จำนวน 14 รางวัล ในสาขาต่างๆ ซึ่งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมศิลปะของงานออกแบบร่วมสมัยผสมผสานกับอัตลักษณ์ของชุมชน โดยมีวิถีเกษตรชุมชนเป็นตัวเชื่อม จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่ให้ผู้คนได้มาเจอกันและมีรายได้เกื้อกูลกัน ผ่านการซื้อขายสินค้าเกษตรของชุมชน สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้ชุมชนไม่ต่ำกว่า 1.3 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก และคณะยังได้มาติดตามการทำงานของผู้ได้รับการจ้างงานจาก อว. ผ่านโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศหรือ U2T
ทั้งนี้ หลังการตรวจเยี่ยม ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก ให้สัมภาษณ์ว่า พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ ดำเนินการโดยสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา ให้บัณฑิตจบใหม่ นักศึกษา และชาวบ้าน ร่วมกับเก็บข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลปัญหาและความต้องการของชุมชน โดยมีอาจารย์เป็นพี่เลี้ยง ผู้เข้าร่วมโครงการ U2T ที่เป็นบัณฑิตและนักศึกษาล้วนเป็นผู้มีภูมิลำเนาในพื้นที่ แต่ไปศึกษาในจังหวัดอื่น ได้มีโอกาสกลับมาทำงานในท้องถิ่นเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การที่ผู้รับการจ้างงานได้มาทำงานในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ถือเป็นโอกาสในการได้มาเรียนรู้เพิ่มเติมจากครูขาบในเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่นำจุดเด่นของชุมชนมาสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน นอกเหนือจากการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ปัญหาของพื้นที่ตามภาระงานที่ได้รับมอบหมายในระยะเวลา 1 ปี ตามระยะเวลาโครงการ
รมว.อว.กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า โครงการ U2T เป็นการเปิดโอกาสให้ ชุมชน และพื้นที่ ได้รับการวิเคราะห์ปัญหา พร้อมทั้งการแก้ไขตามความต้องการ โดยมีผู้จ้างงานที่เป็นบัณฑิตนักศึกษา และชาวบ้าน ทำงานร่วมกัน และมีอาจารย์และมหาวิทยาลัยมาเรียนรู้ร่วมกัน นำความรู้ไปตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่พร้อมๆ กับการที่ชุมชนและพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ชีวิตจริงให้แก่อาจารย์และมหาวิทยาลัย ที่สำคัญ สะท้อนให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยต้องการชุมชน หรือพื้นที่ท้องถิ่นเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่สะท้อนถึงความต้องการจริงของชุมชน ความรู้ของมหาวิทยาลัยจะต้องตอบโจทย์ของชุมชนและท้องถิ่นได้ เพราะจังหวัดหรือท้องถิ่นจะเข้มแข็งได้ต้องมีองคาพยพที่เกี่ยวข้อง 3 ส่วน คือ มหาวิทยาลัย ภาคประชาสังคม หรือชุมชน และภาคเอกชน ซึ่งทั้ง 3 ส่วน คือ ผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นจริง ไม่ได้มาแล้วไปเหมือนหน่วยงานราชการจากส่วนกลาง